SABUY ยันซื้อ SINGER ให้ถึง 15% เปลี่ยนจ่ายเงินปันผล 16 สต.ไร้กังวลหุ้นไดลูท

HoonSmart.com>> “สบาย เทคโนโลยี” (SABUY) ยืนยันเตรียมซื้อหุ้น SINGER ให้ถึง 15% หลังขายออก ช่วงตลาดหุ้นผันผวนสูง เพื่อเลี่ยงขาดทุน มั่นใจซื้อ SINGER เชื่อม Ecosystem ต่อเนื่อง พร้อมเปลี่ยนการจ่ายปันผลเป็นเงินสด 271 ล้านบาท อัตรา 0.16 บาท/หุ้น แทนออกหุ้นปันผล ยันหุ้นไม่ไดลูท แถมยังมีโอกาสเติบโตแรงตามเป้ารายได้ปีนี้โตทะลุ 2 หมื่นล้านบาท

นายชูเกียรติ รุจนพรพจี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สบาย เทคโนโลยี (SABUY) เปิดเผยว่า ที่ประชุมผู้ถือหุ้นสามัญประจำปี 2565 เมื่อวันที่ 26 เม.ย.2565 มีมติอนุมัติให้บริษัทฯ เข้าลงทุนในบริษัท ซิงเกอร์ (ประเทศไทย) หรือ SINGER จำนวนไม่เกิน 123,351,300 หุ้น รวมเป็นเงินทั้งสิ้นไม่เกิน 3,330,485,100 บาท หรือคิดเป็นไม่เกิน 15% เพื่อเป็นการต่อยอดทางธุรกิจ เพิ่มศักยภาพการเติบโต รวมถึงยังสอดคล้องกับ Strategic Investment ที่เรามีความสนใจในธุรกิจที่มี Touch point หรือ จุดบริการลูกค้าซือ้ สินค้า, Commerce และ Commercial service เป็นต้น โดยบริษัทฯ ได้ขายหุ้น SINGER ออกไปจำนวนมาก เพื่อลดความเสี่ยงจากความผันผวนอย่างสูงของตลาดหุ้นไทยในช่วง 1-2 เดือที่ผ่านมา

ทั้งนี้ บริษัทพร้อมจะกลับเข้าซื้ออีกครั้งเมื่อได้ราคาที่เหมาะสม เพื่อสร้างผลตอบแทนที่ดีต่อบริษัทและผู้ถือหุ้น หลังที่ประชุมผู้ถือหุ้นพร้อมใจสนับสนุนการลงทุนใน SINGER

นอกจากนี้ คณะกรรมการบริษัท ได้ประชุมวาระพิเศษ โดยมีมติอนุมัติจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลเป็นเงินสด ในอัตราหุ้นละ 0.16 บาท แทนการจ่ายเป็นหุ้นปันผลรวมเป็นเงินปันผลทั้งสิ้น ไม่เกิน 271 ล้านบาท โดยกาหนดรายชื่อผู้มีสิทธิได้รับปันผล (Record Date) ในวันที่ 15 พฤษภาคม 2566 และกาหนดจ่ายเงินปันผล วันที่ 22 พฤษภาคม 2566 ซึ่งการจ่ายเงินปันผลนี้ นอกจากจะทดแทนแผนการจ่ายเป็นหุ้นปันผลซึ่งไม่ผ่านมติผู้ถือหุ้นและยังช่วยป้องกันการเกิดไดลูชั่น หรือการลดมูลค่าของหุ้น โดยบริษัทได้พิจารณาถึงผลตอบแทนและรักษาผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นทุกรายเป็นหลัก

“บริษัทฯ ยืนยันเป้าหมายรายได้ในปี 2566 คาดเติบโต 20,000 ล้านบาท หรือ 400% จากปี 2565 โดยทุกธุรกิจของบริษัทฯ จะมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งแบ่งออกเป็นรายได้จากธุรกิจต่างๆ ดังนี้ ธุรกิจ Machine/Kiosk ประมาณ 2,900 ล้านบาท ธุรกิจ Consumer Merchandising ประมาณ 3,200 ล้านบาท ธุรกิจ Drop-Off Shop & Service ประมาณ 3,300 ล้านบาท ธุรกิจ Solution & Platform ประมาณ 3,500 ล้านบาท ธุรกิจ Financial Service ประมาณ 1,000 ล้านบาทและธุรกิจ Innotainment & Infrastructure ประมาณ 6,000 ล้านบาท” นายชูเกียรติ กล่าว