HoonSmart.com>>โบรกฯส่องกำไรไตรมาส 2/67 กลุ่มธนาคารส่วนใหญ่ปรับลง จากการเติบโตสินเชื่อต่ำลง กำไรจากเงินลงทุนลดลง โดยเฉพาะสินเชื่อเช่าซื้อกลับมาผันผวนอีกครั้งจากการลดลงราคารถยนต์ไฟฟ้า (EV car) ยังกังวลคุณภาพสินทรัพย์ ขาดปัจจัยบวกใหม่ อย่างไรก็ดี เชียร์หุ้นธนาคารขนาดใหญ่ได้แก่ KTB SCB และ BBL ดูปลอดภัยกว่า
บล.ฟินันเซีย ไซรัส ระบุว่า กลุ่มธนาคาร คาดกำไรสุทธิไตรมาส 2 ปี 2567 จำนวน 7 แห่ง ที่ 5.3 หมื่นล้านบาท -3% q-q, +2%% y-y หลักๆ มาจากผลการดำเนิงานหลักชะลอตัว NIM ที่ลดลงต้นทุนดอกเบี้ยจ่ายที่เร่งตัวขึ้น ขณะที่คาดการณ์สินเชื่อหดตัวเล็กน้อย q-q ทรงตัว y-y และกำไรจากเงินลงทุนที่ลดลง โดยคาดกำไรสุทธิของทุกธนาคารปรับลง ยกเว้น TTB กับ TISCO ที่จะปรับขึ้นเล็กน้อย
นอกจากนี้ TTB จะมีผลการดำเนินงานที่ดีสุด และ SCB จะแย่สุดในไตรมาส 2 ปี 2567 ด้านคุณภาพสินทรัพย์ยังเป็นที่กังวลแต่สามารถบริหารจัดการได้ โดยรวมกลุ่มธนาคารยังขาดปัจจัยบวกใหม่ และคาดการเติบโตของกำไรสุทธิในปี 2567 เพียง +1% y-y และปี 2568-2569 เติบโต 5-6% y-y จึงยังให้น้ำหนักลงทุนกลุ่มธนาคารเป็น Underweight เลือก Top Pick เป็น TTB ราคาเป้าหมาย 2.19 บาท
พร้อมแนะนำ”ซื้อ” BBL คาดกำไรสุทธิไตรมาส 2 ปี 2567 ที่ 1 หมื่นล้านบาท -1% q-q, -7% y-y โดยมีปัจจัยถ่วงสาคัญอยู่ที่ธุรกิจหลักที่อ่อนแอ ส่วนมากจากรายได้จากการดำเนินงานทั้ง NII และ Non-NII ที่ลดลง อย่างไรก็ดี ไม่มีความกังวลเกี่ยวกับคุณภาพสินทรัพย์ของ BBL ซึ่งอยู่ในระดับที่จัดการได้จากข้อได้เปรียบในด้าน Coverage ratio ที่อยู่ในระดับสูง จึงยังคงคาดกำไรสุทธิปี 2567-2569 เติบโต 3.7% CAGR แต่ลดราคาเป้าหมายปี 2567 ลงเหลือ 157 บาท เพื่อสะท้อนค่า COE ที่คาดว่าจะสูงขึ้น
บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) ให้น้ำหนักลงทุนกลุ่มธนาคาร “มากกว่าตลาดฯ” ธนาคารต่าง ๆ ยังดําเนินงานแบบระมัดระวังในเดือน เม.ย.-พ.ต. 2567 ด้วยอัตราการเติบโตสินเชื่อต่ำลง(จากการปล่อยสินเชื่อธุรกิจ) ขณะที่ฐานเงินฝากของธนาคารเติบโตขึ้น (KTB และ SCB) และมีการนําเงินฝากส่วนเกินไปปล่อยสินเชื่อในตลาดเงินและตลาดตราสารหนี้ที่มีความเสี่ยงต่ำ สถานะการณ์นี้น่าจะทําให้ธนาคารคงคุณภาพสินทรัพย์และค่าใช้จ่ายสํารองหนี้สูญในระดับที่ดี แต่อย่างไรก็ตาม สถานะความไม่แน่นอนน่าจะเกิดขึ้นจากการปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อเพราะการลดลงของราคารถยนต์ไฟฟ้า (EV car) ทําให้ราคารถยนต์ใช้แล้วลดลงด้วย กรณีนี้น่าจะกดดันต่อผลการดําเนินงานของ TTB KKP และ TISCO ด้วยเหตุปัจจัยล่าสุดและสภาพตลาดยากลําบากนี้ส่งผลให้ธนาคารขนาดใหญ่ได้แก่ KTB SCB และ BBL ดูปลอดภัยกว่า
ทุกธนาคารยังคงนโยบายการเติบโตสินเชื่อแบบระมัดระวังซึ่งทําให้อัตราการเติบโตสินเชื่อลดลง -0.4% MoM และ YTD รวมทั้ง -0.7% QTD นอกจากนั้น สินเชื่อต่ำลงมากที่สุดคือ KTB อยู่ที่ -1.3% MoM และ BBL ที่ -1% MoM ขณะที่ สินเชื่อเติบโตเพียงเล็กน้อยได้แก่ SCB ที่ +0.6% MoM และ TISCO ที่ +0.2% MoM โดยส่วนใหญ่มาจากสินเชื่อธุรกิจ (corporate loan) สําหรับ KTB แนะว่าการชําระหนี้คืนมากขึ้นอีกจากสินเชื่อภาครัฐและสินเชื่อธุรกิจฉุดให้สินเชื่อรวมในเดือนพฤษภาคม 2567 ลดลง
สินเชื่อเช่าซื้อกลับมาผันผวนอีกครั้งจาก การลดลงราคารถยนต์ไฟฟ้า (EV car) หลังจากที่ราคารถยนต์ใช้แล้วอยู่ตัวในช่วงก่อนหน้า ธนาคารต่าง ๆ เผยว่าสถานการณ์กลับมาผันผวนอีกครั้ง จากยอดขายรถในประเทศตกต่ำลงอีกมากกว่า 25% ในเดือนเม.ย. 2567 และ -23.5% YoY ใน 4 เดือนปี 2567 (เทียบกับ -9% ปี 2566) เป็นจุดต่ำสุดใน 32 เดือนของยอดขายเป็นจํานวนคัน ซึ่งไม่ใช่เพียงแต่สภาพเศรษฐกิจแย่เท่านั้นแต่เป็นผลจากการลดลงของราคาขายรถยนต์ EV มาจากผู้ผลิตรถยนต์ EV เองกําลังทําให้ผู้ซื้อรถยนต์เกิดความลังเลที่จะซื้อรถ EV ใหม่ โดยแคมเปญนี้ส่งผลกระทบต่อโครงสร้างราคารถ EV และไม่ใช่ EV และรวมถึงราคารถยนต์ใหม่ และรถมือสอง เพิ่มความเสี่ยงในการลดลงของราคารถยนต์ใช้แล้วและเกิดความเสี่ยงในสินเชื่อ H/P ทั้งนี้ยอดขายรถ EV คิดเป็น 13% ของยอดขายรถยนต์รวมในช่วง 4 เดือนปี 2567
บล.ฟิลลิป (ประเทศไทย) แนะนำ”ซื้อ”หุ้น SCB คาดกำไรไตรมาส 2 ปี 2567 11.4 พันล้านบาท ลดลง 3.7%y-y จากรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยลดลงและค่าใช้จ่ายเพิ่มสูงขึ้น แต่คาดว่าสินเชื่อที่เติบโตจะทำให้รายได้ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น และทำให้กำไรเพิ่มขึ้น 1.3%q-q โดยสินเชื่อเดือนพ.ค. SCB เพิ่มขึ้น 0.6%m-m เป็นธนาคารที่มีสินเชื่อเติบโตสูงที่สุดในเดือนพ.ค.สวนทางกับกลุ่มที่มีสินเชื่อหดตัวลง 0.35%m-m และทำให้สินเชื่อเติบโตจากสิ้นปี 2566 เพิ่มเป็น 0.91%ytd ทำให้ SCB เป็นธนาคารทีมีสินเชื่อเติบโตที่สุดในปี 67 ด้วยจากกลุ่มที่มีสินเชื่อหดตัวจากสิ้นปี 66 ที่ 0.41%ytd
โดยยังคงประมาณการกำไรปี 67 ของ SCB ไว้ที่ 47 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 7%y-y และยังคงราคาพื้นฐานไว้ที่ 122 บาท ยังคงมีส่วนต่างเหลือพอสมควรนอกจากความน่าสนใจจากสินเชื่อเดือนพ.ค.ที่เติบโตที่สุดในกลุ่มแล้ว SCB ยังเป็นธนาคารที่มีปันผลน่าสนใจจากการปรับเพิ่ม payout ratio ขึ้นมา โดยปี 67 คาดว่าจะมีการจ่าย 11.06 บาท/หุ้น คิดเป็น Div.yield สูงถึง 10.4%
บล.กรุงศรี มีมุมมองเป็นกลางต่อ KKP มีมุมมอง Negative ต่อกำไรสุทธิไตรมาส 2 ปี 2567 คาดอยู่ที่ 1.10 พันล้านบาท ลดลงแรง -22% y-y และ -27% q-q เพราะสินเชื่อหดตัว -2.1% y-y และ -1.1% q-q คิดเป็น -1.8% YTD จากสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ และ SME ขณะที่ต้นทุนทางการเงินเพิ่มขึ้น และรายได้ค่าธรรมเนียมลดลง รวมถึงขาดทุนรถยึดคาดที่ -1.49 พันล้านบาท เทียบกับ 967 ล้านบาท ในไตรมาส 2 ปี 2566 และ -1.46 พันล้านบาท ในไตรมาส 1 ปี 2567
ทั้งนี้ ปรับกำไรสุทธิปี 2567-2569 ลงปีละ –(4-7)% จากรายได้รวมต่ำกว่าคาด ส่งผลให้ราคาเป้าหมายปี 2567 ลดลงเหลือ 48 บาท และปรับคำแนะนำเป็น NEUTRAL (เป็นกลาง) เพราะตลาดเช่าซื้อซึ่งเป็นพอร์ตหลักของ KKP ยังไม่ดี โดยเฉพาะคุณภาพสินทรัพย์อ่อนแอ ทำให้กระทบต่อการเติบโตของสินเชื่อรวม