KTAM Focus : 3 คลาย 3 ขาย 3 ซื้อ

โดย..ณัฏฐะ มหัทธนา, CFA ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ
ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุนและลูกค้าสัมพันธ์ บลจ.กรุงไทย

 

 

 

สามวิตกจะคลี่คลาย

  1. 1. เพดานหนี้ (debt ceiling) การต่อสู้แย่งชิงงบประมาณระหว่าง 2 ขั้วการเมืองอาจสร้างความปั่นป่วนอย่างหนักแก่ตลาดการเงินโลกหาก “เล่นแรง” ลากเวลากันจนเงินหมดคลังทำให้รัฐบาลสหรัฐผิดนัดชำระหนี้ “ชั่วคราว” แต่ใครก็รู้ว่าเรื่องดราม่า (อันน่าเอือมระอา) ดังกล่าวจะต้องยุติลงในที่สุด
  2. วิกฤตธนาคารภูมิภาค (regional banks) ข้อมูลล่าสุดชี้บรรดาแบงก์พาณิชย์สหรัฐยังขอรับเงินช่วยเหลือฉุกเฉินด้านสภาพคล่องจากเฟด เงินฝากยังไหลออกจากบัญชีธนาคารไปแสวงหายีลด์ที่สูงขึ้นในกองทุนตลาดเงิน (money market funds) แต่อัตราการไหลดูไม่รุนแรง แถมมีข่าวดี Western Alliance รายงานปริมาณเงินฝากเพิ่มขึ้นกว่า $2 พันล้านนับตั้งแต่ต้นไตรมาสถึง 12 พ.ค. ปัจจัยสำคัญที่ช่วยดูดเงินกลับเข้าธนาคารนั้นตรงไปตรงมามากๆคือการออกผลิตภัณฑ์เงินฝากดอกเบี้ยสูง > 5% …แบงก์อื่นๆก็ทำตามได้… ขณะประธานเฟดรับรู้ “ภาวะตึงเครียด” ในระบบธนาคาร มองความเสี่ยงปัจจุบันค่อนข้าง “สมดุล” จึงน่าจะคงดอกเบี้ย (pause) เพื่อเฝ้าสังเกตสถานการณ์สักระยะ เราเชื่อว่าต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้นจะกดดันความสามารถสร้างผลกำไร (profitability) ของแบงก์ภูมิภาคเหล่านี้ แต่ “วิกฤต” ได้ผ่านพ้นไปแล้ว
  3. เศรษฐกิจจีนชะลอ ข้อมูลเดือน เม.ย. “น่าผิดหวัง” (หลังจากไตรมาสแรกแข็งแกร่งมาก) นักลงทุนในตลาดจำนวนไม่น้อยใจร้อนด่วนตัดสินว่า “แย่แล้ว” ทั้งๆที่ “การชะลอตัวชั่วคราว” (soft patch) เป็นเรื่องปกติเกิดขึ้นได้บนเส้นทางการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจรอบใหญ่ๆซึ่งมักไม่ราบเรียบเป็นเส้นตรง รัฐบาลจีนย้ำเดินหน้าสนับสนุนการเติบโตขณะ PBOC พยายามดูแลสภาพคล่องให้เพียงพอพร้อมออกมาปรามพฤติกรรมเก็งกำไรค่าเงินหยวนเพื่อรักษาเสถียรภาพตลาด เราเชื่อว่าในไม่ช้านักลงทุนจะตระหนักถึงเหตุผลตามข้อเท็จจริงมากยิ่งขึ้น และยืนยันด้วยหลักฐานจากข้อมูลที่ดีขึ้นในระยะถัดไป

สามสิ่งควรโดนขาย

  1. เงินดอลลาร์สหรัฐ เฟดหยุดขึ้นดอกเบี้ย (ผ่อนคลายลง) แต่ตลาดคาดว่าธนาคารกลางหลักๆอย่าง ECB และ BOE จะขึ้นดอกเบี้ยต่อไป (ยังคงเข้มงวด) BOJ ยึดนโยบาย yield curve control แต่เงินเฟ้อญี่ปุ่นสูงสุดกว่า 4 ทศวรรษน่าจะบีบให้เลิกผ่อนคลายในที่สุด (รอเวลาเข้มงวด) ทั้งหมดล้วนเป็นปัจจัยกด USD ให้มีแนวโน้มอ่อนค่าลง ประกอบกับ “สามวิตกคลี่คลาย” ยิ่งลดความต้องการถือเงินดอลลาร์
  2. 2. พันธบัตรสหรัฐ เริ่มโดนเทในสัปดาห์ล่าสุด ยีลด์ปรับตัวขึ้นด้วยเหตุผลแตกต่างกันไปในแต่ละช่วงอายุดังนี้ 2Y พุ่งเพราะตลาดคล้อยตามความเห็นของเฟดมากยิ่งขึ้นว่าจะไม่ลดดอกเบี้ยง่ายๆ 10Y, 20Y, 30Y ทะยานขึ้นบ่งชี้ความเสี่ยงถดถอย (recession risk) มีน้อยลง บั่นทอนความต้องการถือพันธบัตรอายุยาว และถ้าหาก 3 ปัจจัยพลิกอารมณ์ตลาดกลับเป็น risk on ตามที่เราคาดไว้ก็น่าจะกระตุ้นให้กระแสเงินทุนไหลออกจากตลาดบอนด์ หลังบรรดาผู้จัดการกองทุนจัดพอร์ตโดยให้น้ำหนัก “ตราสารหนี้” สูงสุดใน 14 ปี ตามผลสำรวจ Global Fund Manager Survey ฉบับเดือน พ.ค. ของ Bank of America
  3. หุ้นเทคยักษ์สหรัฐ ความหวั่นวิตกหลากหลายปัจจัยบีบให้นักลงทุนแห่เข้าซื้อหุ้น big tech เพียงไม่กี่ตัวพร้อมๆกันเพราะเชื่อมั่นว่า “ปลอดภัย” จนระดับราคา “สินทรัพย์สิ้นคิด” (คล้ายนึกเมนูอื่นไม่ออกก็สั่งข้าวกระเพราไก่ไข่ดาว) เหล่านี้พุ่งทะยานเกินพื้นฐานสวนสารพัดเหตุผลซึ่งบ่งชี้ว่าค่า P/E ควรต่ำกว่านี้ อาทิ เศรษฐกิจสหรัฐชะลอกดดันแนวโน้มผลประกอบการ และ ดอกเบี้ยสูงยาวนาน (higher for longer) ดังนั้น พอความเสี่ยงลดลงก็คงกระตุ้นให้เกิด rotation นักลงทุนผันเงินออกจาก US big techs ไปแสวงหาโอกาสในตลาดอื่นๆซึ่งมีแนวโน้มการเติบโตดีกว่า ณ ระดับราคาที่ถูกกว่าด้วย

สามสิ่งควรถูกซื้อ

  1. เงินหยวนจีน อ่อนค่าทะลุระดับจิตวิทยา 7 หยวนต่อดอลลาร์บนความกังวลเศรษฐกิจจีนอ่อนแรง อย่างไรก็ตาม เงินหยวนเริ่มรีบาวด์แข็งค่าขึ้นบ้างช่วงท้ายสัปดาห์หลัง PBOC ออกมาปรามนักเก็งกำไร รัฐบาลจีนย้ำกระตุ้นการเติบโตนำโดย มาตรการอุดหนุน NEV (New Energy Vehicles) เร่งลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และ สนับสนุนการบริโภค น่าจะดึงดูด fund flows กลับเข้าจีนเพื่อหาผลตอบแทนในภาวะ risk on
  2. หุ้นจีน สารพัดเหตุผลข้างต้นเริ่มเกิดผล นักลงทุนสถาบันระดับบิ๊กเริ่มขยับ! Vincent Mortier ผู้ดำรงตำแหน่ง CIO (chief investment officer) ของ Amundi บริษัทจัดการลงทุนใหญ่สุดของยุโรปซึ่งบริหารสินทรัพย์มูลค่ากว่า 2 ล้านล้านยูโร ให้สัมภาษณ์เผยแพร่บนเว็บไซต์ Financial Times 19 พ.ค. ชี้ชัดว่าบริษัทของเขากำลังเคลื่อนย้ายเงินจากตะวันตกไปยังตะวันออก โดยลดสัดส่วน “สหรัฐ” ซึ่งราคาสะท้อนความหวังแง่บวกมากไป แล้วเพิ่มสัดส่วน “จีน” เพราะตลาดกลัวเกินเหตุสร้างโอกาสลงทุนดีๆที่คุ้มค่า
  3. สินค้าโภคภัณฑ์ (และหุ้นที่ได้ประโยชน์จากราคาโภคภัณฑ์ปรับตัวขึ้น) มีโอกาสกลับสู่ขาขึ้นอย่างมีนัยสำคัญหากสิ่งที่เราคาดหวังเป็นจริง: เฟดหยุดขึ้นดอกเบี้ยแต่ก็ไม่ลดง่ายๆ (higher for longer) อัตราแลกเปลี่ยนปรับทิศ ดอลลาร์อ่อนค่า – หยวนแข็งค่า เศรษฐกิจสหรัฐยังไม่ถดถอยในปีนี้ (เช่นเดียวกับยุโรป) เศรษฐกิจจีนชะลอแค่ soft patch แล้วฟื้นตัวต่อไป

*** อัพเดตความเห็นล่าสุดของเราได้ทุกเช้าที่รายการ Fund Today by KTAM ***

ไอเดียกองทุนรวมมีให้ทุกวัน ผู้สนใจเชิญรับชม Fund Today by KTAM ทุกเช้าวันทำการเริ่มเวลา 8:45 น. สามารถพิมพ์คำถามทางไลฟ์ Facebook: KTAM Smart Trade, Youtube: KTAM TV ONLINE หรือรับฟังและร่วมพูดคุยใน Clubhouse: KTAM Smart Trade สดพร้อมกันสามช่องทาง นอกจากนี้ดูคลิปย้อนหลังได้ทั้ง Youtube และ Facebook

#คุยทุกวันฟันทุกเช้า #ฟันทูเดย์845

คำเตือน: ความเห็นส่วนบุคคล ไม่ใช่คำแนะนำการลงทุน ผลการดำเนินงานในอดีต มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต ทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน คู่มือการลงทุน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน