คาด Q1/66แบงก์ฟาดกำไร 5.45-5.7 หมื่นล. กสิกรฯชี้ ROE สูงขึ้น ห่วงหนี้เสียเพิ่ม

HoonSmart.com>>ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดธนาคารพาณิชย์โชว์กำไรไตรมาส 1/66 โต จากตั้งสำรองหนี้ลดลง คาด NPLs ทรงตัวอยู่ที่กรอบ 2.70-2.75% ส่วนต่างดอกเบี้ย(NIM) เพิ่มขึ้นเป็น  3.05-3.17% ดีต่อเนื่องในไตรมาสที่ 2 จับตาแบงก์ปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้-เงินฝาก กระทบต่อคุณภาพสินเชื่อ อาจเพิ่มแรงกดดันต่อลูกหนี้บางกลุ่ม ต้องเร่งจัดการปัญหาคุณภาพสินเชื่อ ผ่านปรับโครงสร้างหนี้ระยะยาว ควบคู่กับการตัดขาย บล.ทิสโก้คาดแบงก์กำไรโตดี แนะนำแบงก์ใหญ่ BBL (เป้าพื้นฐาน 173 บ.) และ KBANK (เป้าพื้นฐาน 160 บ.) นักลงทุนแห่เก็บหุ้นแบงก์รับเงินปันผลสูง

บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทยวิเคราะห์กลุ่มธนาคารพาณิชย์ในไตรมาสที่ 1/2566 คาดว่ากำไรสุทธิของระบบแบงก์จะอยู่ที่ระดับประมาณ 5.45-5.70 หมื่นล้านบาท  เนื่องจากอัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์เฉลี่ย ( ROA) อาจขยับขึ้นไปที่กรอบ 1.00-1.05% สูงขึ้นเมื่อเทียบกับระดับ ROA ที่ 0.89% ในไตรมาส 4/2565 และสินเชื่ออาจเติบโตในกรอบที่ชะลอลงมาที่ 1.9-2.3%จากค่ากลาง 2.0% YoY) และจาก 2.7% YoY ในไตรมาส 4/2565

อย่างไรก็ดี คาดว่าผลตอบแทนจากการปล่อยสินเชื่อยังคงขยับสูงขึ้นตามการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของธนาคารพาณิชย์ 2 ครั้ง จะสนับสนุนให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย (NIM) ขยับสูงขึ้นไปอยู่ที่กรอบประมาณ 3.05-3.17%จากระดับประมาณ 3.03% ในไตรมาส 4/2565 ที่ผ่านมา เนื่องจากประเมินว่า สินเชื่อคงค้างประมาณ 67.5% ของพอร์ตสินเชื่อระบบแบงก์ไทยจะเข้าสู่ช่วงการปรับดอกเบี้ยในระหว่างไตรมาสที่ 1 ขณะที่ในฝั่งเงินฝากธนาคารพาณิชย์ส่วนใหญ่ไม่มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากกระแสรายวันและออมทรัพย์(CASA) ซึ่งมีสัดส่วนราว 73.0% ของพอร์ต โดยมีการปรับขึ้นเฉพาะในส่วนของอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 3 เดือนขึ้นไปและเงินฝากแคมเปญพิเศษเท่านั้น  แนวโน้ม NIM ยังมี 3 โอกาสขยับขึ้นไปอยู่สูงกว่าระดับ 3.20% ในไตรมาส 2 เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ยังคงมีแนวโน้มขยับขึ้นต่อตามรอบการปรับขึ้นดอกเบี้ยของกนง. 29 มี.ค. 2566 (ซึ่งล่าสุด ณ 10 เม.ย. 2566 มีแบงก์ไทยเพียง 2 แห่งที่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยไปแล้ว) และน่าจะมีรอบการปรับดอกเบี้ยแบงก์อีกครั้งหลังรอบการประชุม กนง. 31 พ.ค. 2566

ทั้งนี้ ธนาคารพาณิชย์ส่วนใหญ่มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้รวมทั้งสิ้น 2 ครั้ง รอบแรกเกิดขึ้นต้นปี 2566 ซึ่งเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย MLR/MOR/MRR ประเภทละ 0.40% ตามการปรับอัตราเงินนำส่งเข้ากองทุนฟื้นฟู( FIDF) กลับไปสู่ระดับปกติและครั้งที่สองรอบตามหลังการประชุมกนง. วันที่ 25 ม.ค. 2566 โดยส่วนใหญ่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยMLR/MOR/MRR ประมาณ 0.20% 0.15% และ 0.10% ตามลำดับ ซึ่งน้อยกว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ขยับขึ้น 0.25% ต่อปี

ล่าสุดธนาคารไทยพาณิชย์นำการปรับขึ้นดอกเบี้ยทั้งงเงินฝากและเงินกู้หลังกนง.ปรับขึ้น 0.25% เมื่อเดือนมี.ค. และธนาคารกรุงเทพ (BBL)  ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก 0.05-0.30% พร้อมขึ้นดอกเบี้ยงินกู้ 0.05-0.20% มีผลตั้งแต่ 11 เม.ย.66

“เรื่องคุณภาพสินเชื่อยังเป็นประเด็นที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะอัตราดอกเบี้ยที่ทยอยปรับขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง อาจเพิ่มแรงกดดันต่อลูกหนี้บางกลุ่ม คาดว่าสัดส่วน NPLs จะทรงตัวอยู่ที่กรอบ 2.70-2.75% ต่อสินเชื่อรวม ใกล้เคียงกับ 2.73% ในไตรมาส 4  ที่ผ่านมา แม้ทิศทางเศรษฐกิจจะเริ่มฟื้นตัว ระดับสำรองฯ อาจชะลอลงบ้าง จากที่สำรองฯ ก้อนใหญ่ไปแล้วในช่วงปลายปี 2565 แต่ก็จะไม่ลดลงเร็วมากนัก คาดว่า สัดส่วนการตั้งสำรองต่อสินเชื่อหรือCredit Cost อาจจะขยับลงมาได้บ้าง มาอยู่ที่กรอบ  1.17-1.25% หลังจากที่ขยับขึ้นไปแตะ 1.46% ในไตรมาส 4/2565 จากผลของการเร่งสำรองฯ ของบางธนาคารเพื่อรองรับกับความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจและแบงก์ก็จะยังต้องเร่งจัดการปัญหาคุณภาพของสินเชื่อ ผ่านแนวทางการปรับโครงสร้างหนี้ระยะยาว ควบคู่กับการตัดขาย เพื่อประคองระดับสินเชื่อด้อยคุณภาพในภาพรวม”บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุ

สถานการณ์สินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยยังคงมีภาพที่แตกต่างเนื่องจากมีปัจจัยกดดันจากการทยอยชำระคืนสินเชื่อทั้งภาครัฐและภาคเอกชน โดยในไตรมาสแรก น่าจะมีการทยอยกลับมาจ่ายคืนหนี้ของกลุ่มลูกหนี้ที่ออกจากมาตรการช่วยเหลือของสถาบันการเงิน ประกอบกับภาพจากตลาดหุ้นกู้สะท้อนว่า ภาคธุรกิจมีการออกหุ้นกู้มากขึ้น เพื่อล็อกต้นทุนทางการเงินและนำเงินมาชำระคืนสินเชื่อในช่วงจังหวะที่ ดอกเบี้ยธนาคารพาณิชย์ทยอยปรับตัวขึ้นตามทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบาย จากแรงกดดันของการชำระคืนสินเชื่อและฐานเปรียบเทียบที่สูงในช่วงเดียวกันปีก่อน

แม้รายได้จากธุรกิจหลักจะทยอยมีสัญญาณฟื้นตัว แต่แบงก์ยังคงต้องเฝ้าระวังปัญหาการไถลลงของคุณภาพสินเชื่ออย่างใกล้ชิด เพราะอัตราดอกเบี้ยที่ทยอยปรับขึ้นมาอย่างต่อเนื่องอาจเพิ่มแรงกดดันต่อลูกหนี้บางกลุ่ม อาทิ ลูกหนี้รายย่อยและผู้ประกอบการธุรกิจขนาดเล็ก รวมไปถึงลูกหนี้ที่เพิ่งออกจากมาตรการช่วยเหลือของสถาบันการเงิน คงต้องยอมรับว่า สถานการณ์รายได้และกระแสรายรับของลูกหนี้ที่ยังอยู่ในช่วงแรกเริ่มของการฟื้นตัวและยังไม่กลับสู่ระดับปกติเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ส่งผล กระทบทำให้ความสามารถในการรองรับแรงกดดันจากการขยับสูงขึ้นของภาระต้นทุนทางการเงินของลูกหนี้กลุ่มนี้มีค่อนข้างจำกัด  จึงต้องเร่งจัดการปัญหาคุณภาพของสินเชื่อผ่านแนวทางการปรับโครงสร้างหนี้ระยะยาว ควบคู่กับการตัดขาย เพื่อประคองระดับสินเชื่อด้อยคุณภาพในภาพรวม

นอกจากนี้แนวโน้มระยะข้างหน้า คงต้องติดตามแนวทางการเข้ามาดูแลโครงสร้างค่าธรรมเนียมของทางการเพื่อดูแลและสร้างความเป็นธรรมให้กับผู้ใช้บริการทาง
การเงิน ซึ่งเป็นโจทย์ที่ยากและทำให้แบงก์คงต้องเตรียมปรับตัวเพื่อรับมือกับแนวโน้มที่รายได้ค่าธรรมเนียมและบริการอาจมีกรอบการเติบโตที่ค่อนข้างจำกัดในอนาคต

ด้านบล.ทิสโก้คาดกำไรสุทธิ ไตรมาสแรกของธนาคารพาณิชย์ภายใต้การวิเคราะห์ รวมอยู่ที่ 5.29 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 6% YoY และ 37% QoQ ฟื้นตัวแข็งแกร่งจากไตรมาสก่อน อานิสงส์จากต้นทุนเครดิตที่ลดลง (-16% QoQ) คาด NPLs ทรงตัว ขณะที่รายได้จากดอกเบี้ยสุทธิคาดจะยังเติบโตดีจากการขยายตัวของส่วนต่างดอกเบี้ยสุทธิ (NIM)แม้เงินเฟ้อจะเริ่มชะลอตัวลง แต่ยังคาดว่า กนง.จะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% ในการประชุมวันที่ 31 พ.ค.สู่ระดับ 2.00%  ในเชิงกลยุทธ์สำหรับไตรมาสนี้ แนะนำหุ้นแบงก์ใหญ่ BBL (เป้าพื้นฐาน 173 บ.) และ KBANK (เป้าพื้นฐาน 160 บ.)

สำหรับการซื้อขายหุ้นธนาคาร วันที่ 11 เม.ย. ปรับตัวขึ้นส่วนใหญ่ นำโดยธนาคารกรุงไทย (KTB)  ธนาคารกสิกรไทย(KBANK)  SCB และ BBL ที่จะขึ้นเครื่องหมาย XD หลังเทศกาลสงกรานต์ เช่น KTB และ KBANK จะขึ้น XD วันที่ 17 เม.ย.รับสิทธิเงินปันผลหุ้นละ 0.682 บาท และ 3.50 บาทตามลำดับ