KTAM เสิร์ฟกองตราสารหนี้ทั่วโลก “KT-ARB” สร้างผลตอบแทนทั้งขาขึ้น-ลง

HoonSmart.com>> “บลจ.กรุงไทย” (KTAM) ออกกองตราสารหนี้ทั่วโลก “KT-ARB” เปิดขาย IPO ระหว่าง 2-12 พ.ค.นี้ ชูโอกาสสร้างผลตอบแทนไม่ขึ้นกับภาวะตลาด ชูกลยุทธ์ลงทุนแบบ Absolute Return มุ่งเน้นสร้างผลตอบแทนอย่างสม่ำเสมอ

นางชวินดา หาญรัตนกูล กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงไทย (KTAM) เปิดเผยว่า บริษัทได้เปิดเสนอขาย กองทุนเปิดเคแทม Absolute Return Bond (KTAM Absolute Return Bond Fund : KT-ARB) (กองทุนที่มีความเสี่ยงสูงหรือซับซ้อน โดยมีความเสี่ยงกองทุนระดับ 4) เริ่มเสนอขายครั้งแรกระหว่างวันที่ 2 – 12 พฤษภาคม 2566 นี้ เหมาะสำหรับนักลงทุนที่ต้องการโอกาสสร้างผลตอบแทนทั้งในสภาวะตลาดตราสารหนี้ขาลงและขาขึ้น ผ่านการใช้ตราสารอนุพันธ์ (Derivative) เพื่อลดความเสี่ยงที่เกิดจากความผันผวนของตลาด ด้วยการลงทุนแบบ Absolute Return

กลยุทธ์การลงทุนแบบ Absolute Return เป็นกลยุทธ์การลงทุนที่มุ่งเน้นสร้างผลตอบแทนอย่างสม่ำเสมอ ถึงแม้ว่าสภาวะตลาดโดยรวมจะไม่เอื้ออำนวยก็ตาม โดยจะพยายามควบคุมความผันผวนให้อยู่บนระดับที่กำหนดไว้ ผ่านการใช้ตราสารอนุพันธ์เพื่อลดความเสี่ยงที่เกิดจากความผันผวนของตลาดให้คงเหลือเพียงผลตอบแทนที่เกิดจากตราสารนั้นๆ เท่านั้น

สำหรับกองทุน KT-ARB เป็นกอง Complex หรือกองทุนที่มีความเสี่ยงสูงหรือซับซ้อน มีนโยบายเน้นลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุน Jupiter Strategic Absolute Return Bond Fund (กองทุนหลัก) เพียงกองเดียว ในชนิดหน่วยลงทุน (share class) “I” ในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ (USD) โดยเฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวม กองทุนหลักเป็นกองทุนที่มีการลงทุนทั่วโลก ไม่ได้มีการลงทุนอย่างจำกัดหรือกระจุกตัวอยู่ในภูมิภาคใดภูมิภาคหนึ่งหรือตลาดใดตลาดหนึ่งเป็นการเฉพาะ เพื่อสร้างผลตอบแทนรวมให้เป็นบวกในรอบระยะเวลา 12 เดือน บนระดับความผันผวนที่กำหนด โดยไม่ขึ้นกับภาวะตลาด ผ่านการลงทุนในตราสารหนี้เป็นหลัก ทั้งทางตรงและทางอ้อม ทั้งสถานะซื้อและสถานะขาย (Long and Short) ผ่านการใช้สัญญาซื้อขายล่วงหน้า ทั้งนี้ กองทุนอาจลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (Derivatives) ที่มีตัวแปรเป็นอัตราแลกเปลี่ยนเงิน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันความเสี่ยง โดยขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของผู้จัดการกองทุน

กองทุนหลักมีกระบวนการลงทุน เริ่มจากการที่ผู้จัดการกองทุนมองจากธีมการลงทุนมหภาค มีการผสมผสานกลยุทธ์ Top down และ Bottom Up บนมุมมองเชิงมหภาค แล้วทำการค้นหาไอเดียและธีมในการสร้างพอร์ตลงทุน รวมไปถึงทำโมเดลพอร์ตโฟลิโอการลงทุนให้สอดคล้องกับกลยุทธ์ที่วางไว้ โดยมีกลยุทธ์การลงทุนที่สอดคล้องกับวิธีการเชิงปริมาณ (quantitative methodology) ซึ่งใช้เป็นแนวทางสำหรับการให้น้ำหนักในการลงทุน

นอกจากนี้ ความน่าสนใจของกองทุนหลัก คือ การบริหารจัดการลงทุนแบบยืดหยุ่นตามสภาวะเศรษฐกิจ มีการควบคุมความเสี่ยงจากการกระจายกลยุทธ์การลงทุนไปในสินทรัพย์หลายประเภทในหลากหลายกลยุทธ์ ทั้งยังเป็นทางเลือกในการสร้างผลตอบแทนที่มีความผันผวนต่ำคล้ายคลึงกับการลงทุนผ่านพันธบัตร ความเสี่ยงทางด้านเครดิตอยู่ในระดับต่ำ รวมถึงสินทรัพย์ที่มีการลงทุนถือว่ามีสภาพคล่องค่อนข้างสูง ซึ่งผลตอบแทนในอดีต อยู่ในระดับที่น่าพอใจ (ที่มา: Jupiter AM ข้อมูล ณ 31 ธ.ค. 65)

“จากนโยบายการลงทุนแบบยืดหยุ่น ไม่ถูกจำกัดโอกาสการในการลงทุน ส่งผลให้กองทุนมีโอกาสสร้างผลตอบแทนที่เป็นบวกได้แม้ในสภาวะตลาดขาลงเพื่อลดความเสี่ยงที่เกิดจากความผันผวน ด้วยกลยุทธ์การลงทุนแบบ Absolute Return นอกจากนี้ กองทุนยังได้ทีมผู้จัดการกองทุนจากกองทุนหลักที่มีประสบการณ์การลงทุนที่ยาวนานและมีความชำนาญด้านการลงทุนตราสารหนี้ อย่าง Jupiter Strategic Absolute Return Bond Fund เป็นผู้บริหารจัดการกองทุน ดังนั้นกองทุน KT-ARB จึงเป็นอีกทางเลือกการลงทุนที่น่าสนใจสำหรับนักลงทุนที่ต้องการสร้างโอกาสรับผลตอบแทนจากการลงทุนในตราสารหนี้ทั่วโลกโดยไม่ต้องคำนึงถึงภาวะตลาด” นางชวินดา กล่าว

ผู้ที่สนใจสามารถสอบถามข้อมูลและขอรับหนังสือชี้ชวนได้ทุกวันทำการได้ที่ บลจ.กรุงไทย โทร. 0-2686-6100 กด 9 หรือธนาคารกรุงไทยและผู้สนับสนุนการขายหรือรับซื้อคืนหน่วยลงทุน (ถ้ามี) หรือศึกษารายละเอียดได้ที่ www.ktam.co.th สนใจเปิดบัญชีผ่านแอปพลิเคชั่น KTAM Smart Trade ได้ที่ https://bit.ly/KTSTSignIn
ปัจจัยความเสี่ยงของกองทุน KT-ARB ที่สำคัญ : ความเสี่ยงด้านตลาดและความเสี่ยงด้านอัตราดอกเบี้ย ความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระหนี้ ความเสี่ยงจากการดำเนินงานของผู้ออกตราสาร ความเสี่ยงจากการลงทุนในหุ้นกู้แปลงสภาพชนิดพิเศษและการลงทุนอื่น ๆ ที่มีคุณสมบัติรับภาระการสูญเสีย ความเสี่ยงด้าน Bond Connect ความเสี่ยงในเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน ความเสี่ยงของประเทศที่ลงทุน ความเสี่ยงของตลาดเกิดใหม่ ความเสี่ยงจากการเปิดสถานะซื้อหรือขาย (Long and Short) ของกองทุนหลักโดยใช้สัญญาซื้อขายล่วงหน้า ความเสี่ยงในเรื่องคู่สัญญาในการทำสัญญาป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน ความเสี่ยงจากการขาดสภาพคล่องของหลักทรัพย์ ความเสี่ยงจากข้อจำกัดการนำเงินลงทุนกลับประเทศ และความเสี่ยงที่เกิดจากการย้ายการลงทุนไปกองทุนอื่น