ความจริงความคิด : ข้อควรรู้ก่อนซื้อประกันสุขภาพ

โดย….สาธิต บวรสันติสุทธิ์, CFP นักวางแผนการเงิน

เมื่อความเจ็บป่วยเป็นความเสี่ยงที่น่ากังวล ไม่ป่วยก็ดีไป เห็นหลายคน หลับๆไป ตายไปเฉยๆ ก็อยากมีภาวะอย่างนั้นบ้าง ตายไปง่ายๆ ไม่เจ็บป่วยได้ก็ดี ทำนองว่า เกิด แก่ ตาย ไม่เอาเจ็บ แต่ก็ไม่รู้นะว่าจะได้อย่างที่หวังมั๊ย เมื่อไม่รู้ ก็เลยต้องป้องกันไว้ก่อน โดยเฉพาะค่ารักษาพยาบาล ทำยังไงเจ็บป่วยมีเงินรักษา ทางออกที่คุยไว้ครั้งที่แล้ว ก็คือ ประกันสุขภาพ วันนี้จึงมาคุยต่อเรื่องข้อควรรู้ก่อนซื้อประกันสุขภาพ ดังนี้ ครับ

1.ควรทำประกันสุขภาพตอนที่สุขภาพยังดีอยู่

ถ้าอยากได้รับความคุ้มครองเต็มที่ เบี้ยไม่แพง ควรทำประกันสุขภาพตอนที่เรายังมีสุขภาพดี ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ หรือ ประวัติการรักษาพยาบาล เพราะจะทำให้เบี้ยประกันมีราคาที่ถูก แต่ถ้าหากเราทำประกันตอนที่มีปัญหาสุขภาพแล้ว เช่น เริ่มมีโรคภัยไข้เจ็บ หรือมีประวัติเคยเข้ารับการรักษาพยาบาล ฯลฯ เราก็อาจจะต้องเสียค่าเบี้ยประกันที่สูงขึ้น หรือ ไม่ได้รับความคุ้มครองเต็มที่ หรืออาจถึงขั้นบริษัทประกันไม่รับเลยก็เป็นไปได้

2.เช็กประวัติสุขภาพของครอบครัว

โรคหลายโรคเป็นโรคที่เกิดจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรม ไม่ว่าจะจากพ่อแม่ หรือปู่ย่าตายายที่เป็นโรค หรือพาหะ ตัวเราเองก็อาจเป็นหรือได้รับโรคเหล่านั้นสืบทอดต่อมาได้ เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคมะเร็งบางอย่าง ได้แก่ มะเร็งเต้านม มะเร็งรังไข่ มะเร็งโพรงมดลูก มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งไทรอยด์ เป็นต้น หากมีคนในครอบครัวเป็นโรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม เราก็ควรพิจารณาการเลือกซื้อประกันสุขภาพที่คุ้มครองโรคนั้นๆ

3.ตรวจสอบความเสี่ยงสุขภาพตัวเอง

สังเกตว่า life style เรา เช่น เป็นคนชอบออกกำลังกายมั้ย ทานอาหารที่มีประโยชน์หรือไม่ อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เป็นพิษหรือไม่ (เช่น อยู่ในพื้นที่เสี่ยง PM2.5) อาชีพหรืองานที่ทำ เครียดหรือเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยหรือไม่ หากเราอยู่ในกลุ่มเสี่ยง ถ้าปรับ life style ได้ ก็ควรปรับนะ อย่างผมเองเป็นคนชอบกินของทอดมากๆ ปรากฏว่าเป็นไขมันในเลือดสูง กินยาแต่ไม่เลิกกินของทอด ไขมันก็ไม่ลด

4. สำรวจค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลในพื้นที่ที่เราคาดว่าจะอยู่ในช่วงที่มีความเสี่ยงที่จะมีปัญหาสุขภาพ เช่น ช่วงเกษียณคาดว่าจะอยู่ต่างจังหวัด ก็ลองสำรวจค่ารักษาพยาบาล ค่าห้องของโรงพยาบาลมาตรฐานในพื้นที่นั้น ไม่จำเป็นต้องซื้อค่ารักษาพยาบาลหรือค่าห้องแพงๆอย่างใน กทม.

5.สำรวจสวัสดิการสุขภาพทั้งหมดที่มีอยู่

ไม่ว่าจะประกันสังคม หรือสวัสดิการต่าง ๆ อย่างบัตรทอง ศึกษาว่าคุ้มครองการรักษาพยาบาลอะไรบ้าง สถานพยาบาลที่เราต้องรับการรักษาดีหรือไม่ เรารับได้หรือไม่ กับคุณภาพห้องพัก คุณภาพการให้บริการ การต้องรอหลายๆชั่วโมง หรือคุณภาพยาที่อาจด้อยกว่าสถานพยาบาลเอกขน ฯลฯ หากรับได้ แต่ต้องการคุณภาพบางอย่างดีขึ้น เช่น ยาที่ดีขึ้น หรือห้องที่ดีขึ้น เราก็สามารถซื้อประกันสุขภาพเพื่อขยายความคุ้มครองให้ครอบคลุมตามที่เราต้องการ รวมไปถึงการซื้อเพื่อให้ได้สิทธิการดูแลและการรักษาพยาบาลที่ดีขึ้น ยกตัวอย่างเช่น ประกันแบบเหมาจ่าย ที่ไม่จำกัดจำนวนเงินค่ารักษาในแต่ละครั้ง แต่คุ้มครองเป็นวงเงินประกัน ทำให้เราสามารถปรับเพิ่มคุณภาพการรักษาของเราให้ดียิ่งขึ้น และไม่เพียงสำรวจสวัสดิการสุขภาพที่มีอยู่ เรายังต้องสำรวจประกันสุขภาพที่เคยซื้อไปแล้วด้วยว่า เป็นประกันสุขภาพแบบไหน คุ้มครองอะไรบ้าง วงเงินคุ้มครองแต่ละรายการเท่าไร เพื่อจะได้เป็นข้อมูลในการซื้อประกันสุขภาพเพิ่มเติม

6.เลือกความต้องการด้านสุขภาพให้เหมาะสม

ปัจจุบันมาตรฐานประกันสุขภาพใหม่ทำให้เราสามารถเลือกประกันสุขภาพที่เหมาะสมกับเราได้อย่างถูกต้องมากขึ้น เราต้องการความคุ้มครองอะไรบ้าง ผู้ป่วยนอก (OPD) ผู้ป่วยใน (IPD) หรือคุ้มครองโรคร้ายแรง (CI) ต้องการวงเงินความคุ้มครองเท่าไหร่ หรือรูปแบบความคุ้มครองยังไง เป็นแบบเหมาจ่ายต่อปี หรือแยกค่าใช้จ่าย ต้องการเงินชดเชยรายได้หรือไม่ ซึ่งทั้งหมดนี้เราต้องถามตัวเองให้ดีก่อนเลือกทำประกันสุขภาพ

7.ความสามารถในการจ่ายเบี้ยประกันสุขภาพในระยะยาว

เบี้ยประกันสุขภาพจะแพงขึ้นทุกปีตามอายุ เราจึงต้องวางแผนในระยะยาวให้ดี โดยเฉพาะช่วงอายุมากๆ รายได้ลดน้อยลง ไม่ว่าจะเป็นเพราะเราเกษียณ หรือ ปัญหาสุขภาพ ฯลฯ เราสามารถดูว่าต้องจ่ายเบี้ยเท่าไหร่ในแต่ละปีจากเล่มกรมธรรม์ประกัน

8. เก็บออมเงินเพื่อสำรองค่ารักษาพยาบาลด้วยตนเอง (Self insured)

เพราะค่ารักษาพยาบาลแพงขึ้นตลอด เบี้ยประกันสุขภาพก็แพงขึ้นตลอดเช่นกัน จนถึงจุดหนึ่งที่เราประเมินแล้วไม่สามารถชำระเบี้ยประกันที่สูงขนาดนั้นได้ เราก็อาจเลือกที่จะลดทุนประกันลง และใช้สวัสดิการรักษาพยาบาล เช่น ประกันสังคม หรือ บัตรทองเสริม ส่วนของค่ารักษาพยาบาลที่เกินกว่าวงเงินคุ้มครอง เราก็ใช้เงินสำรองค่ารักษาพยาบาลที่เตรียมไว้

อ่านบทความอื่นๆ
PM2.5 กับความเสี่ยงสุขภาพ”
ความจริงความคิด : กู้ร่วม
หรือเราต้องบริหารความเสี่ยงบนการบริหารความเสี่ยง?