ช็อค! JMART ขาดทุนยับ 295 ลบ. SINGER ดิ่งลงเหวลึก -843 ล้านบ.

HoonSmart.com>>เปิดต้นเหตุทิ้งบอมม์หุ้น “เจมาร์ท กรุ๊ปฯ (JMART)” ลงเหวลึก ไตรมาส 1/66 ขาดทุน 294.73 ล้านบาท เจอ SINGER แดงเถือก 843 ล้านบาท ทำให้ต้องรับรู้ส่วนแบ่งขาดทุน 218 ล้านบาท แถมยังเจอขาดทุนที่ยังไม่เกิดขึ้นจริงจากเงินลงทุนในตราสารทุนอีก 352 ล้านบาท มือถือก็ขายลดลง ส่วนต้นทุนทางการเงินกลับเพิ่มขึ้น 66 ล้านบาทเป็น 226.6 ล้านบาท  โชคดีได้ JMTและบริษัทที่เพิ่งเข้าไปลงทุน เช่น ตี๋น้อย ดีขึ้น  ประกาศปรับกลยุทธ์ สัญญาผลงานไตรมาส 2 เป็นต้นไปจะไปได้สวย  ด้าน JMART-SINGER พลิกขาดทุนกระทบผู้ถือหุ้นใหญ่-เล็กถ้วนหน้า 

บริษัท เจมาร์ท กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (JMART) ประกอบธุรกิจโฮลดิ้ง มี 6 สายธุรกิจหลัก เปิดเผยผลงานงวดไตรมาสแรก/2566 ขาดทุนมากถึง 294.73 ล้านบาท หรือ -0.202 บาทต่อหุ้น พลิกจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 325.12 ล้านบาทหรือ 0.233 บาท โดยมีรายได้รวมจากการขายและบริการจำนวน 3,377.4 ล้านบาท ลดลง 135 ล้านบาทหรือ 3.8% จากช่วงเดียวกันปีก่อน

สาเหตุหลักที่ทำให้ JMART ประสบปัญหาขาดทุน มาจาก SINGER มีผลขาดทุนสุทธิ 843.3 ล้านบาท ซึ่งบริษัทฯถือหุ้นสัดส่วน 25.4% ส่งผลกระทบต่อการรับรู้ส่วนแบ่งขาดทุนจำนวน 218 ล้านบาท และผลขาดทุนที่ยังไม่เกิดขึ้นจริงของเงินลงทุนในตราสารทุน มูลค่า 352 ล้านบาท(หลังหักภาษี) หากไม่รวมสองรายการนี้ จะมีกำไรสุทธิ 57 ล้านบาท

ทั้งนี้ ผลดำเนินงานของ SINGER พลิกจากที่เคยมีกำไร 215 ล้านบาท เป็นขาดทุน 843 ล้านบาทในงวดนี้ เกิดจากผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นเพิ่มขึ้นจำนวน 898 ล้านบาท หรือคิดเป็น  1,663% โดยมีสาเหตุหลักมาจากลูกหนี้ที่เข้าโครงการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด 2019 เริ่มทยอยสิ้นสุดการได้รับความช่วยเหลือ

นอกจากนี้เจมาร์ทยังได้รับผลกระทบจากยอดขายมือถือก็ลดลง  แม้ว่า ภาพรวมของเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้น จากผลการเปิดประเทศภายหลังสถานการณ์โควิดผ่อนคลายลงจนเกือบเข้าสู่ภาวะปกติ แต่ผู้บริโภคยังคงระมัดระวังในการจับจ่าย ทำให้การซื้อสินค้ายังเติบโตไม่สูงมากนัก ซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้บริษัทแกน ที่ดำเนินธุรกิจจำหน่ายโทรศัพท์มือถือ มียอดขายลดลง 11% เหลือจำนวน 2,199 ล้านบาท ทำให้มีกำไรสุทธิเพียง 55 ล้านบาท

ส่วน JMT ซึ่งเจมาร์ทถือหุ้น 53.6% มีกระแสเงินสดที่เรียกเก็บได้ 1,944 ล้านบาท เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากไตรมาสที่ 4/2565 และยังสามารถซื้อหนี้ด้อยคุณภาพเพิ่มขึ้น และบริษัท J มีกำไรสุทธิ 22.5 ล้านบาท

ขณะเดียวกัน เจมาร์ทยังมีต้นทุนทางการเงินรวม 226.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 66.3 ล้านบาท ส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากการเพิ่มขึ้นของเงินเบิกเกินบัญชี (โอดี) เงินกู้ยืมระยะสั้น และเงินกู้ยืมระยะยาวจากสถาบันการเงิน

อย่างไรก็ตาม เจมาร์ทและบริษัทในกลุ่มได้ปรับกลยุทธ์ในการดำเนินงานให้รัดกุมยิ่งขึ้น เพื่อจำกัดผลกระทบ โดยคาดการณ์ในไตรมาสแรกจะเป็นจุดต่ำสุด และจะปรับตัวดีขึ้นตั้งแต่ไตรมาส 2/2566 เป็นต้นไป ภายใต้เหตุผลธุรกิจหลักในกลุ่ม เช่น ธุรกิจจำหน่ายมือถือ บริหารหนี้ และธุรกิจบริหารพื้นที่เช่า ยังคงมีการเติบโตที่ดี ทำให้กำไรหลักยังคงเติบโตได้

นอกจากนี้ยังคาดว่าฝ่ายบริหารของ SINGER และ SGC จะสามารถปรับกลยุทธ์การดำเนินงาน เพื่อแก้ไขสถานการณ์ได้ภายในไตรมาสที่ 2 โดยเปลี่ยนรูปแบบการบริหารงานใหม่ที่รัดกุมยิ่งขึ้น รวมถึงการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ เพื่อให้สามารถดำเนินการได้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

ขณะเดียวกันธุรกิจใหม่ที่บริษัทฯได้เข้าไปลงทุน สามารถสร้างผลตอบแทนได้อย่างต่อเนื่อง เช่น บริษัท บีเอ็น เอ็น เรสเตอรองท์ กรุ๊ป (ตี๋น้อย) บริษัท พีอาร์ทีอาร์ กรุ๊ป (PRIT) บริษัทน้ำตาลบุรีรัมย์( BRR) มีผลงานเติบโตที่ดีและตี๋น้อยมีแผนในการเข้าตลาดหลักทรัพย์ในอนาคต

ด้านราคาหุ้น JMART ในรอบ 52 สัปดาห์ที่ผ่านมา ไต่ขึ้นไปสูงสุดถึง 61.50 บาท และร่วงลงไปต่ำที่สุดเหลือ 17.40 บาท เท่ากับทรุดลงไปมากถึง71.7% ล่าสุดวันที่ 12 พ.ค.2566 ราคาปิดที่ 20.30 บาท บวก 0.30 บาทหรือ +1.50%