กนง.ตรึงดอกเบี้ย 2.5%ตลาดคาดนิ่งถึงสิ้นปี รมว.คลังโยนปัจจัยตปท.ทุบหุ้นร่วง

HoonSmart.com>>ตามคาด! กนง.เสียงแตกมีมติ 6 ต่อ 1 ให้คงดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.50% อ้างสอดคล้องกับเศรษฐกิจที่โน้มเข้าสู่ศักยภาพและการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจและการเงิน เงินเฟ้อดีขึ้น จับตาส่งออก-มาตรการรัฐ คงเป้า GDP ปีนี้โต 2.6% ธนาคารโลกหั่นเหลือเพียง 2.4% เงินบาทปิด 36.67/68 แข็งเล็กน้อย หุ้นแบงก์บวกคาดช่วงสั้น  ต่างชาติขายต่อ 1,815.86 ล้านบาท รมว.คลัง โยนปัจจัยต่างประเทศทำหุ้นร่วงเฉียด 4 ปี เร่งดันโครงการในมือกระตุ้นตลาด เร่งเบิกงบลงทุน ตั้งเป้า 70%

วันที่ 12 มิ.ย.2567 ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติ 6 ต่อ 1 เสียง ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.50% ต่อปี โดย 1 เสียง เห็นควรให้ลดดอกเบี้ย 0.25%

นายปิติ ดิษยทัต เลขานุการ กนง. ระบุว่า กรรมการส่วนใหญ่ เห็นว่าอัตราดอกเบี้ยปัจจุบัน อยู่ในระดับที่สอดคล้องกับการขยายตัวของเศรษฐกิจ ที่โน้มเข้าสู่ศักยภาพและการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจและการเงิน จึงเห็นควรให้คงดอกเบี้ยในการประชุมครั้งนี้ ขณะที่กรรมการ 1 ท่าน เห็นว่าควรปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% เพื่อให้สอดคล้องกับศักยภาพทางเศรษฐกิจ ที่ขยายตัวต่ำลงจากปัจจัยเชิงโครงสร้างที่ชัดเจนขึ้น และจะมีส่วนช่วยบรรเทาภาระของลูกหนี้ได้บ้าง

คณะกรรมการฯ ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2567 มีแนวโน้มขยายตัวที่ 2.6% และ 3.0% ในปี 2568 ตามลำดับ โดยได้รับแรงส่งจากอุปสงค์ในประเทศที่สูงกว่าคาดในไตรมาสที่ 1 ภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวต่อเนื่อง รวมทั้งการเบิกจ่ายภาครัฐที่กลับมาเร่งขึ้นในไตรมาสที่ 2
ขณะที่ภาคการส่งออกในปีนี้ จะยังขยายตัวในระดับต่ำ ส่วนหนึ่งสะท้อนปัญหาเชิงโครงสร้างและความท้าทายจากความสามารถในการแข่งขันที่ลดลง  สินค้าบางกลุ่ม โดยเฉพาะหมวดยานยนต์ เผชิญแรงกดดันเพิ่มเติมจากอุปสงค์ต่างประเทศที่ชะลอลง ทั้งนี้ ต้องติดตามการฟื้นตัวของการส่งออกและภาคการผลิต รวมทั้งแรงกระตุ้นจากนโยบายภาครัฐในช่วงครึ่งหลังของปี

ด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไปปีนี้มีแนวโน้มใกล้เคียงเดิมอยู่ที่ 0.6% และ 1.3% ในปีหน้า ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในปี 2567 คาดว่าจะอยู่ที่ 0.5% และปี 2568 ที่ 0.9% โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปล่าสุดกลับมาเป็นบวก และมีแนวโน้มปรับขึ้นตามราคาพลังงาน จากการทยอยลดการอุดหนุนราคาน้ำมันดีเซล ขณะที่แรงกดดันด้านอุปทานที่ทำให้ราคาหมวดอาหารสดอยู่ในระดับต่ำมีแนวโน้มคลี่คลาย ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไป จะทยอยกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายตั้งแต่ไตรมาสที่ 4/2567 และในระยะปานกลางยังอยู่ในระดับที่สอดคล้องกับกรอบเป้าหมาย

ภาวะการเงินโดยรวมทรงตัว อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบดอลลาร์สหรัฐปรับอ่อนค่า ตามทิศทางนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ประกอบกับปัจจัยในประเทศ และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรไทยปรับสูงขึ้นบ้าง หลังตลาดปรับคาดการณ์นโยบายการเงินของไทย ด้านต้นทุนการกู้ยืมของภาคเอกชนผ่านธนาคารพาณิชย์ใกล้เคียงเดิม สินเชื่อภาคธุรกิจโดยรวมขยายตัว ขณะที่สินเชื่อภาคครัวเรือนขยายตัวชะลอลง โดยเฉพาะสินเชื่อเช่าซื้อ และบัตรเครดิตตามคุณภาพสินเชื่อที่ด้อยลง

คณะกรรมการฯ มีความกังวลต่อหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง และเห็นว่าการให้สินเชื่อควรสอดคล้องกับกระบวนการปรับลดสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อรายได้ (debt deleveraging) เพื่อเสริมสร้างเสถียรภาพระบบการเงินในระยะยาว จึงสนับสนุนนโยบายของ ธปท. ที่ให้สถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อตามความสามารถในการชำระหนี้ของผู้กู้ ควบคู่ไปกับการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ที่มีปัญหาการชำระหนี้

นอกจากนี้ คณะกรรมการฯ ตระหนักถึงปัญหาการเข้าถึงสินเชื่อของ SMEs จึงสนับสนุนการใช้มาตรการที่ตรงจุด เช่น มาตรการค้ำประกันสินเชื่อ เพื่อช่วยเพิ่มโอกาสการเข้าถึงสินเชื่อของ SMEs ที่มีศักยภาพซึ่งจำเป็นต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ

“กรรมการส่วนใหญ่ ประเมินว่าอัตราดอกเบี้ยปัจจุบัน สอดคล้องกับแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อที่ปรับดีขึ้น รวมทั้งเอื้อต่อการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินในระยะยาว  แต่ยังต้องติดตามพัฒนาการของเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการฟื้นตัวของภาคการส่งออก และมาตรการภาครัฐ โดยคณะกรรมการฯ จะพิจารณานโยบายการเงินให้เหมาะสมกับแนวโน้มเศรษฐกิจ และเงินเฟ้อในระยะข้างหน้า”

ด้านธนาคารโลกปรับเพิ่มประมาณการการเติบโตของเศรษฐกิจหลายประเทศ เช่นสหรัฐอเมริกาจาก 1.6% เป็น 2.5% จีนจาก 4.5% เป็น 4.8% อินโดนีเซียจาก 4.9% เป็น 5% ยกเว้นไทยปรับลดจาก 3.2% เหลือเพียง 2.4%

นักวิเคราะห์มองการคงดอกเบี้ยนโยบายหนุนหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ โดยบล.หยวนต้า(ประเทศไทย) คาดหนุนหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ให้ฟื้นตัวระยะสั้น แต่ Upside ของ SET Index โดยภาพรวมยังถูกจำกัด ด้วยปัจจัยการเมืองตลอดทั้งเดือน จึงยังคงคำแนะนำให้เลือกลงทุนในกลุ่ม Global Play หรือหุ้นที่มีปัจจัยบวกเฉพาะตัวเป็นหลัก เช่น SPRC, TOP, PTTEP, BANPU, STA, NER, BEM เป็นต้น

บล.เอเซีย พลัส กลยุทธ์ลงทุน แนะนำสะสมหุ้นพื้นฐานดี อิงเศรษฐกิจทะยอยฟื้นตัว KBANK, BBL, BJC, CPALL, CPAXT, HMPRO, CRC, JMART, ADVANC,AOT, ERW, STEC,CK

บล.ทิสโก้ มติเสียงคงดอกเบี้ยที่มากขึ้นจากการประชุมครั้งก่อนที่ 5 : 2 ตอกย้ำมุมมองที่ไม่คาดว่ากนง.จะลดดอกเบี้ยในปีนี้แล้ว จากเงินเฟ้อไทยที่เริ่มกลับมาเป็นบวกในเดือน พ.ค. และมีแนวโน้มค่อย ๆ สูงขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง มองภาพรวมเป็นลบเล็กน้อยต่อหุ้นกลุ่มไฟแนนซ์ แต่เป็นผลดีต่อหุ้นกลุ่มแบงก์ ชอบ BBL, SCB และ TTB

นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง กล่าวถึงดัชนีตลาดหุ้นที่ปรับตัวลดลงต่ำสุดในรอบเกือบ 4 ปีว่า เป็นสถานการณ์เดียวกันทั่วโลก เกิดจากความไม่มั่นใจของนักลงทุน โดยเฉพาะในกรณีของสหภาพยุโรปที่กำลังเกิดปัญหาอยู่ระหว่างการเลือกตั้ง ส่งผลกระทบถึงกัน เชื่อว่าหากสถานการณ์ชัดเจนแล้ว ความไม่มั่นใจจะลดลงและทุกอย่างจะเข้าที่ในที่สุด

” กระทรวงการคลังจะมีอีกหลายโครงการเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่ตามมา ซึ่งนักลงทุนรายย่อยอาจจะไม่ค่อยทราบว่าเรากำลังทำอะไร แต่ว่าคนที่เขาดูแลนักลงทุนเขารู้อยู่แล้วว่าตลาดทุนกำลังจะทำอะไร  ก็เร่งอยู่ ทั้งในเรื่องของกฎหมายและประกาศต่าง ๆ” นายพิชัย กล่าว

ส่วนการเบิกจ่ายงบประมาณปี 2567 นายพิชัยกล่าวว่าอยากเร่งรัดการเบิกจ่ายงบลงทุนให้ได้มากถึง 70% ขึ้นไป ซึ่งขณะนี้ยังเหลือเวลาอีก 3-4 เดือน ก็ต้องเร่งทำงาน หลังจากนี้จะมีการประชุมเพื่อติดตามความคืบหน้าอีกครั้ง

นางแพตทริเซีย มงคลวนิช อธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าวว่า ภาพรวมการเบิกจ่ายงบลงทุนปี 2567 อยู่ที่ 8.5 แสนล้านบาท โดยภายในไตรมาส 3 (เม.ย.-มิ.ย.) มีการเบิกจ่ายไปแล้ว 38.6% สูงกว่าเป้าหมาย แต่ต้องยอมรับว่ายังมีบางกระทรวงที่มีการเบิกจ่ายล่าช้า หลัก ๆ เป็นส่วนราชการ กลุ่มจังหวัด และจังหวัดต่าง ๆ จึงจำเป็นต้องเร่งรัด และให้นำมารายงานภายใน 1 สัปดาห์

ส่วนสถานการณ์การเมืองที่ไม่ชัดเจน ศาลรัฐธรรมนูญ เรียกพยานหลักฐานคดี ยุบ “ก้าวไกล”-คุณสมบัตินายกรัฐมนตรี ภายในวันที่ 17 มิ.ย.2567 พร้อมนัดพิจารณาต่อวันที่ 18 มิ.ย. 2567

ตลาดหุ้นในภูมิภาคมีทั้งบวกและลบ ตลาดเกาหลีใต้เพิ่มขึ้น 0.84% จีนบวก 0.31% ส่วนไทยบวก 0.04%   มูลค่าซื้อขาย 46,526.49 ล้านบาท โดยนักลงทุนต่างประเทศขายสุทธิ 1,815.86 ล้านบาท  ด้านนักลงทุนไทยซื้อสุทธิ 1,892.32 ล้านบาท

นายถนอมศักดิ์ สหรัตน์ชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการและหัวหน้าฝ่ายวิจัย บล.กรุงไทย เอ็กซ์สปริง กล่าวว่า  หุ้นปรับตัวลงไปทำ New Low ใหม่ก่อนรีบาวด์ขึ้นมา หลังผลประชุมกนง.มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นไปตามที่คาดไว้ แต่ส่งสัญญาณเศรษฐกิจยังเติบโตดี ส่วนการเมืองศาลรัฐธรรมนูญ ได้เลื่อนการพิจารณาออกไป คืนนี้ก็รอดูผลการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ว่าจะส่งสัญญาณ Dot Plot อย่างไร โดยตลาดยังมีหลายปัจจัยที่ยังต้องติดตามดูต่อไป ทำให้วอลุ่มการซื้อขายยังบางอยู่

อย่างไรก็ดี ตลาดได้แรงหนุนจากหุ้นในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ ขานรับประเด็น AI ของ Apple ด้านตลาดหุ้นในภูมิภาคเอเชียวันนี้เคลื่อนไหวทั้งในแดนบวก-ลบคละกัน ส่วนตลาดในยุโรปเทรดบ่ายนี้เปิดในแดนบวกได้หลังปรับตัวลง 2 วันที่ผ่านมา โดยได้แรงหนุนจากหุ้นในกลุ่มเทคโนโลยี จากประเด็น AI ของ Apple เช่นกัน

“ตลาดมีโอกาสเกิดเทคนิคเคิลรีบาวด์ได้เช่นกัน ซึ่งมองต่างชาติ Short เยอะมากในช่วงที่ผ่านมา น่าจะเริ่มทำ Short Covering บ้างแล้ว ดังนั้นช่วงนี้ต่างชาติน่าจะ Short น้อยลง หรือซื้อกลับบ้าง”

แนวโน้มการลงทุนในวันพรุ่งนี้ (13 มิ.ย.) ขึ้นอยู่กับผลประชุมเฟด พร้อมให้แนวรับ 1,310-1,315 จุด แนวต้าน 1,330-1,340, 1,350 จุด