HoonSmart.com>>”โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่(GPSC) ประกาศชัยชนะของบริษัทร่วมทุน Avaada Energy คว้าโครงการโซลาร์ กำลังการผลิต 421 เมกะวัตต์ ดันกำลังการผลิตในประเทศอินเดียพุ่งสูงกว่า 5,000 เมกะวัตต์ เดินหน้าสู่เป้าหมายผลิตพลังงานสะอาดมากกว่า 50% ในปี’73 หนึ่งในกลยุทธ์เติบโต พัฒนานวัตกรรมพลังงานอย่างยั่งยืน รุกแสวงหาโอกาสและเทคโนโลยีในการพัฒนาพลังงานสะอาดในต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง ด้าน”บีซีพีจี(BCPG)” มั่นใจ โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม “มอนซูน” ใน สปป.ลาว เดินหน้าก่อสร้างเต็มสูบ รับเงินกู้งวดแรกจากแบงก์เอดีบี โครงการสีเขียวช่วยลดโลกร้อนและยกระดับคุณภาพชีวิตคนในสปป.ลาว “ราช กรุ๊ป(RATCH)” ประสบความสำเร็จจัดหาเงินกู้สีเขียวประมาณ 495 ล้านเหรียญออสเตรเลีย เพื่อปรับโครงสร้างหนี้โครงการพลังงานทดแทน 3 แห่งในออสเตรเลีย
นายวรวัฒน์ พิทยศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) แกนนำนวัตกรรมธุรกิจไฟฟ้ากลุ่ม ปตท. เปิดเผยว่า บริษัท อวาด้า เอนเนอร์ยี่ ไพรเวท บริษัทในกลุ่มอวาด้า (Avaada Group) ซึ่งเป็นผู้ดำเนินธุรกิจพลังงานหมุนเวียนชั้นนำในประเทศอินเดีย โดย GPSC ถือหุ้นในสัดส่วน 42.93% ผ่านบริษัท โกลบอล รีนิวเอเบิล ซินเนอร์ยี่ ประสบความสำเร็จในการชนะการประมูลโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ที่มีระบบการเชื่อมต่อ กับ ISTS ขนาด 421 เมกะวัตต์ (DC) ของ REC Power Development and Consultancy’s (RECPDCL) องค์กรที่ทำหน้าที่นเปิดประมูลแทน Damodar Valley Corporation (DVC) หน่วยงานของรัฐบาลกลางอินเดีย นับเป็นโครงการขนาดใหญ่อีกหนึ่งโครงการที่รัฐบาลกลางอินเดียให้ความสำคัญ เพื่อจะผลักดันให้เกิดการใช้พลังงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้นภายในประเทศ
การชนะประมูลครั้งนี้ ผ่านการคัดเลือกจากการเสนอราคาในรูปแบบ e-Reverse auctionซึ่งอวาด้าเสนอราคาที่ 2.70 รูปีอินเดีย/กิโลวัตต์ชั่วโมง หรือ (~USD 0.03) ตามเงื่อนไขการประมูลซึ่งจะมีการลงนามซื้อขายไฟฟ้า หรือ PPA ที่มีอายุสัญญารับซื้อเป็นเวลา 25 ปี โดยแผนการดำเนินโครงการต้องให้แล้วเสร็จภายใน 18 เดือน คาดว่าจะผลิตไฟฟ้าได้ประมาณ 750 ล้านหน่วยต่อปี สามารถจ่ายไฟฟ้าครอบคลุมภาคครัวเรือน ประมาณ 5 แสนครัวเรือนด้วยพลังงานสะอาด และยังมีส่วนสำคัญต่อการลดการปล่อย CO2 สู่ชั้นบรรยากาศเทียบเท่า 698,250 ตันต่อปี
นาย Vineet Mittal ประธานกลุ่มอวาด้า กล่าวว่า อินเดียเป็นตลาดพลังงานที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะพลังงานหมุนเวียน ด้วยเป้าหมายที่จะเดินหน้าไปสู่สังคมสีเขียว ทำให้บริษัทฯ มีความมั่นใจที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการมีส่วนร่วมพัฒนาพลังงานสะอาดให้กับประเทศอินเดีย และเป็นเครื่องยืนยันว่าจะพัฒนาพลังงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมที่มีความยั่งยืนเพื่อส่งต่อให้กับคนรุ่นใหม่ต่อไป การชนะประมูลในครั้งนี้ นับเป็นชัยชนะที่มีความสำคัญ เพื่อเป็นการตอกย้ำว่าเราให้ความสำคัญในการแสวงหาเทคโนโลยี และพัฒนาพลังงานสะอาดในประเทศอินเดีย และสังคมโลก เพื่อตอบสนองความมั่นคงด้านพลังงานในระยะยาว”
“การชนะการประมูลดังกล่าว เป็นการยืนยันความสำเร็จของ Avaada และ GPSC ในการเป็นพันธมิตรทางธุรกิจร่วมกันในการขยายกำลังการผลิตเพื่อตอบโจทย์ความต้องการพลังงานหมุนเวียนในประเทศอินเดีย เพื่อเดินหน้าสู่เป้าหมายของการเพิ่มสัดส่วนการผลิตพลังหมุนเวียนอย่างต่อเนื่อง นำไปสู่การใช้พลังงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม พร้อมกับการพัฒนาธุรกิจสู่ความยั่งยืนและเป็นไปตามเป้าหมายของ GPSC ในการเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนของบริษัทฯ ให้มากกว่า 50% ภายในปี 2573” นายวรวัฒน์ กล่าว
ด้านนายนิวัติ อดิเรก ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท บีซีพีจี (BCPG) ในฐานะผู้ถือหุ้นทางอ้อมของบริษัท มอนซูน วินด์ พาวเวอร์ซึ่งดำเนินการโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม “มอนซูน” ขนาด 600 เมกะวัตต์ ที่แขวงเซกอง และแขวงอัตตะปือ ใน สปป. ลาว ว่า ขณะนี้โครงการฯ ได้ลงนามในสัญญาเงินกู้กับธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB)และกลุ่มธนาคารที่ให้การสนับสนุนผ่านเอดีบีเรียบร้อยแล้วและได้ลงนามกับรัฐบาล สปป.ลาว สัญญาสัมปทาน (Concession Agreement) ในการใช้พื้นที่ดำเนินโครงการฯ และสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (Power Purchase Agreement) ของโครงการฯ ที่ได้ลงนามกับการไฟฟ้าแห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม (EVN) ได้มีผลบังคับใช้สมบูรณ์แล้ว โดยโครงการฯ พร้อมรับเงินกู้งวดแรกตามสัญญาเงินกู้ และกำลังดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้าตามแผนงานที่กำหนด ซึ่งบริษัทฯ มั่นใจว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จ และสามารถเปิดดำเนินการขายไฟฟ้าให้กับ EVN ได้ในปี 2568 ภายใต้สัญญาซื้อขายไฟฟ้าเป็นระยะเวลาทั้งสิ้น 25 ปี กับการไฟฟ้าเวียดนามอย่างแน่นอน
“โครงการ “มอนซูน” ถือเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานสีเขียวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สามารถลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ไม่น้อยกว่า 750,000 ตันคาร์บอนเทียบเท่าต่อปี จึงเป็นโครงการที่สร้างความยั่งยืนและสนับสนุนภารกิจสำคัญในระดับโลก ที่จะ บรรลุการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Greenhouse Gas Emissions) ในปี 2050 ขณะเดียวกันโครงการฯ ยังสร้างความเจริญให้กับสปป.ลาวในพื้นที่โดยรอบและยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับคนในชุมชนพร้อมๆ กับเพิ่มศักยภาพในการเติบโตทางเศรษฐกิจให้กับสปป.ลาว เวียดนาม และประเทศเพื่อนบ้าน” นายนิวัติกล่าวเพิ่มเติม
สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม “มอนซูน” เป็นโรงไฟฟ้าพลังงานลมที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียในขณะนี้ และเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานลมแห่งแรกที่มีการซื้อขายไฟฟ้าข้ามพรมแดน ระหว่าง สปป.ลาว และเวียดนาม ผ่านสายส่งขนาด 500 กิโลโวลต์
โครงการฯ มีผู้ถือหุ้นหลักประกอบด้วย บริษัท บีซีพีจี , ACEN Renewables International Pte. Ltd., Diamond Generating Asia, Limited (บริษัท ในกลุ่มของ Mitsubishi Corporation), Impact Electron Siam Co., Limited, STP&I Public Company Limited, SMP Consultation Sole Company Limited.
บริษัท ราช กรุ๊ป (RATCH) ประสบความสำเร็จในการจัดหาเงินกู้สีเขียว ประมาณ 495 ล้านเหรียญออสเตรเลีย เพื่อปรับโครงสร้างหนี้โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน 3 แห่งในออสเตรเลีย ได้แก่ โรงไฟฟ้าพลังงานลมคอลเล็กเตอร์ ขนาดกำลังการผลิต 226.8 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าพลังงานลมเมาท์เอเมอรัลด์ ขนาดกำลังการผลิต 180.5 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์คอลลินส์วิลล์ ขนาดกำลังการผลิต 42.5 เมกะวัตต์ ธุรกรรมดังกล่าวดำเนินการผ่านบริษัทย่อยที่ถือหุ้นทั้งหมด คือ บริษัท ราช-ออสเตรเลีย คอร์ปอเรชั่น (RAC) ซึ่งตั้งอยู่ในออสเตรเลีย ภายใต้กรอบการเงินสีเขียว (Green Finance Framework) ของ RAC ซึ่งสอดคล้องกับหลักการตราสารหนี้เพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (Green Bond Principle) ของ International Capital Market Association และหลักการการกู้ยืมสีเขียว (Green Loan Principle) ของ Loan Market Association
สำหรับบริษัท ราช-ออสเตรเลีย คอร์ปอเรชั่น ดำเนินธุรกิจผลิตไฟฟ้าในออสเตรเลีย โดยพอร์ตการลงทุนปัจจุบัน มีกำลังการผลิตติดตั้งรวม 1.2 กิกะวัตต์ ความสำเร็จในการปรับโครงสร้างหนี้ครั้งนี้ นอกจากจะช่วยสถานะทางการเงินให้แข็งแกร่งแล้ว ยังช่วยเพิ่มศักยภาพของ RAC ให้สามารถขยายการลงทุนได้เพิ่มมากขึ้นด้วย
เงินกู้สีเขียวดังกล่าวนี้ ได้รับรางวัล IJGlobal Awards 2022 ประเภท “Refinance Deal of the Year – Portfolio” ของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เนื่องจากเป็นธุรกรรมจัดหาเงินกู้เพื่อนำไปชำระคืนหนี้พอร์ตลงทุนโครงการพลังงานทดแทนและประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีอันเป็นผลมาจากราช กรุ๊ป ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นของ RAC มีฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง นอกเหนือจากนี้ โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำอาซาฮาน-1 ประเทศอินโดนีเซีย กำลังการผลิตติดตั้ง 180 เมกะวัตต์ ซึ่งบริษัทฯ ถือหุ้นทางอ้อมร้อยละ 47.89 ยังได้รับรางวัล “Refinance Deal of the Year – Hydropower” จาก IJGlobal Awards 2022 ด้วย