ครม.เคาะมาตรการภาษีกระตุ้นเที่ยวเมืองรองช่วงโลว์ซีซั่น เริ่ม 1 พ.ค.-30 พ.ย.นี้

HoonSmart.com>>ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบมาตรการภาษีสนับสนุนการท่องเที่ยวเมืองรอง และจังหวัดอื่น ๆ ในช่วง Low Season เริ่ม พ.ค.-พ.ย. เล็งรัฐสูญเสียรายได้ราว 1.5 พันล้านบาท โดยนิติบุคคลสามารถหักรายจ่ายได้ 2 เท่า สำหรับการอบรมสัมมนาในเมืองรอง, หักรายจ่ายได้ 1.5 เท่า สำหรับการอบรมสัมมนาที่จัดในท้องที่อื่น ส่วนบุคคลธรรมดาท่องเที่ยวใน “จังหวัดท่องเที่ยวรอง” ได้ตามที่จ่ายจริง ไม่เกิน 15,000 บาท หักเป็นค่าใช้จ่ายในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เริ่ม 1 พ.ค. – 30 พ.ย. 67 พร้อมจ่อชงเพิ่มมาตรการกระตุ้นท่องเที่ยว-อุตสาหกรรม เข้าครม.ภายใน 1-2 สัปดาห์

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวภายในประเทศ เพื่อกำหนดการใช้สิทธิ์ประโยชน์ทางภาษีอากร แก่บุคคลธรรมดา บริษัท หรือห้าง หุ้นส่วนนิติบุคคล สำหรับการท่องเที่ยว และการจัดอบรมสัมมนาในจังหวัดท่องเที่ยวเมืองรอง และจังหวัดท่องเที่ยวอื่น ๆ ภายในประเทศ ในช่วง Low Season ตั้งแต่ พ.ค. – พ.ย. ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ และส่งให้คณะกรรมการกฤษฏีกาพิจารณาเร่งด่วน พร้อมประเมินจะทำให้รัฐสูญเสียรายได้ประมาณ 1,500 ล้านบาท แต่มั่นใจหากมีการสนับสนุนเมืองรองจะได้กลับมามากกว่า 1,500 ล้านบาท

ในช่วงที่ผ่านมารัฐบาลให้ความสำคัญกับการท่องเที่ยวค่อนข้างมาก และเป็นเครื่องยนต์สำคัญที่ผลักดันเศรษฐกิจต่อไป โดยการสนับสนุนเมืองรอง การจัดงานเฟสติวัลต่าง ๆ โดยเฉพาะในช่วงเดือน Low Season นอกจากนี้ ได้แจ้งรัฐมนตรีหลายคนที่เป็นสส.ในพื้นที่ด้วย หากในพื้นที่มีกิจกรรมดี ๆ ให้ประสานมาที่กระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา เพื่อช่วยโปรโมตเศรษฐกิจพื้นเมืองได้

นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระรวงการคลัง เปิดเผยว่า การออกมาตรการทางภาษีกระตุ้นการสร้างเม็ดเงินจากการท่องเที่ยวในเมืองรองช่วง Low Season รวม 2 มาตรการ ดังนี้ 1. มาตรการภาษีกระตุ้นสัมมนาในประเทศ (สำหรับนิติบุคคล) โดยนิติบุคคลสามารถนำรายจ่ายค่าห้องสัมมนา ค่าห้องพัก ค่าขนส่ง หรือรายจ่ายอื่นที่เกี่ยวข้องในการอบรมสัมมนาภายในประเทศ ที่จัดขึ้นให้แก่ลูกจ้าง หรือค่าบริการของผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยว เพื่อการอบรมสัมมนาดังกล่าว ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. – 30 พ.ย. 2567 หักเป็นรายจ่ายในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคล ดังนี้

1.1 หักรายจ่ายได้ 2 เท่า สำหรับการอบรมสัมมนาที่จัดใน “จังหวัดท่องเที่ยวรอง” หรือในเขตพื้นที่ท่องเที่ยวอื่นใดที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด
1.2 หักรายจ่ายได้ 1.5 เท่า สำหรับการอบรมสัมมนาที่จัดในท้องที่อื่น นอกจากท้องที่ตามข้อ 1.1
1.3 ในกรณีที่การสัมมนาเกิดขึ้นในท้องที่ตามข้อ 1.1 และข้อ 1.2 ต่อเนื่องกัน ให้หักรายจ่ายที่สามารถแยกได้ว่าเกิดขึ้นในท้องที่ใดตามข้อ 1.1 หรือข้อ 1.2 และถ้าแยกไม่ได้ให้หัก 1.5 เท่าของรายจ่ายตามที่จ่ายจริง

2. มาตรการภาษีกระตุ้นท่องเที่ยวเมืองรอง (สำหรับบุคคลธรรมดา) สามารถนำค่าบริการที่จ่ายให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยว หรือที่ได้จ่ายเป็นค่าที่พักในโรงแรม ค่าที่พักโฮมสเตย์ไทย หรือค่าที่พักในสถานที่พักที่ไม่เป็นโรงแรม สำหรับการเดินทางท่องเที่ยวใน “จังหวัดท่องเที่ยวรอง” ได้ตามที่จ่ายจริง ไม่เกิน 15,000 บาท หักเป็นค่าใช้จ่ายในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตั้งแต่ 1 พ.ค. – 30 พ.ย. 2567 ซึ่งเป็นช่วงนอกฤดูท่องเที่ยว (Low Season)

ทั้ง 2 มาตรการ ต้องมีใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป ตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ และใบรับอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice & e-Receipt) ซึ่งทั้ง 2 มาตรการนี้จะตอบโจทย์ 2 อย่างพร้อม ๆ กัน นั่นคือ กระตุ้นการท่องเที่ยวเมืองรอง และกระตุ้นการท่องเที่ยวช่วง Low Season

นายเผ่าภูมิ กล่าวต่อว่า กระทรวงคลังได้เตรียมมาตรการอื่น ๆ ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งภาคท่องเที่ยว และภาคอุตสาหกรรมอื่น ๆ โดยคาดว่าจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายใน 1-2 สัปดาห์นี้

ขณะที่ ครม. ได้มีมติเห็นชอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ตามที่สำนักงบประมาณเสนอ จำนวน 122,000 ล้านบาท สำหรับเป็นงบกลาง รายการค่าใช้จ่ายเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างความเข้มแข็งของระบบเศรษฐกิจ ซึ่งคาดว่าร่างกฎหมายจะเข้าสู่สภาฯ ในเดือน ก.ค. หรือ ส.ค.นี้

————————————————————————————————————————————————–