หุ้นปิโตรเคมีลงแรง นักวิเคราะห์ให้เลือกซื้อรายตัว บล.กสิกรไทย และบล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง มองราคาผลิตภัณฑ์ขึ้นลง ผลดีต่อ SCC-IRPC ส่วน ดีบีเอสฯแนะนำ PTTGC หยวนต้ามองจังหวะเก็บ IRPC 5 พ.ย. รอกำไรไตรมาส 3 ออกมาต่ำคาด
วันที่ 24 ต.ค.2561 ตลาดหุ้นรวมรูดลงเกือบ 1% ขณะที่ราคาหุ้นของกลุ่มปิโตรเคมียังคงปรับตัวลงแรงกว่า PTTGC ซื้อขายที่ 75 บาท รูดลง 2 บาทหรือ 2.60% ตามด้วย IVL ซื้อขายที่ 54 บาททรุด 1.25 บาทหรือ 2.26% IRPC ปรับตัวลง 0.10 บาทหรือ 1.67% ซื้อขายที่ 5.90 บาท
บล.กสิกรไทยให้น้ำหนักกลุ่มปิโตรเคมีน้อยกว่าตลาด เมื่อสัปดาห์ก่อนราคาน้ำมันดูไบและแนฟทา ลดลง 4-5%จากสัปดาห์ก่อนหน้า จากความกังวลเกี่ยวกับการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยที่เร็วกว่าคาดของธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด)รวมถึงอุปสงค์ที่ลดลงในช่วงที่โรงกลั่นปิดซ่อมบำรุง และผลกระทบจากราคาน้ำมันที่สูง เราคาดว่าราคาน้ำมันจะยังคงแข็งแกร่ง เพราะเข้าสู่ช่วงฤดูหนาวในไตรมาส 4 ด้านปิโตรเคมีโอเลฟินส์และอะโรเมติกส์ต่างปรับเพิ่มขึ้น หุ้นที่รับผลบวกคือ SCC และ IRPC ได้ประโยชน์มากที่สุดจากส่วนต่างราคาโอเลฟินส์ที่สูงขึ้นเมื่อสัปดาห์ก่อน ส่วน TOP และ PTTGC ได้ประโยชน์เล็กน้อยจากส่วนต่างราคาอะโรเมติกส์ที่สูงขึ้นเล็กน้อยและราคา HDPE ที่ทรงตัว แต่ IVL ได้รับผลกระทบเชิงลบเล็กน้อยจากอัตรากำไร PET ที่ลดลงในสัปดาห์ก่อน
บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง(ประเทศไทย) ให้น้ำหนักกลุ่มปิโตรเคมีเท่ากับตลาด ในสัปดาห์นี้อะโรเมติกส์ปรับตัวลงแรง 3.0-4.9% ทำให้ส่วนต่างลดลง 3.0-7.5% สัปดาห์ที่ผ่านมา แม้ราคาแนฟทาจะอ่อนตัวลงอีก 3.0% เป็นลบต่อ TOP และ PTTGC ส่วนต่างราคาสายโอเลฟินส์ปรับขึ้น 0.2-3.4% เป็นบวกต่อ IRPC และ SCC แต่เป็นกลางต่อ PTTGC เนื่องจากราคา HDPE ค่อนข้างทรงตัว สายโพลีเอสเตอร์ส่วนต่าง PTA และ MEG เพิ่ม 6.6-11.7% เป็นบวกต่อ IVL ขณะที่ส่วนต่าง PVC เพิ่ม 3.3% เป็นบวกต่อ VNT
ส่วนค่าการกลั่นเฉลี่ยสัปดาห์ก่อนปรับตัวลงอีก 3.6% จากสัปดาห์ที่ผ่านมา เป็น 5.1 เหรียญต่อบาร์เรล กดดันจากส่วนต่างน้ำมันเบนซินจากอุปสงค์เบาบางก่อนเข้าสู่ฤดูหนาว
“สัปดาห์นี้เรายังคงให้น้ำหนักกับหุ้นที่คาดผลประกอบการไตรมาส 3 ออกมาดี ได้แก่ IVL ขณะที่ถอด PTTGC ออกชั่วคราว เนื่องจากผลกระทบจากราคาน้ำมันที่อ่อนตัวลง “บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง ระบุ
ด้านบล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส(ประเทศไทย) แนะนำ “ซื้อ” PTTGC ราคาเป้าหมาย 113 บาท คาดการณ์กำไร ไตรมาส 3 แข็งแกร่ง โดยประมาณการกำไรสุทธิไว้ที่ 1.27 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 28% จากระยะเดียวกันปีก่อน และเติบโต 18% จากไตรมาสที่ 2 เนื่องจากอัตราการใช้กำลังการผลิตสูงขึ้นและมาร์จิ้น (P2F) ดีขึ้น หลังจากโรงกลั่นกลับมาผลิตจากที่ปิดซ่อมบำรุงไปในช่วงก่อน และมีกำไรพิเศษ 1,100 ล้านบาท & กำไรจากสต็อก 550 ล้านบาท & กำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน 200 ล้านบาท & กำไรจากขาย NPI หลังภาษีอีก 344 ล้านบาทด้วย
ธุรกิจโอเลฟินส์ในไตรมาสที่ 3 อ่อนลงจากการปิดซ่อมบำรุงตามแผน ทำให้อัตราการใช้กำลังการผลิตและอัตรากำไรต่ำลง โดยเฉพาะในส่วน LLDPE, LDPE เนื่องจากอุปทานเพิ่มขึ้น คาด EBITDA margin ธุรกิจนี้ลดลงจาก 29% ในไตรมาสที่ 2 เป็น 28% ในไตรมาสที่ 3
“ธุรกิจอะโรเมติกส์ดีขึ้น มาร์จิ้น (P2F) ของ PX เพิ่มเป็น 250 ดอลลาร์/ตัน จาก 130 ดอลลาร์/ตันในไตรมาสที่ 2 เพราะดีมานด์แกร่งมาก ขณะที่มีความไม่แน่นอนในอุปทานใหม่ที่จะเข้ามา ค่าการกลั่นเพิ่มขึ้น คาดไว้ที่ 6.4 ดอลลาร์/บาร์เรล จาก 6.2 ดอลลาร์/บาร์เรลในไตรมาสที่ 2 เนื่องจากสเปรดของน้ำมันเตาเพิ่มขึ้น (น้ำมันเตาคิดเป็น 15% ของปริมาณการผลิตโรงกลั่น) และค่า Crude Premium ต่ำลง
บล.หยวนต้า แนะนำ ซื้อเก็งกำไร หุ้น IRPC ราคาเป้าหมาย 7.50 บาท/หุ้น คาดกำไรปกติ 1,600 ล้านบาท ไตรมาสที่ 3 น่าผิดหวัง มีโอกาสออกมาต่ำกว่าที่ตลาดคาด รอซื้อหลังประกาศงบ วันที่ 5 พ.ย. 2561
“กำไรปกติในปีนี้มีโอกาสต่ำกว่าคาด เราปรับประมาณการปี 2561-2562 ลง 26% และ 6% ตามลำดับ เหลือกำไรปกติ อยู่ที่ 8,200 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8% และ 1.1 หมื่นล้านบาท เติบโต 34% ตามลำดับ”บล.หยวนต้าระบุ
สำหรับการปรับลดเป้ากำไรในปีนี้และปีหน้าลง ด้วยสมมติฐานหลัก ปรับลดอัตราการใช้กำลังการผลิตปี 2561 เป็น 97% จากเดิม 99% ปรับลดกำไรขั้นต้นธุรกิจหลัก เป็น 13.7 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล และ 14.5 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล ลดลง 5% และ 2% ตามลำดับ แต่ปรับเพิ่มกำไรสต๊อกน้ำมันปี 2561
อย่างไรก็ตาม IRPC มีกำไรปกติเติบโตปี 2562 มาจากอัตราการใช้กำลังการผลิตที่สูงขึ้น ไม่มีแผนหยุดซ่อมโรงงานใหญ่เหมือนคู่แข่ง (TOP และ SPRC) และ 2) กำไรขั้นต้นดีขึ้นจากมาตรการ IMO โดย IRPC ถือเป็นโรงกลั่นแห่งเดียวในประเทศที่มีหน่วยกำจัดกำมะถัน จึงได้ประโยชน์จากมาตรการ IMO มากที่สุด