HoonSmart.com>>SCB EIC เปิด 9 อุตสาหกรรมเรือธงไทย มีโอกาสเติบโตสูงจากความต้องการของตลาดใน-ต่างประเทศ
ดร.ฐิติมา ชูเชิด ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยด้านเศรษฐกิจ และตลาดการเงิน ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) เปิดเผยว่า ภาพรวมแนวโน้มธุรกิจไทยในช่วงที่เหลือของปี 2567 มีความเสี่ยงสูงขึ้นกว่าที่เคยประเมินไว้ อย่างไรก็ตาม ไทยยังมี 9 ธุรกิจที่มีโอกาสเติบโตสูงจากกำลังการบริโภคภายในและต่างประเทศ มาตรการกระตุ้นและส่งเสริมธุรกิจของภาครัฐ และการย้ายฐานการผลิตจากพื้นที่ที่มีความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ ประกอบด้วย ธุรกิจพลังงานหมุนเวียน ที่จะได้ประโยชน์จากความกังวลเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศ ธุรกิจด้านการดูแลสุขภาพ โรงแรม เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ร้านขายของชำและค้าปลีก บรรจุภัณฑ์อาหาร คลังสินค้า ผลไม้แปรรูป สัตว์ปีก
“จะเห็นว่าส่วนใหญ่เป็นธุรกิจอยู่ในภาคบริการ ที่เกิดจากจุดแข็งและใช้ความสามารถของความเป็นธุรกิจไทยเอง และธุรกิจที่รัฐบาลมีความพยายามสนับสนุนให้มีและแข็งแกร่งมากขึ้น เช่นพลังงานสะอาด ธุรกิจด้านการดูแลสุขภาพ ซึ่งเป็นธุรกิจที่อยู่ในความต้องการของตลาดภายในประเทศและของตลาดโลกด้วย”ดร.ฐิติมา กล่าว
ดร.ฐิติมา กล่าวว่า ในขณะที่ธุรกิจที่มีความเสี่ยงสูงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจในประเทศ และความกดดันจากการที่สินค้าจีนเข้ามาแข่งขัน ประกอบด้วย ธุรกิจปิโตรเคมี ผลิตภัณฑ์พลาสติก ยานยนต์ (OEM,ซัพพลายเออร์) วัสดุก่อสร้าง (เหล็ก,ปูนซีเมนต์) ตามด้วยธุรกิจขนส่ง จะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความเสี่ยงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจในประเทศ ความเสี่ยงทางภูมิศาสตร์การเมือง ส่วนธุรกิจ เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน บรรจุภัณฑ์พลาสติก อิเล็กทรอนิกส์สำหรับผู้บริโภค จะได้ได้รับผลกระทบจากความเสี่ยงทางภูมิศาสตร์การเมืองและสินค้าจีนที่ล้นตลาด รวมถึงธุรกิจก่อสร้างจะมีความเสี่ยงจากงบประมาณของรัฐบาล
ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงาน Economic Intelligence Center ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) กล่าวว่า หากย้อนกลับไปเมื่อ 10 ปีก่อน อุตสาหกรรมที่เป็นเรือธงของไทยมีไม่มากนัก และการมีส่วนร่วมของคนในประเทศต่ออุตสาหกรรมดังกล่าวก็มีต่ำ เมื่อเศรษฐกิจจะมีการเติบโตสูงทำให้เกิดการรวยกระจุก
ประเด็นที่ให้ความสำคัญต่ออุตสาหกรรมเรือธงใหม่ของไทยในระยะต่อไป คือ
1.ต้องวางโครงสร้างเศรษฐกิจให้คนเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น ให้คนตัวเล็กๆ มีส่วนในกิจกรรมทางเศรษฐกิจเหล่านั้น เพื่อกระจายรายได้ ทั้งอุตสาหกรรมเกษตร การบริการ อาหารแปรรูป ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่ไม่ได้ใช้เครื่องจักรขนาดใหญ่
2.ควรจะมีการขยายตลาดการส่งออกใหม่ๆ ในลักษณะของการเข้าไปหาพันธมิตรทางธุรกิจในแต่ละกลุ่มประเทศ ไม่ใช่พันธมิตรที่เป็นรายบริษัท
3.รัฐบาลควรมีนโยบายกระตุ้นการลงทุนที่ชัดเจน ทั้งมาตรการลดภาษี มาตรการสร้างแรงจูงใจในการปรับตัวของธุรกิจ จากปัจจุบันที่เห็นเพียงมาตรการกระตุ้นการบริโภค
“โลกธุรกิจและการค้าในอนาคตจะเปลี่ยนไป หนึ่ง สินค้าจะเปลี่ยนไป แม้ว่าอาหารจะยังดูเป็นอาหาร แต่ข้างในจะเปลี่ยนไป เช่น ไก่ที่เลี้ยงแบบเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมหรือไก่ยั่งยืน สองกระบวนการผลิตจะเปลี่ยน ผู้ประกอบการต้องดูว่ากระบวนการผลิตแบบไหนที่จะทำให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น สาม คู่ค้าจะเปลี่ยน เดิมส่งไปที่ยุโรป และสหรัฐอเมริกา แต่ปัจจุบันอาจจะไม่ซื้อเราแล้ว ก็ต้องหาคู่ค้าใหม่ และการที่สหรัฐฯมีความขัดแย้งกับจีน ทำให้ความเป็นคู่ค้าระหว่างจีนกับไทยมีการกลับด้าน จากเดิมไทยส่งสินค้าขั้นกลางไปให้จีนประกอบแล้วส่งออก ต่อไปในอนาคตพบว่าจีนจะส่งออกมาไทยมากขึ้น แต่สินค้าที่ส่งมาจะเป็นสินค้าขั้นกลางและมาประกอบที่ไทย แล้วใช้ไทยเป็นฐานการส่งออก ซึ่งไทยจะต้องเตรียมตัวรับมือกับโลกกลับด้านนี้”ดร.สมประวิณ กล่าว