KTAM ปลื้มกอง KTPCRED-UI จองล้นยอดทะลุ 2 พันลบ. ขยายไซส์ตอบรับดีมานด์

HoonSmart.com>> “บลจ.กรุงไทย” (KTAM) ปลื้มปิดการขายกองทุน “KTPCRED-UI” ลงทุน Private Credit ก่อนจบช่วง IPO หลังยอดขายล้นหลาม ดึง green shoe ขายยอดรวมกว่า 2,056 ล้านบาท พร้อมขยายขนาดกองทุนเพิ่มเป็น 5,000 ล้านบาท รองรับดีมานด์ เปิดขายอีกครั้ง 6-13 มิ.ย.67 นี้

ชวินดา หาญรัตนกูล

นางชวินดา หาญรัตนกูล กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) กรุงไทย (KTAM) เปิดเผยว่า หลังจากที่ได้เปิดเสนอขายกองทุนที่เน้นลงทุนใน Private Credit หรือสินเชื่อที่ให้กู้โดยผู้ให้กู้ที่มิใช่ธนาคาร จำนวน 2 กองทุน ได้แก่ กองทุนเปิดเคแทม U.S. Private Credit Unhedged ห้ามขายผู้ลงทุนรายย่อย (KTPCRED-UI) และกองทุนเปิดเคแทม U.S. Private Credit ห้ามขายผู้ลงทุนรายย่อย (KTPCREDH-UI) โดยเสนอขายครั้งแรกไปเมื่อวันที่ 27 พ.ค.–12 มิ.ย.67 นั้น

ทั้ง 2 กองทุนนี้ นักลงทุนต่างได้ให้ความสนใจอย่างล้นหลามโดยเฉพาะกอง KTPCRED-UI จึงทำให้กองทุนนี้ปิดจองซื้อในช่วง IPO ก่อนกำหนดด้วยจำนวนกว่า 2,056 ล้านบาท และเพื่อเป็นการตอบสนองความต้องการของนักลงทุนอย่างต่อเนื่อง จึงได้จดทะเบียนขยายขนาดกองทุนเป็น 5,000 ล้านบาท และกำหนดการเปิดรับคำสั่งซื้อหน่วยลงทุนล่วงหน้าในช่วงวันที่ 6-13 มิ.ย.2567 ภายหลังเสนอขายหน่วยลงทุนครั้งแรกเพิ่มเติมสำหรับผู้ลงทุนประเภทผู้ลงทุนสถาบันและผู้ลงทุนรายใหญ่พิเศษเท่านั้น ด้วยเงินลงทุนขั้นต่ำ 500,000 บาท ผ่าน บลจ.กรุงไทย และบริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชนทั้งนี้ กองทุนจะทำรายการซื้อขายหน่วยลงทุนในวันที่ 1 ก.ค.2567 นี้

สำหรับกองทุน KTPCREDH-UI ผู้ลงทุนยังคงสามารถลงทุนได้ตามระยะเวลา IPO ที่กำหนดไว้เดิม ตั้งแต่วันนี้ -12 มิ.ย.2567 ด้วยเงินลงทุนขั้นต่ำ 500,000 บาท ผ่าน บลจ.กรุงไทย และบริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) เช่นกัน

กองทุน KTPCRED-UI และ KTPCREDH-UI (ความเสี่ยงระดับ 8+) เป็นกองทุนรวมที่มีความเสี่ยงสูงหรือมีความซับซ้อน โดยกองทุน KTPCRED-UI ไม่มีนโยบายป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน เหมาะกับนักลงทุนที่สามารถรับความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนได้ ส่วน KTPCREDH-UI มีนโยบายป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนตามดุลยพินิจของผู้จัดการกองทุน เหมาะกับนักลงทุนที่ไม่ต้องรับความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนเต็มจำนวนจากการลงทุน

ทั้ง 2 กองทุน เน้นลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุน Ares Strategic Income Offshore Access Fund (กองทุนหลัก) ในหน่วยลงทุนชนิด Class I UD เพียงกองเดียว โดยเฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน โดยกองทุนหลักมีเป้าหมายที่จะลงทุนในกองทุน Ares Strategic Income Fund (ASIF) (กองทุนอ้างอิง) อย่างน้อย 95% ของทรัพย์สินของกองทุน ซึ่ง ASIF นับว่าเป็นผู้จัดการกองทุนที่มีประสบการณ์กว่า 20 ปี ผ่านมาทุกวัฏจักรของตลาด อีกทั้งยังมีกลยุทธ์ในการสร้างผลตอบแทนที่ปรับด้วยความเสี่ยงที่โดดเด่น (Risk-adjusted Return) โดยมุ่งเน้นการสร้างกระแสรายได้ระดับสูงและเพิ่มการกระจายความเสี่ยงให้กับพอร์ตโฟลิโอ ผ่านแพลตฟอร์มเครดิตชั้นนำของ Ares ที่เน้นการทำ Direct Lending เป็นหลัก

“หนึ่งในประเภทของ Private Credit ที่เป็นสัดส่วนหลักของทั้ง 2 กองทุนนี้ ก็คือ Direct Lending หรือที่เรียกว่าการปล่อยกู้โดยตรง ซึ่งบริษัทส่วนใหญ่ที่มาขอกู้จะมีทั้งขนาดกลางไปจนถึงขนาดเล็ก โดยส่วนใหญ่จะตอบสนองตามวัตถุประสงค์เฉพาะของผู้กู้แต่ละราย ขณะเดียวกันอัตราดอกเบี้ยก็มักจะสูงกว่าสินเชื่อธนาคารทั่วไป และคิดอัตราดอกเบี้ยแบบอัตราลอยตัว (floating rate) ดังนั้นจึงลดความเสี่ยงด้านความผันผวนของอัตราดอกเบี้ย ซึ่งจากข้อมูลในอดีต ในช่วงที่ตลาดในภาพรวมปรับฐานนั้น Private Credit ถือเป็นหนึ่งในสินทรัพย์ที่แสดงถึงผลขาดทุนสูงสุด (Max Drawdown) ที่ต่ำกว่าเมื่อเทียบกับสินทรัพย์ประเภทอื่นๆ (ที่มา: Ares management, ข้อมูล ณ 31 ม.ค. 2567)” นางชวินดา กล่าว