บลจ.ยูโอบี : คาร์บอนเครดิตต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน

โดย…บลจ.ยูโอบี (ประเทศไทย)

ความเป็นมา

เป็นเวลาหลายทศวรรษมาแล้วที่การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่รุนแรง (Climate Change Extreme Weather) เป็นปัญหาใหญ่ที่ส่งผลกระทบกระทบต่อชีวิตเราทุกคน สภาวะอากาศที่เปลี่ยนไปเกิดจากโครงสร้างอากาศที่ผิดแปลกไปจากเดิม โดยสาเหตุหลักเกิดจากการเพิ่มขึ้นของการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gas Emission) ซึ่งส่วนใหญ่มาจากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดจากการเผาไหม้ของถ่านหิน น้ำมันเชื้อเพลิง และก๊าซ จากกิจกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์ เช่น การผลิตไฟฟ้า การคมนาคม อุตสาหกรรม และการทำลายป่าไม้ ส่งผลให้ชั้นบรรยากาศโลกมีอุณหภูมิเฉลี่ยที่สูงขึ้น และเป็นที่มาของสภาวะโลกร้อน (Global Warming)

ในขณะที่ปัจจุบันการตระหนักถึงผลเสียของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นประเด็นสำคัญที่ได้รับความสนใจจากองค์กรต่าง ๆ ทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Intergovernmental Panel on Climate Change หรือ IPCC) ที่ก่อตั้งขึ้นโดยสหประชาชาติ ได้กำหนดมาตรการเกียวโต (Kyoto Protocol) ขึ้นเมื่อปี 2540 โดยมีสาระสำคัญ คือ การกำหนดโควต้าการปล่อยก๊าซคาร์บอนสำหรับประเทศต่าง ๆ ที่เป็นสมาชิก เพื่อพยายามควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลก ซึ่งมาตรการที่สำคัญนี้ ส่งผลให้เกิดการพัฒนาการลดการปล่อยมลพิษในรูปแบบการซื้อขาย “คาร์บอนเครดิต”

คาร์บอนเครดิตคืออะไร

คาร์บอนเครดิต หรือ Carbon Offsets เป็นเครื่องมือทางการเงินที่ถูกพัฒนาขึ้น โดยมีเป้าหมายหลัก คือ การลดภาวะโลกร้อนจากการปล่อยก๊าซคาร์บอนหรือก๊าซเรือนกระจกอื่น ๆ จากภาคอุตสาหกรรม โดยการนำคาร์บอนเครดิตไปชดเชยการปล่อยก๊าซคาร์บอนจากการที่บริษัทใช้ไฟฟ้า เชื้อเพลิง หรือพลังงานอื่น ๆ ซึ่งคาร์บอนเครดิตจะช่วยให้บริษัทต่าง ๆ สามารถควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกไม่ให้เกินกว่าปริมาณที่ถูกกำหนดไว้ โดยหน่วยของคาร์บอนเครดิต 1 หน่วยจะอนุญาตให้ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซค์หรือก๊าซเรือนกระจกอื่น ๆ จำนวน 1 ตัน

คาร์บอนเครดิตทำงานอย่างไร

คาร์บอนเครดิตมีการทำงานด้วยระบบ ‘Cap and Trade’ เริ่มจากแนวคิดที่ใช้กลไกตลาดในการสร้างแรงจูงใจให้กับบริษัทต่าง ๆ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก กล่าวคือ ในกรณีที่บริษัทมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปริมาณที่เกินกว่าเกณฑ์ที่กำหนด บริษัทจะถูกเรียกค่าปรับ ซึ่งถือเป็นต้นทุนและค่าใช้จ่ายของบริษัทที่เพิ่มขึ้น ในทางตรงกันข้ามหากบริษัทสามารถควบคุมให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้ บริษัทสามารถเก็บคาร์บอนเครดิตส่วนที่เหลือไว้ใช้ภายหลัง หรือสามารถนำมาขายให้กับบริษัทอื่นที่มีการปล่อยคาร์บอนเกินกว่าที่กำหนด ซึ่งทำให้บริษัทมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการขายคาร์บอนเครดิตส่วนที่ไม่ได้ใช้ ดังนั้น คาร์บอนเครดิตถือเป็นเครื่องมือที่สำคัญที่ใช้บรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) เนื่องจากบริษัทสามารถซื้อคาร์บอนเครดิตเพื่อนำมาหักลบปริมาณการปล่อยคาร์บอนของบริษัทให้เท่ากับศูนย์ ซึ่งหมายถึง บริษัทสามารถกำจัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ทั้งหมด

ประเภทของคาร์บอนเครดิต

คาร์บอนเครดิต แบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลัก คือ 1) Voluntary Emissions Reduction (VER) เป็นการซื้อขายคาร์บอนเครดิตในตลาด Over-the-Counter (OTC) หรือตลาดภาคสมัครใจ และ 2) Certified Emissions Reduction (CER) เป็นการซื้อขายคาร์บอนเครดิตผ่านกรอบการกำกับดูแลที่เป็นมาตรฐานของโครงการกลไกการพัฒนาที่สะอาด (Clean Development Mechanism)[1]

ตลาดคาร์บอนเครดิต

ตลาดคาร์บอนเครดิต คือ ตลาดซื้อขายแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิตเพื่อนำไปชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสำหรับองค์กรที่ไม่สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ด้วยตนเอง ตลาดคาร์บอนเครดิตสามารถแบ่งออกได้ 3 ประเภท ได้แก่ 1) ตลาดภาคบังคับและสมัครใจ (Mandatory and Voluntary) 2) ตลาดจัดสรรและทดแทน (Allocation and Offset) และ 3) ตลาดสากลและภูมิภาค (International and Regional Markets)

ประเภทแรก ตลาดภาคบังคับจะถูกควบคุมด้วยกฎหมาย หรือเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกภาคบังคับที่มีผลผูกพันตามกฎหมาย ขณะที่ตลาดภาคสมัครใจไม่มีการบังคับทางกฎหมาย เกิดจากการบริหารงานด้านสภาพอากาศของผู้ประกอบการและองค์กรโดยสมัครใจ ประเภทที่ 2 ตลาดจัดสรร คือ ตลาดที่ซื้อขายปริมาณการปล่อยก๊าซที่ได้รับจัดสรรมาโดยภาครัฐให้กับอุตสาหกรรม ในขณะที่ตลาดทดแทนจะเกี่ยวข้องกับบริษัทหรือโครงการที่มีโอกาสในการลงทุนเพื่อที่จะทดแทนปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของตน และประเภทที่ 3 ตลาดสากล คือ ตลาดที่ซื้อขายคาร์บอนเครดิตระหว่างประเทศ ขณะที่ตลาดภูมิภาคจะจำกัดอยู่ในประเทศหรือเขตภูมิภาค

ตลาดคาร์บอนในประเทศไทยถูกจัดเป็นตลาดประเภทภาคสมัครใจ ตลาดทดแทน และตลาดภูมิภาค กล่าวคือ องค์กรต่าง ๆ มีการควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยความสมัครใจ ภาครัฐยังไม่มีการจัดสรรปริมาณการปล่อยก๊าซให้แก่ธุรกิจต่าง ๆ การซื้อขายคาร์บอนเครดิตจำกัดเฉพาะในประเทศผ่านโครงการลดก๊าซเรือนกระจกตามมาตรฐานของประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction Program: T-VER)

คาร์บอนเครดิตมีราคาเท่าไหร่

การประเมินมูลค่าของคาร์บอนเครดิตมีหลายวิธี เช่น การเคลื่อนไหวของตลาด (market dynamics) และค่าใช้จ่ายในการดำเนินการหรือการส่งมอบโครงการ ซึ่งราคาของคาร์บอนเครดิตนั้น จะแตกต่างกันขึ้นอยู่กับประเภท ขนาด อุปสงค์ อุปทาน และปัจจัยอื่น ๆ ของโครงการ ราคาของคาร์บอนเครดิตโลกในปี 2565 อยู่ระหว่าง 40 – 80 เหรียญสหรัฐฯ ต่อเมตริกตันของคาร์บอนไดออกไซค์เทียบเท่า (tCO2e) ซึ่งสูงขึ้นจาก 12.70 เหรียญสหรัฐฯ ต่อ tCO2e ในปี 2564 จากรายงานของ High-Level Commission on Carbon Prices ระบุว่าราคาของคาร์บอนเครดิตคาดว่าจะปรับขึ้นเป็น 50 – 100 เหรียญสหรัฐฯ ต่อ tCO2e ภายในปี 2573[2] ซึ่งเป็นผลมาจากความต้องการที่เพิ่มขึ้นจากสนธิสัญญาปารีส (Paris Agreement) ขององค์การสหประชาชาติที่ได้กำหนดเป้าหมายในการควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกเฉลี่ยอยู่ที่ 2 องศาเซลเซียส เมื่อเปรียบเทียบกับระดับก่อนยุคอุตสาหกรรม แต่เป้าหมายในอุดมคติ คือ 1.5 องศาเซลเซียส[3]

หากต้องการซื้อคาร์บอนเครดิต ต้องคำนึงถึงอะไรบ้าง

ปัจจัยที่สำคัญที่ควรพิจารณาเมื่อซื้อคาร์บอนเครดิต ประการแรก คือ ประเภทของโครงการ ประกอบด้วย 1) โครงการหลีกเลี่ยง (Avoidance Project) คือ โครงการหลีกเลี่ยงการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เช่น โครงการพลังงานหมุนเวียนเพื่อทดแทนการใช้พลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิล 2) โครงการถอดถอน (Removal Project) คือ โครงการกำจัดก๊าซเรือนกระจกไปจากชั้นบรรยากาศและจัดเก็บก๊าซอย่างถาวร ซึ่งมาจากการใช้เทคโนโลยีและวิธีทางธรรมชาติ ตัวอย่างเช่น การดูดก๊าซและจัดเก็บโดยตรง (Carbon Capture and Storage) และการปลูกต้นไม้ ตามลำดับ ประการที่ 2 โครงการนั้นได้รับการรับรองจากมาตรฐานระดับสากลหรือไม่ เช่น Gold Standard และ Verified Carbon Standard (VCS)

คาร์บอนเครดิตและเป้าหมายการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ

การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศถือเป็นวาระที่สำคัญและเร่งด่วน โดยเฉพาะในปี 2558 ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกกว่า 200 ประเทศได้ลงนามร่วมกันในสนธิสัญญาปารีส (Paris Agreement) เพื่อรับรองเป้าหมายในการควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกเฉลี่ย 2 องศาเซลเซียส เมื่อเปรียบเทียบกับระดับก่อนยุคอุตสาหกรรม และในอุดมคติ คือ 1.5 องศาเซลเซียส โดยการที่จะบรรลุเป้า 1.5 องศาเซลเซียสได้จะต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงร้อยละ 50 จากปริมาณในปัจจุบัน เพื่อบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2573 และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2593 ซึ่งส่งผลให้หลาย ๆ บริษัทตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาสภาพอากาศ และกำหนดเป้าหมาย Net Zero เพิ่มขึ้นถึง 4 เท่า จาก 500 บริษัท ในปี 2562 เป็น 2,000 กว่าบริษัท ในปี 2565[4]

อย่างไรก็ตาม พบว่าการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมีอุปสรรคบางประการ เช่น บางอุตสาหกรรมไม่สามารถลดการปล่อยก๊าซบางตัวได้ เทคโนโลยีในการลดการปล่อยก๊าซมีต้นทุนสูง การที่จะบรรลุเป้าหมาย Net Zero ของโลกได้นั้น บริษัทต่าง ๆ ต้องอาศัยความร่วมมือจากประเทศต่าง ๆ เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้มากที่สุด และจำเป็นต้องควบคุมและขจัดปริมาณก๊าซเรือนกระจกออกไปจากชั้นบรรยากาศให้อยู่ในระดับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกติดลบ


กราฟ 1 – การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทั่วโลก, กิกะตันของคาร์บอนไดออกไซด์ (GtCO2) ต่อปี
ที่มา: McKinsey & Company

ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา การซื้อขายคาร์บอนเครดิตเป็นวิธีที่นิยมมากที่สุดที่อุตสาหกรรมต่าง ๆ ใช้ในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนที่ไม่สามารถกำจัดออกไปได้ อีกทั้ง ความพยายามในการลดคาร์บอนจากประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกส่งผลให้ตลาดคาร์บอนเครดิตภาคสมัครใจมีการเติบโตขึ้นอย่างมาก โดย McKinsey & Company ประมาณการณ์ว่าการเติบโตของความต้องการคาร์บอนเครดิตของโลกจะขยายตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 1.5 – 2 กิกะตันของคาร์บอนไดออกไซด์ (GtCO2) ภายในปี 2573 และเพิ่มขึ้นเป็น 7 – 13 GtCO2 ภายในปี 2593 และคาดว่าในปี 2573 ขนาดตลาดคาร์บอนเครดิตภาคสมัครใจมีมูลค่าประมาณ 5 – 30 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ เป็นอย่างน้อย และอาจสูงเกินกว่า 50 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ

แนวโน้มของตลาดคาร์บอนเครดิตภาคสมัครใจ

เมื่อเร็ว ๆ นี้ การประชุม COP27 หรือ การประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change Conference of the Parties หรือ UNFCCC COP) ครั้งที่ 27 ที่ประเทศอียิปต์ พบว่า การหารือของประเทศสมาชิกในเรื่องมาตรฐานและกฎเกณฑ์ด้านการค้าคาร์บอนเครดิตในตลาดภาคสมัครใจนั้น ยังคงมีความคลุมเครือและไม่สามารถหาข้อสรุปได้ เนื่องจากยังไม่มีกฎหมายการเทรดคาร์บอนเครดิตระหว่างประเทศ

อย่างไรก็ตาม ตลาดคาร์บอนเครดิตภาคสมัครใจเริ่มมีความซับซ้อนและมีพลวัตมากขึ้น ในขณะที่ความต้องการคาร์บอนเครดิตคาดว่าจะสูงขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากความต้องการที่บรรลุเป้าหมายขององค์กรทางด้าน Carbon Neutrality และ Net Zero ส่งผลให้ราคาคาร์บอนเครดิตปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมาก และคาดว่าจะสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในอนาคต จากการสำรวจโดย Taskforce on Scaling Voluntary Carbon Markets หรือ TSVC พบว่า ปริมาณและราคาคาร์บอนเครดิตที่ซื้อขายกัน คาดว่าจะก้าวกระโดดเป็น 3.6 GtCO2 และ 54 เหรียญสหรัฐฯ ต่อ tCO2e ภายในปี 2593 ตามลำดับ


กราฟ 2 การคาดการณ์ปริมาณและราคาตลาดคาร์บอนเครดิต
ที่มา: Taskforce on Scaling Voluntary Carbon Markets

แนวโน้มตลาดคาร์บอนเครดิตในไทย

ในประเทศไทยนั้น องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก หรือ อบก. (Thailand Greenhouse Gas Management Organization หรือ TGO) ได้พัฒนาระบบการซื้อขายสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจของประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Trading System หรือ Thailand V-ETS) พัฒนาขึ้นเพื่อส่งเสริมการดำเนินงานด้านการลดก๊าซเรือนกระจกภายใต้ตลาดคาร์บอนภาคสมัครใจของประเทศไทย[5] โดยล่าสุดประเทศไทยได้เปิดตัวตลาดซื้อขายแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิต (FTIX) บริหารงานโดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (Federation of Thai Industries หรือ FTI) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนให้บริษัทเอกชนและหน่วยงานของรัฐมีการซื้อขายคาร์บอนเครดิต และติดตามการปล่อยก๊าซของตนผ่านระบบออนไลน์


กราฟ 3 แนวโน้มตลาดคาร์บอนเครดิตภาคสมัครใจของประเทศไทย
ที่มา: องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก, http://carbonmarket.tgo.or.th/#vmenu_2

สำหรับแนวโน้มตลาดคาร์บอนเครดิตภาคสมัครใจของประเทศไทย คาดว่าจะเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยพบว่า มูลค่าการซื้อขายคาร์บอนเครดิตเพิ่มขึ้นจาก 850,000 บาท ณ ช่วงตลาดเริ่มเทรดในปี 2559 มาเป็น 129 ล้านบาทในปี 2565 และมีปริมาณการซื้อขาย 1.19 ล้านบาท ต่อ tCO2e ณ ราคาเฉลี่ย 108.22 บาทต่อตัน คิดเป็นการเพิ่มขึ้นของมูลค่าและปริมาณการซื้อขายคาร์บอนเครดิตในปี 2565 เท่ากับ 13 และ 4 เท่า ตามลำดับ เมื่อเทียบกับปี 2564 การเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญนี้ สะท้อนให้เห็นถึงแนวโน้มธุรกิจให้ความสำคัญกับการทดแทนการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และโอกาสในการซื้อขายคาร์บอนเครดิตในตลาดที่เติบโตมากขึ้น

บทสรุป

การชดเชยการปล่อยก๊าซคาร์บอนโดยการใช้คาร์บอนเครดิตสามารถทำได้ง่าย และครอบคลุมธุรกิจทุกประเภท โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริษัทที่ดำเนินธุรกิจตามกรอบแนวคิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งมีเป้าหมายที่ต้องการลดปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซเรือนกระจกอื่น ๆ คาร์บอนเครดิตจึงเป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์ที่จะช่วยสนับสนุนให้บริษัทสามารถบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน

ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะกองทุน เงื่อนไข ผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน