SCB CIO คาดธนาคารกลางหยุดขึ้นดอกเบี้ย Q2 แนะสะสมหุ้นกู้-“หุ้นจีน-ไทย”

HoonSmart.com>> SCB CIO คาดธนาคารกลางหลักมีแนวโน้มหยุดขึ้นดอกเบี้ยในไตรมาส 2 หลังเกิดปัจจัยความเสี่ยงเสถียรภาพสถาบันการเงิน แนะหาจังหวะสะสมหุ้นกู้คุณภาพสูง เชื่อผลของการขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง แบงก์ระวังปล่อยสินเชื่อทำผลตอบแทนพันธบัตรระยะกลางและยาวลดลงช่วงครึ่งหลังปี 66 ด้านหุ้นจีน A-share และหุ้นไทย Valuation น่าสนใจ แนวโน้มกำไรที่ฟื้นตัว

ดร.กำพล อดิเรกสมบัติ ผู้อำนวยการอาวุโส และหัวหน้าทีม SCB Chief Investment Office (SCB CIO) ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า จากประเด็นความกังวลการแห่ถอนเงิน (Bank run) ในสหรัฐฯ ทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ต้องออกมาตรการเพื่อจัดการคุ้มครองเงินฝากของธนาคารที่ถูกปิดและดูแลสภาพคล่องให้กับธนาคารที่จะมีปัญหานี้ในอนาคต โดยสาเหตุหลักที่ทำให้ธนาคารขนาดกลางในสหรัฐฯ ประสบปัญหาคือ 1) โครงสร้างฐานลูกค้าที่มีการกระจุกตัว (client base concentration) และ 2) การบริหารสินทรัพย์และหนี้สินที่ผิดพลาด (asset/liability mismatching) อย่างไรก็ตาม SCB CIO เชื่อว่าโอกาสที่จะลุกลามกลายเป็นวิกฤตทั้งระบบยังมีค่อนข้างน้อย เพราะส่วนใหญ่เป็นปัญหาเฉพาะตัว และ Fed ได้ออกมาจัดการสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ฝากเงินและช่วยสภาพคล่องให้กับธนาคารพาณิชย์ได้ค่อนข้างเร็ว

ส่วนกรณีเสถียรภาพสถาบันการเงินในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ SCB CIO ตั้งข้อสังเกตว่า แม้ UBS ตกลงเข้าซื้อ Credit Suisse โดยมีธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์ช่วยเหลือเรื่องสภาพคล่อง แต่หนึ่งในเงื่อนไขที่สร้างความประหลาดใจให้ตลาด คือ การที่หน่วยงานกำกับดูแลด้านการเงินของสวิตเซอร์แลนด์ (FINMA) ได้มีคำสั่งให้ผู้ถือหน่วยตราสารที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1 หรือ Additional Tier 1 (AT1) ซึ่งมีมูลค่าประมาณ 1.7 หมื่นล้านดอลลาร์ สรอ. ต้องรับความเสียหายไปด้วย โดยมูลค่า AT1 ส่วนนี้กลายเป็นศูนย์ ดังนั้น SCB CIO มองว่า การเข้าซื้อกิจการครั้งนี้จะช่วยลดความกังวลเสถียรภาพของระบบการเงินได้ในระดับหนึ่ง แต่น่าจะทำให้ธนาคารพาณิชย์ในยุโรปต้องถือสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องมากขึ้นและเข้มงวดขึ้นในการปล่อยสินเชื่อ ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจมีการชะลอตัวได้มากขึ้นในระยะข้างหน้า

ทั้งนี้ รูปแบบการเข้าช่วยเหลือ เป็นการเน้นรักษาเสถียรภาพระบบการเงินโดยรวมและดูแลผู้ฝากเงิน ขณะที่ ผู้ถือหุ้น/AT1 ต้องรับความเสียหายด้วย เป็นมาตรการช่วยเหลือที่เห็นได้ทั้งในกรณีสหรัฐฯ และ สวิสเซอแลนด์ โดยเราเชื่อว่าธนาคารพาณิชย์ที่มีความเสี่ยงด้านสภาพคล่องและฐานทุนจะยังต้องเผชิญความเสี่ยงจากการถูกประเมินอันดับและแนวโน้มความน่าเชื่อถือ (credit rating and outlook downgrade risk) และต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้นต่อไป โดยประเด็นเหล่านี้จะทำให้ธนาคารพาณิชย์ระมัดระวังในการปล่อยกู้สินเชื่อมากขึ้น และน่าจะส่งผลให้เศรษฐกิจโลกโดยรวมยังมีแนวโน้มชะลอตัวต่อ

จากความเสี่ยงเสถียรภาพสถาบันการเงิน จะทำให้ธนาคารกลางหลักมีแนวโน้มหยุดขึ้นดอกเบี้ยในไตรมาส 2 โดยในกรณีของ Fed จะนำประเด็นรอยร้าวที่เกิดขึ้นในระบบการเงิน (แม้จะมีการอุดรอยร้าวนี้ไปบ้างแล้ว) มาเป็นปัจจัยที่ใช้ตัดสินใจ เพราะในการดำเนินนโยบายการเงินของ Fed นอกจากประเด็นเงินเฟ้อและการจ้างงานแล้ว Fed ต้องพิจารณาเสถียรภาพระบบการเงิน สถาบันการเงิน ระบบการชำระเงินและการคุ้มครองผู้บริโภคด้วย ทำให้ Fed น่าจะขึ้นดอกเบี้ยอีกเพียง 25 bps. ในการประชุมเดือน พ.ค. โดยอัตราดอกเบี้ยนโยบายสูงสุด (Terminal rate) จะอยู่ที่ 5.00%-5.25% และคงดอกเบี้ยไว้ระดับนี้จนถึงปลายปี 2566

สำหรับกลยุทธ์การลงทุน SCB CIO ประเมินว่า ยังเป็นโอกาสดีที่จะสะสมหุ้นกู้คุณภาพสูง (Positive) แม้อัตราเงินเฟ้อในช่วงสั้นจะยังอยู่ในระดับสูง แต่ราคาพลังงานโลกที่ลดลงค่อนข้างเร็ว น่าจะทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในช่วงไตรมาสที่ 2 เริ่มมีสัญญาณชะลอลงเร็วขึ้น บวกกับความเสี่ยงที่สูงขึ้นของเสถียรภาพสถาบันการเงิน เราคาดว่า Fed รวมถึงธนาคารกลางหลักอื่นๆ จะเริ่มส่งสัญญาณการหยุดขึ้นดอกเบี้ยในไตรมาส 2/2566 ทำให้ในช่วงนี้ยังเป็นจังหวะที่ยังทยอยสะสมหุ้นกู้คุณภาพดีได้ โดยเราเชื่อว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่ชะลอลง (จากราคาพลังงานที่ลดลง) รวมถึงตัวเลขทางเศรษฐกิจที่อ่อนแอลง (จากผลของการขึ้นดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องและการระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์) จะทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะกลางและยาวลดลงในช่วงครึ่งหลังของปี 2566

นอกจากนี้ ทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ในเอเชีย (Asian REITs) ยังน่าสนใจ จากการเปิดเมืองเปิดประเทศของจีนและอาเซียน ส่งผลบวกต่ออัตราการเช่าและค่าเช่า (Occupancy rates and rental rates) ในอนาคตของ REITs ทั้งในกลุ่มโรงแรม และพื้นที่เชิงพาณิชย์ (industrial and warehouse) โดยเฉพาะในไทยและสิงคโปร์ที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจมีการพึ่งพาเศรษฐกิจจีนค่อนข้างมาก ขณะที่การเปลี่ยนแปลงของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรโดยเฉพาะในกรณีของไทยเริ่มมีจำกัด ทำให้มูลค่าของ REITs ในไทยและสิงคโปร์น่าจะถูกกำหนดด้วยอัตราการเช่าและค่าเช่าที่ฟื้นตัวเป็นหลัก

ส่วน การลงทุนในหุ้น (Neutral) แม้มูลค่าเมื่อพิจารณาจากราคาต่อกำไรต่อหุ้น (P/E ratio) มีความน่าสนใจมากขึ้นแต่ยังมีแรงกดดันจากทั้งต้นทุนทางการเงินที่สูง และแนวโน้มกำไรเติบโตติดลบ จึงควรระมัดระวังกลุ่มที่มีภาระหนี้สูง ด้านผลประกอบการไตรมาส 4/2565 ที่ออกมาล่าสุดจากตลาดหุ้น ส่วนใหญ่ สะท้อน 1) การหดตัวของอัตราการเติบโตกำไรบริษัทจดทะเบียนทำให้เกิดความเสี่ยง กำไรเมื่อเทียบรายปี หดตัวติดต่อกัน 2 ไตรมาส (earning recession) และ 2) การลดลงของจำนวนบริษัทที่มีกำไรดีกว่าคาด (earnings’ positive surprises)

ดร.กำพล กล่าวว่า เราได้ปรับมุมมองหุ้นเวียดนามลงเป็น Slightly Negative (ทยอยขาย) โดยเวียดนามยังเป็นตลาดที่มีศักยภาพในการลงทุนระยะยาว ส่วนสถานการณ์การผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้ เรามองว่าจะไม่ลุกลามจนกลายเป็นวิกฤตเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม ความกังวลบนการผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้ ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในภาคอสังหาฯ อาจส่งผลให้มี sentiment เชิงลบต่อธุรกิจในกลุ่มอสังหาฯ และ กลุ่มอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น กลุ่มธนาคาร และ กลุ่มธุรกิจก่อสร้าง ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นเวียดนาม ขณะที่เสถียรภาพด้านต่างประเทศของเวียดนามโดยเฉพาะประเด็นเงินทุนสำรองระหว่างประเทศยังจะเป็นประเด็นกดดันต่อไปในช่วง 3-6 เดือนข้างหน้า โดยเรายังแนะนำให้เน้นการลงทุนในตลาดหุ้นจีน (A-share: Positive; H-share Slightly Positive) และตลาดหุ้นไทย (Slightly Positive) ที่ Valuation น่าสนใจและมีแนวโน้มกำไรที่ฟื้นตัวในระยะข้างหน้า