คปภ.ยัน’สินมั่นคง’ยังจ่ายสินไหม ย้ำกำกับ-คุ้มครองสิทธิทัดเทียม

HoonSmart.com>>คปภ.เผยหลังชนะคดียังคงดูแลบริษัทสินมั่นคงประกันภัยจ่ายสินไหมทดแทนต่อเนื่อง ย้ำทำหน้าที่กำกับดูแลธุรกิจประกันภัย-คุ้มครองสิทธิประชาชน ยึดประโยชน์สาธารณะเป็นหลัก 

นายชูฉัตร ประมูลผล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า สำนักงาน คปภ. ยืนยันว่าได้ดำเนินการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัย และ การคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชน ด้วยความเป็นธรรม ไม่ได้เอนไปด้านใดด้านหนึ่ง โดยยึดประโยชน์สาธารณะเป็นที่ตั้ง การที่ศาลศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษาให้สำนักงาน คปภ. เป็นฝ่ายชนะคดี เป็นการสร้างขวัญและกำลังใจให้กับบุคลากรของคปภ.ในการยืนหยัดทำหน้าที่ดูแล ส่งเสริมธุรกิจประกันภัย รวมถึงคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชน ให้ปฏิบัติตาม กฎ กติกา รักษาความเชื่อมั่นของระบบประกันภัยไทยให้เป็นที่พึ่งของประชาชน

“เรายังคงดูแลบริษัทสินมั่นคงประกันภัย ให้ดำเนินการจ่ายค่าสินไหมทดแทนกับลูกค้าประกันภัยอื่นๆ ตามปกติ แม้ว่าจะอยู่ระหว่างถูกสั่งห้ามรับประกันวินาศภัยเป็นการชั่วคราว และยังให้โอกาสบริษัทดำเนินการฟื้นฟูกิจการฯ ซึ่งปัจจุบันพนักงานบริษัทบางส่วนได้มีการออกไปทำงานกับบริษัทประกันวินาศภัยอื่นๆ แล้ว และลูกค้าที่ครบกำหนดก็ได้ไปทำประกันภัยกับบริษัทประกันภัยที่อื่นด้วย”นายชูฉัตร กล่าว

แหล่งข่าวจาก คปภ. กล่าวว่า ในกระบวนการทางชั้นศาล ทางคปภ.ชนะคดีในชั้นศาลปกครองแล้ว ทางบริษัทสินมั่นคงประกันภัย ยังมีสิทธิ์ในการยื่นอุทธรณ์ ไปที่ศาลอุทธรณ์ภายใน 30 วัน ตามกระบวนการทางกฎหมายการต่อสู้กันในชั้นศาลอุทธรณ์จะใช้เวลาประมาณ 2-3 ปี แต่ถ้าไม่ยื่นอุทธรณ์ ทางคปภ.จะใช้อำนาจที่มีดำเนินการต่อไป แต่ไม่สามารถเปิดเผยได้ในขณะนี้

ในช่วงนี้บริษัทฯสามารถยื่นแผนฟื้นฟูกิจการเข้ามาได้ ซึ่งที่ผ่านมาแผนที่ยื่นเข้ามายังไม่ชัดเจน และการถูกสั่งให้หยุดรับประกันวินาศภัยเป็นการชั่วคราวตั้งแต่วันที่ 15 ธ.ค.2566 ทำให้ขนาดธุรกิจลดลง จากการที่สัญญาประกันภัยครบกำหนดสัญญา บริษัทฯได้ทยอยปิดสาขาต่างๆที่มีอยู่ทั่วประเทศแล้ว ปัจจุบันเหลือ 17 สาขาใน 6 ภาคที่ยังเปิดทำการให้บริการสินไหมทดแทนเท่านั้น เมื่อเทียบกับปี 2563 ที่มีสาขาและสาขาย่อย 179 แห่งทั่วประเทศ

ทั้งนี้ ณ สิ้นเดือนเมษายน 2567 บริษัทสินมั่นคงประกันภัย มีสินทรัพย์รวม 4,866 ล้านบา มีหนี้สินรวม 38,374 ล้านบาท ลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับเดือนม.ค.2567 ซึ่งอยู่ที่ 39,050 ล้านบาท โดยส่วนของผู้ถือหุ้นติดลบ 33,508 ล้านบาท

ด้านอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของต่อเงินกองทุนที่ต้องดำรงตามกฎหมายติดลบ 407.32% มีอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ต่อเงินกองทุนที่ต้องดำรงตามกฎหมาย ติดลบ 407.32% อัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุน ติดลบ 407.32% เงินกองทุนที่สามารถนำมาใช้ได้ทั้งหมดติดลบ 33,526 ล้านบาท โดยมีเงินกองทุนที่ต้องดำรงตามกฎหมายอยู่ที่ 8,231 ล้านบาท

ขณะที่ สินทรัพย์สภาพคล่องมีจำนวน 2,368 ล้านบาท โดยมีภาระหนี้สินตามสัญญาประกันภัยโควิด-19 อยู่จำนวน 33,739 ล้านบาท และภาระหนี้สินตามสัญญาประกันภัยที่ไม่ใช่โควิด-19 อยู่จำนวน 3,598 ล้านบาท

บริษัทสินมั่นคงประกันภัย ถือเป็น 1 ใน 16 บริษัทที่ขายประกันภัยโควิด-19 แบบเจอ จ่าย จบ ตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นของการแพร่ระบาด ณ สิ้นปี 2563 มียอดรับประกันภัยโควิด-19 สูงติด 4 อันดับแรกของบริษัทประกันวินาศภัย

จากตัวเลขของสมาคมประกันวินาศภัยไทย ปี 2563 มีผู้ซื้อประกันภัยโควิด-19 ทั่วประเทศประมาณ 9 ล้านกรมธรรม์ และในปี 2564 ช่วง 6 เดือนแรกมีผู้ซื้อประกันภัยโควิด-19 ทั่วประเทศ 13 ล้านกรมธรรม์ ซึ่งเป็นช่วงที่บริษัทประกันภัยทั้งระบบหยุดขายประกันภัยโควิด-19 แบบเจอ จ่าย จบ เพราะจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลจากสิ้นปี 2563 มีผู้ติดเชื้อ 6,884 ราย มาถึงวันที่ 18 พ.ย. 2564 มีผู้ติดเชื้อ 2,037,241 ราย เพิ่มขึ้น 29,600% และมีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 33,100%

กลางปี 2564 นี่เอง บริษัทสินมั่นคงประกันภัย ที่ขายประกันโควิดแบบเจอ จ่าย จบ นับล้านฉบับ ได้ส่งหนังสือถึงลูกค้าของบริษัทเพื่อขอบอกเลิกสัญญาประกันภัย แต่ คปภ.ห้ามบอกเลิกกรมธรรม์ จึงเป็นที่มาของการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายเป็นมูลค่า 4 หมื่นล้านบาทข้างต้น

ทั้งนี้ ปี 2563 มีบริษัทประกันวินาศภัย 55 บริษัท มี 16 บริษัทที่ขายประกันภัยโควิด-19 แบบเจอ จ่าย จบ มี 8 บริษัทที่ขายแบบคุ้มครองเฉพาะจ่ายค่ารักษาพยาบาลและกรณีโคม่า ส่วนบริษัทที่ไม่ขายประกันภัยโควิด-19 มี 31 บริษัท และข้อมูล ณ กลางปี 2564 มีผู้ถือกรมธรรม์ประกันภัยโควิด-19 ทั้งระบบ 16 ล้านฉบับ มูลค่าสินไหมทดแทนเกือบ 100,000 ล้านบาท

นับตั้งแต่โควิด-19 ระบาด มีบริษัทที่ถูกสั่งปิดกิจการไปแล้ว 4 บริษัท ประกอบด้วย บริษัทอาคเนย์ประกันภัย บริษัทไทยประกันภัย 1 เมษายน 2565 บริษัทเอเชียประกันภัย 1950 เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2564 บริษัท เดอะวัน ประกันภัย ถูกสั่งปิดวันที่ 13 ธ.ค.2564

ส่วนบริษัทสินมั่นคงประกันภัย อยู่ระหว่างถูกสั่งให้หยุดรับประกันวินาศภัยเป็นการชั่วคราวตั้งแต่วันที่ 15 ธ.ค.2566