ดาวโจนส์ปิดบวก 132 จุด – ECB ยันภาคธนาคารมีฐานเงินกองทุนแข็งแกร่ง

HoonSmart.com>>ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปิดบวก ดัชนีดาวโจนส์เพิ่มขึ้น 132 จุด ท่ามกลางการซื้อขายผันผวน นักลงทุนเทขายหุ้นดอยซ์แบงก์เยอรมนี หลัง CDS อนุพันธ์ป้องกันความเสี่ยงผิดนัดชำระหนี้ของธนาคารพุ่งสูงสุดรอบกว่า 4 ปี ราคาน้ำมันดิบ WTI ลดลง 70 เซนต์ ฟาก “ตลาดหุ้นยุโรป” ปิดลบจากแรงเทขายกลุ่มแบงก์ ด้านประธานธนาคารกลางสหภาพยุโรป (ECB) เผยภาคธนาคารมีฐานเงินกองทุนแข็งแกร่ง สภาพคล่องสูง ยัน ECB มีเครื่องมือพร้อมสนับสนุนสภาพคล่องต่อระบบการเงิน

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ (Dow Jones Industrial Average:DJIA) ปิดวันที่ 24 มีนาคม 2566 ปิดที่ 32,237.53 จุด เพิ่มขึ้น 132.28 จุด หรือ 0.41% ท่ามกลางการซื้อขายผันผวน แม้ยังวิตกต่อวิฤติภาคธนาคารที่เริ่มส่งผลต่อธนาคารดอยช์แบงก์ของเยอรมนี

ดัชนี S&P500 ปิดที่ 3,970.99 จุด เพิ่มขึ้น 22.27 จุด, +0.56%

ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 11,823.96 จุด เพิ่มขึ้น 36.56 จุด, +0.31%

ในรอบสัปดาห์นี้ ดัชนีดาวโจนส์บวก 1.2%, ดัชนี S&P500 เพิ่มขึ้น 1.4% และดัชนี Nasdaq เพิ่มขึ้น 1.7%

ตลาดได้รับแรงหนุนส่วนหนึ่งจากการฟื้นตัวของหุ้นกลุ่มธนาคารระดับภูมิภาค โดยหุ้น Pacwest Bancorp เพิ่มขึ้น 3.2% หุ้น Western Alliance Bankcop บวก 5.8% แต่แรงเทขายหุ้นดอยช์แบงก์ที่ซื้อขายในตลาดนิวยอร์มีผลต่อความเชื่อมั่นของตลาด หุ้นดอยช์แบงก์ในนิวยอรก์ลดลง 3.11% แต่ดีขึ้นจากที่ร่วงไปถึง 7% และช่วยให้ตลาดฟื้นตัว

ดอยช์แบงก์ถูกเทขายหลังจาก Credit Default Swap (CDS) ซึ่งเป็นอนุพันธ์ป้องกันความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระหนี้ของธนาคารพุ่งสูงสุดในรอบกว่า 4 ปี ทำให้กังวลต่อเสถียรภาพของภาคธนาคารในยุโรป

สจ๊วร์ต แกรห์ม และลีโอน่า หลี่ จาก Autonomous บริษัทในเครือ AllianceBernstein ระบุในบทวิเคราะห์ว่า ไม่กังวลว่าทั้งดอยช์แบงก์จะอยู่รอดหรือไม่และสินทรัพย์ของธนาคาร ดังนั้นดอยช์แบงก์ก็จะไม่เป็นรายต่อไปเหมือนกับธนาคารเครดิต สวิส

เอ็ดเวิร์ด โมยาจากOanda กล่าวว่า หลังนักลงทุนดูข้อมูลดอยช์แบงก์อยางละเอียดก็ตระหนักว่าหลังการปรับโครงสรางธนาคารสามารถทำกำไรมาอย่างต่อเนื่อง 10 ไตรมาสติดต่อกัน

เมื่อวานนี้นายเจมส์ บุลลาร์ด ประธานเฟดสาขาเซนต์ หลุยส์ กล่าวว่า เขามีมมุมมองในทางบวกว่า สถานการณ์ที่ตึงเครียดในภาคธนาคารในสหรัฐจะลดลง โดยมีความเป็นไปได้ถึง 80%

นางเจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังประกาศเมื่อวานว่า จะเรียกประชุมคณะกรรมการดูแลเสถียรภาพทางการเงิน (Financial Stability Oversight Council) เพื่อหาแนวทางสร้างความเชื่อมั่นในภาคธนาคาร

อย่างไรก็ตามแรงกดดันในภาคธนาคารของสหรัฐก็ยังคงอยู่โดยมีการกู้เงินผ่าน discount window ของธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด)ถึง 110.2 พันล้านดอลลาร์ ณ วันพุธ ที่ผ่านมา นอกจากนี้ยอดกู้ยืมผ่าน Bank Term Funding Program ที่เพิ่งจัดตั้งขึ้นก็สูงถึง 53.7 พันล้านดอลลาร์และเงินกู้ที่ให้กับธนาคารกลางต่างประเทศมีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็น 60 พันล้านดอลลาร์

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีลดลงมาที่ 3.38%

นางเจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังประกาศเมื่อวานว่า จะเรียกประชุมคณะกรรมการดูแลเสถียรภาพทางการเงิน (Financial Stability Oversight Council) เพื่อหาแนวทางสร้างความเชื่อมั่นในภาคธนาคาร

นักลงทุนยังคงวิเคราะห์การปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.25% ของเฟดครั้งล่าสุด แต่เมื่อวานนี้นายเจมส์ บุลลาร์ ประธานเฟดสาขาเซนต์ หลุยส์ ได้ปรับเพิ่มคาดการณ์ดอกเบี้ยปี 2023 ขึ้นมาที่ 5.625% ซึ่งสูงกว่าการคาด การณ์ของเฟดที่ 5.1% และระบุว่าเศรษฐกิจสหรัฐแข็งแหร่งกว่าที่คาดไว้ในไตรมาสแรกของปี 2023 และเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับสูง

กระทรวงพาณิชย์รายงาน ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน เช่น เครื่องบิน รถยนต์ และเครื่องจักรขนาดใหญ่ที่มีอายุการใช้งานตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป เดือนกุมภาพันธ์ ลดลง 1% ดีขึ้นจากที่ลดลง 5% ในเดือนมกราคม ส่วนยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนพื้นฐาน ซึ่งไม่รวมเครื่องบิน และสินค้าด้าน เพิ่มขึ้น 0.2%

เอสแอนด์พี โกลบอลรายงาน ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคการผลิตและภาคบริการเบื้องต้นเดือนมีนาคมเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 53.3 สูงสุดในรอบ 10 เดือน จากระดับ 50.1 ในเดือนกุมภาพันธ์

ไอเอชเอส มาร์กิต รายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ(Purchasing Managers Index)เดือนมีนาคมเพิ่มขึ้นมาที่49.3 สูงสุดในรอบ 5 เดือนจาก 47.3 ในเดือนกุมภาพันธ์

ตลาดหุ้นยุโรปปิดลบจากแรงเทขายกลุ่มแบงก์ ด้วยความกังวลที่เพิ่มขั้นเกี่ยวกับเสถียรภาพของภาคการเงิน หลังจาก Credit Default Swap (CDS) ซึ่งเป็นอนุพันธ์ป้องกันความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระหนี้ของดอยช์แบงก์พุ่งสูงสุดในรอบกว่า 4 ปี

หุ้นดอยช์แบงก์ลดลง 8.5% ขณะที่หุ้นยูบีเอสลดลง 3.6% และหุ้นเครดิต สวิส ลดลง5.2% หลังมีรายงานข่าวจากบลูมเบิร์กว่า กระทรวงยุติธรรมสหรัฐกำลังตรวจสอบสองธนาคาร เกี่ยวกับการมีส่วนในการช่วยเหลือรัสเซียเพื่อหลบเลี่ยงมาตรการคว่ำบาตร

หุ่นโซซิเอเต้ เจนเนอรัล หุ้นบาร์เคลย์แบงก์ และหุ้นบีเอ็นพี พาริบาร์สต่างลดลงเช่นกัน

นักลงทุนยังวิตกต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจอันเนื่องจากวิกฤติภาคธนาคารยังมีมีต่อเนื่อง ประกอบกับข้อมูลเศรษฐกิจที่รายงานเมื่อวานนี้ตอกย้ำว่าภาคการผลิตของเยอรมนี และฝรั่งเศสยังคงหดตัวในเดือนมีนาคม และภาคบริการดีขึ้น

ยาน ฟอน เกอริช หัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์จาก Nordea กล่าวว่า นักลงทุนยังคงระมัดระวังในการลงทุนและด้วยสถานการณ์แบบนี้ไม่มีใครอยากจะถือความเสี่ยงในช่วงสุดสัปดาห์

ยอดค้าปลีกของอังกฤษเพิ่มขึ้น 1.2% ในเดือนกุมภาพันธ์ซึ่งดีกว่าที่คาดและปริมาณการขายกลับไปที่ระดับก่อนการระบาดของโควิด

อย่างไรตามเป็นการยากที่เศรษฐกิจจะดีขึ้นต่อเนื่องเพราะยุโรปประสบปัญหาวิกฤติภาคธนาคารจนยูบีเอสต้องซื้อกิจการธนาคารเครดิต สวิสนั้น ทำให้กังวลว่าแบงก์จะชะลอการให้สินเชื่อ ซึ่งจะมีผลต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ

นอกจากนี้ธนาคารกลางประเทศหลักยังปรับขึ้นดอกเบี้ยเพื่อคุมเงินเฟ้อ

ตลาดดีขึ้นเล็กน้อยหลังนางคริสตีน ลาการ์ด ประธานธนาคารกลางสหภาพยุโรป (ECB)แจ้งผู้นำประเทศในกลุ่มอียูว่า ภาคธนาคารมีความสามารถในการรับมือ เพราะมีฐานเงินกองทุนแข็งแกร่งและมีสภาพคล่องสูงเป็นผลจากการปรับโครงสร้างหลังวิกฤติการเงินโลกปี 2008 และ ECB มีเครื่องมือพร้อมที่จะสนับสนุนสภาพคล่องต่อระบบการเงินหากจำเป็น

ดัชนี STOXX 600 ปิดที่ 440.11 จุด ลดลง 6.11 จุด หรือ -1.37%

ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,405.45 จุด ลดลง 94.15 จุด หรือ -1.26%

ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 7,015.10 จุด ลดลง 124.15 จุด หรือ -1.74%

ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมนีปิดที่ 14,957.23 จุด ลดลง 253.16 จุด หรือ -1.66%

ราคาน้ำมันดิบ WTI งวดส่งมอบเดือนเมษายน ลดลง 70 เซนต์ หรือ 1% ปิดที่ 69.26 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบ Brent ทะเลเหนือ งวดส่งมอบเดือนพฤษภาคม ลดลง 92 เซนต์ หรือ 1.2% ปิดที่ 74.99 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล