ความจริงความคิด : ความเสี่ยงมนุษย์เงินเดือน

โดย…สาธิต บวรสันติสุทธิ์, CFP นักวางแผนการเงิน

หากเรามาพิจารณาความเสี่ยงจากสมการของความเสี่ยง

ขนาดความเสี่ยง = โอกาสที่จะเกิดเหตุการณ์นั้นเกิดขึ้น * ขนาดของความเสียหายเมื่อเหตุการณ์นั้นเกิดขึ้น

ในพิจารณาว่าเราควรจะบริหารจัดการความเสี่ยงไหนดี ก็ต้องพิจารณาความคุ้มค่าของการบริหารความเสี่ยงว่าคุ้มค่าหรือไม่ เพราะ “ของฟรีไม่มีในโลก” หรือที่ฝรั่งชอบพูดกัน
“No free lunch” อย่างเช่น คนสูงอายุหลายคนก็อยากซื้อประกันสุขภาพ เพราะร่างกายเริ่มแก่ เริ่มมีปัญหาสุขภาพ แต่เมื่อเจอกับค่าเบี้ยประกันสุขภาพที่แสนแพง สุดท้ายตัดสินใจ “ตายเอาดาบหน้า” ดีกว่า

ดังนั้น ในการบริหารความเสี่ยง เราจึงมักเลือกบริหารความเสี่ยงที่เป็นอันตรายมากสุดเป็นอันดับแรก แล้วความเสี่ยงที่เป็นอันตรายมากน้อย เราจะให้น้ำหนักกับอะไรมากกว่ากัน ระหว่าง “โอกาสที่จะเกิดเหตุการณ์นั้นเกิดขึ้น” กับ “ขนาดของความเสียหายเมื่อเหตุการณ์นั้นเกิดขึ้น” เพื่อจะตอบคำถามนี้ เรามาดูปรากฎการณ์ Covid119 ที่เกิดกับเราดีกว่า

Covid19 ที่เกิดในบ้านเรามี 2 สายพันธุ์ใหญ่ๆ คือ Delta กับ Omicron ถามว่า เรากลัวตัวไหนมากกว่ากัน คำตอบคือ เรากลัว Delta มากกว่า ถามใหม่ ตัวไหนติดง่ายกว่ากัน คำตอบคือ Omicron แล้วทำไม Omicron ติดง่ายกว่า Delta แต่เรากลับกลัว Delta มากกว่า Omicron เหตุผลก็เพราะ Delta ติดแล้วมีโอกาสตายเยอะ แต่ Omicron ติดง่ายกว่าก็จริง แต่มีโอกาสตายน้อย เราจึงกลัว Delta มากกว่า Omicron แสดงว่า คนเราจะให้คำสำคัญกับ “ขนาดของความเสียหาย” มากกว่า “โอกาส”

หากเรามองเฉพาะความเสี่ยงที่มี “ขนาดความเสียหาย” มาก ก็จะแบ่งความเสี่ยงที่ได้เป็น 2 แบบ คือ

• ความเสี่ยงที่มีโอกาสเกิดน้อย เราเรียกความเสี่ยงแบบนี้ว่า “หงส์ดำ” (Black Swan)
• ความเสี่ยงที่มีโอกาสเกิดมาก เราเรียกความเสี่ยงแบบนี้ว่า “แรดเทา” (Gray Rhino)

การเปรียบเปรยความเสี่ยงที่มีโอกาสเกิดน้อย แต่ขนาดความเสียหายมากว่า “หงส์ดำ” มีที่มาจากหนังสือดังของโลก ชื่อ “The Black Swan” (2007) เขียนโดยศาสตราจารย์ทางสถิติ และความเสี่ยงชื่อ Nassim Nicholas Taleb โดยเปรียบเปรยกับเหตุการณ์ในอดีตที่มนุษย์รู้จักแต่หงส์ขาวมาเป็นเวลานับพันปีตั้งแต่สมัยโรมัน แต่ไม่เคยพานพบหงส์ดำเลยจนกระทั่งนักเดินเรือชื่อ Willem de Vlamingh พบหงส์ดำที่ Swan River ในรัฐออสเตรเลียตะวันตกในปี ค.ศ. 1691 การไม่พบหงส์ดำมาก่อนมิได้หมายความว่ามันไม่มีอยู่ในโลก มันมีอยู่เพียงแต่เราไม่เคยคาดมาก่อนว่าจะพบมัน ซึ่งก็เปรียบเสมือนกับการเกิดขึ้นของเหตุการณ์หรือสถานการณ์ที่มีผลกระทบอย่างใหญ่หลวงอย่างไม่คาดคิดเลยแม้แต่น้อย เพราะมีความเป็นไปได้ต่ำมาก

ส่วน “แรดเทา” มีที่มาจากงานประชุมของ World Economic Forum ในปี 2013 นักวิเคราะห์นโยบายและนักเขียนชาวอเมริกันวัย 50 ปี ได้เปรียบเปรย “แรดสีเทา” แทนเหตุการณ์หรือสถานการณ์ที่มีผลกระทบอย่างใหญ่หลวง หรือโดยมีโอกาสที่จะเกิดขึ้นสูงมาก เพียงแต่ผู้รับผิดชอบแยกแยะไม่ออก มองไม่เห็นอาการหรือสัญญาณ หรือเห็นแต่คิดว่าไม่สำคัญ เหตุผลก็เพราะแรดมีสองสีคือขาว (เผือก) และดำ แต่ในความเป็นจริงแล้วแรดทั้งหมดดูคล้ายกันเป็นสีเทาแยกแยะยาก เปรียบเสมือนการเกิดขึ้นของเหตุการณ์ที่แยกแยะไม่ออก

สรุป “หงส์ดำ” กับ “แรดเทา” เหมือนและต่างกันตรงที่ทั้งสองก่อให้เกิดผลกระทบได้อย่างกว้างขวางเหมือนกัน แต่ “หงส์ดำ” นั้นมีโอกาสเกิดได้ต่ำมากและเราไม่สามารถทำอะไรกับมันก่อนได้ ดังนั้นจึงอยู่ในฐานะ “ผู้ต้องยอมรับ” แต่ “แรดเทา” นั้นมีโอกาสในการเกิดสูงมากและสามารถป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นได้

เมื่อทั้ง “หงส์ดำ” และ “แรดเทา” เป็นความเสี่ยงที่มีขนาดความเสียหายรุนแรงมาก หากเราต้องเลือกบริหารความเสี่ยงเพียงอย่างเดียว เราจะเลือกบริหาร “หงส์ดำ” หรือ “แรดเทา” ดี?

คำตอบคือ เลือกบริหาร “แรดเทา” ดีกว่า เพราะโอกาสเกิดเยอะกว่า ดังนั้นแล้วเรามาดูกันนะว่าในฐานะ “มนุษย์เงินเดือน” เรามีความเสี่ยงแบบ “แรดเทา” คือ มีโอกาสเกิดเยอะ และเมื่อเกิดแล้วขนาดความเสียหายเยอะด้วย หลายคนอาจนึกถึง “การว่างงาน” อย่างเดียว แต่จริงๆแล้ว มนุษย์เงินเดือนมีความเสี่ยงแบบ “แรดเทา” มากกว่าแค่ “ว่างงาน” ดังนี้

1. ว่างงาน

2. ประสบอันตราย/เจ็บป่วย

3. คลอดบุตร

4. สงเคราะห์บุตร

5. ทุพพลภาพ

6. เสียชีวิต

7. ชราภาพ

ข่าวร้าย คือ “ทำไมมนุษย์เงินเดือนมีความเสี่ยงแบบแรดเทาเยอะจัง?” แต่ข่าวดีก็คือ มนุษย์เงินเดือนมี “ประกันสังคม” ที่คุ้มครองความเสี่ยงทั้ง 7 อย่าง ขณะที่คนกลุ่มอื่นไม่มี และขอบอกอีกอย่าง ก็คือ
“ประกันสังคมเป็นประกันที่ดีที่สุดในโลก เบี้ยถูกสุด สิทธิประโยชน์สูงสุด”

 

 

แต่ก็แปลกมาก ที่มนุษย์เงินเดือนหลายคนที่ผมเคยคุยด้วย จ่ายเงินสมทบเข้าประกันสังคมทุกเดือนๆละ 750 บาท ปีหนึ่งก็เท่ากับ 9,000 บาท แถมมีเงินที่นายจ้างจ่ายสมทบอีก 9,000 บาท แต่กลับไม่เคยใช้สิทธิประโยชน์จากประกันสังคมเลย เอาง่ายๆ ตอนว่างงาน หลายคนก็ไม่เคยขอเงินทดแทนกรณีว่างงาน หรือ อย่างเจ็บไข้ได้ป่วย ก็ไม่เคยใช้สวัสดิการรักษาพยาบาลจากประกันสังคมเลย