TRUE แจ้ง Q3/67 ขาดทุน 810 ลบ. บุ๊กด้อยค่า-EBITDA โต 7 ไตรมาส

HoonSmart.com>> “ทรู คอร์ปอเรชั่น” (TRUE) เผยไตรมาส 3/67 ขาดทุนสุทธิ 810 ล้านบาท ลดลงจากงวดปีก่อน ส่วน 9 เดือน ขาดทุน 3,302 ล้านบาท เหตุบันทึกผลกระทบครั้งเดียวจากด้อยค่าสินทรัพย์ที่มีความซ้ำซ้อนเกี่ยวข้องกับการพัฒนาเครือข่ายให้ทันสมัย ด้าน EBITDA แกร่ง ไตรมาส 3/67 อยู่ที่ 24,981 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16.5% เติบโตต่อเนื่อง 7 ไตรมาสนับจากควบรวมกิจการ รายได้จากบริการไม่รวมค่าเชื่อมต่อโครงข่าย (IC) เพิ่มขึ้น คงเป้า EBITDA ปี 67 เติบโต 12-14%

บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) เปิดเผยผลการดำเนินงานไตรมาส 3 ปี 2567 ขาดทุนสุทธิ 810.17 ล้านบาท ขาดทุนต่อหุ้น 0.02 บาท จากช่วงเดียวกันของปีก่อนขาดทุนสุทธิ 1,598.02 ล้านบาท ขาดทุนต่อหุ้น 0.05 บาท

ส่วนงวด 9 เดือน ปี 2567 ขาดทุนสุทธิ 3,458.07 ล้านบาท ขาดทุนต่อหุ้น 0.10 บาท จากช่วงเดียวกันของปีก่อนขาดทุนสุทธิ 3,302.23 ล้านบาท ขาดทุนต่อหุ้น 0.10 บาท

นายมนัสส์ มานะวุฒิเวช ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) เปิดเผยว่า ในไตรมาส 3 ปี2567 ทรูคอร์ปอเรชั่นมีผลประกอบการเติบโตอย่างต่อเนื่อง แม้จะเผชิญกับความท้าทายทางเศรษฐกิจทั้งในประเทศและภูมิภาค รวมถึงเหตุการณ์น้ำท่วมในหลายจังหวัด การลงทุนด้านโครงข่ายของเราเสริมสร้างความเชื่อมั่นทั้งในด้านความพร้อมอย่างเต็มประสิทธิภาพ การดำเนินงานที่ยืดหยุ่นคล่องตัว และการเชื่อมต่อที่แข็งแกร่งในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ เรายังให้ความสำคัญในการเร่งช่วยเหลือลูกค้าและชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย

“สำหรับ EBITDA เติบโตเป็นไตรมาสที่ 7 ติดต่อกัน พิสูจน์ให้เห็นถึงความสามารถของเราในการปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงานภายใต้สถานการณ์ที่ท้าทาย โดยมุ่งเน้นการบริหารต้นทุนที่มีประสิทธิภาพและการผสานปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence)เพื่อยกระดับทั้งการดำเนินงานภายในและการบริการลูกค้า เรายังคงมุ่งมั่นในการสร้างนวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้มั่นใจว่าเราสามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ดีที่สุด”

นายชารัด เมห์โรทรา รองประธานคณะผู้บริหาร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) กล่าวว่า ในไตรมาส 3 ปี 2567 เรายังคงมุ่งเน้นการปรับปรุงประสบการณ์ของลูกค้าด้วยการลงทุนราว1หมื่นล้านบาท โดยมุ่งเน้นที่การดำเนินการพัฒนาเครือข่ายให้ทันสมัย ซึ่งได้ดำเนินการไปแล้วมากกว่า 10,000 สถานี จากทั้งหมด 17,000 สถานี นอกจากนี้ เรากำลังนำปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาใช้วิเคราะห์พฤติกรรมลูกค้าในเชิงลึก เพื่อสร้างสรรค์บริการรูปแบบใหม่ ยกระดับการดำเนินธุรกิจและตอบโจทย์การใช้ชีวิตในยุคดิจิทัลของลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น นอกจากนี้ เรายังภูมิใจที่เป็นรายแรกในประเทศไทยที่นำแผนการใช้ปัญญาประดิษฐ์อย่างมีความรับผิดชอบ หรือ Responsible AI (RAI) Maturity RoadmapของGSMA มาใช้ เพื่อให้มั่นใจว่าการใช้AIของเราเป็นไปอย่างมีจริยธรรมและสอดคล้องกับมาตรฐานสากล

ในไตรมาส 3 ปี 2567 ทรู คอร์ปอเรชั่น ยังคงมุ่งเน้นการเพิ่มคุณภาพของการได้มาในส่วนผู้ใช้บริการอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้มีจำนวนผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ลดลงสุทธิ 1.2 ล้านเลขหมาย หรือ 2.3% จากไตรมาสก่อน โดยมีจำนวนผู้ใช้บริการรวม49.3ล้านเลขหมาย ผู้ใช้บริการระบบรายเดือนลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนมาอยู่ที่จำนวน 15.2 ล้านราย ในขณะที่ผู้ใช้บริการระบบเติมเงินมีจำนวน34.1ล้านราย ผู้ใช้บริการออนไลน์เพิ่มขึ้น 0.6% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน อยู่ที่ 3.7 ล้านราย ณ สิ้นไตรมาส 3 ปี 2567 ผู้ใช้บริการ 5G มีจำนวน 12.4 ล้านราย เพิ่มขึ้น 5.4% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน

นายนกุล เซห์กัล หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านการเงิน (ร่วม) บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) กล่าวว่า ทรู คอร์ปอเรชั่นประสบความสำเร็จด้วยการเติบโตของ EBITDA เป็นไตรมาสที่ 7 ติดต่อกัน ส่งผลให้ไตรมาส 3 ปี 2567 มีกำไรภายหลังการปรับปรุงดีขึ้นอยู่ที่ 3.1 พันล้านบาท รายได้จากการให้บริการไม่รวมค่าเชื่อมต่อโครงข่าย หรือ IC เติบโต 4.2% เมื่อเทียบกับปีก่อน (YoY)โดยมีปัจจัยหลักจากการเติบโตในกลุ่มธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่และออนไลน์ รายได้รวม 5.08 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.4% (YoY) โดยมีปัจจัยหลักจากการเติบโตของรายได้จากการให้บริการในทุกกลุ่มธุรกิจ

จากการดำเนินการอย่างต่อเนื่องในการผสานการบริหารผลงานร่วมกับวัฒนธรรมองค์กร ส่งผลให้รายได้เฉลี่ยต่อผู้ใช้บริการ (ARPU) เพิ่มขึ้นในทุกกลุ่มธุรกิจเมื่อเทียบกับปีก่อน รายได้จากบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่เพิ่มขึ้น 3.7% (YoY)จาก ARPU เฉลี่ยเพิ่มขึ้น5.6% (YoY) รายได้บริการออนไลน์เพิ่มขึ้น 7.5% (YoY)โดยได้แรงหนุนจากการเพิ่มขึ้นของ ARPU อย่างต่อเนื่องที่9.8% (YoY)ส่วนรายได้จากบริการโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิก (PayTV) เพิ่มขึ้น 0.9% เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยมี ARPU เพิ่มขึ้น 1.8% จากปีที่แล้ว

สำหรับไตรมาส 3 ปี 2567 ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน (ไม่รวมค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย หรือD&A) ลดลง 9.9% เมื่อเทียบกับปีก่อน จากการรับรู้ผลประโยชน์จากการควบรวม และมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่อง ต้นทุนเครือข่ายลดลง 13.3% (YoY) โดยมีปัจจัยหลักจากการรับรู้ผลประโยชน์จากการควบรวมทั้งจากการดำเนินการพัฒนาเครือข่ายให้ทันสมัยและการจัดซื้อจัดจ้าง ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร (SG&A) ลดลง17.7% (YoY)โดยการรับรู้ผลประโยชน์จากการควบรวมในโครงการปรับปรุงด้านธุรกิจและการพัฒนาองค์กรให้ทันสมัย ซึ่งจากการเร่งดำเนินการเพื่อรับรู้ผลประโยชน์จากการควบรวมในด้านสำคัญต่าง ๆ และการมุ่งเน้นเชิงลึกในการเพิ่มประสิทธิภาพในเชิงโครงสร้าง ทรู คอร์ปอเรชั่น สามารถควบคุมค่าใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพได้อย่างต่อเนื่อง

ทรู คอร์ปอเรชั่น บันทึกการเพิ่มขึ้นของ EBITDA จำนวน 5,530 ล้านบาท นับตั้งแต่การควบรวมกิจการ ซึ่งนับเป็นการเติบโตของ EBITDA เป็นไตรมาสที่ 7 ติดต่อกัน สำหรับไตรมาส 3 ปี 2567 EBITDA ปรับตัวดีขึ้น 646 ล้านบาทจากไตรมาสก่อน (QoQ) เพิ่มขึ้น 2.7% (QoQ) อัตราส่วน EBITDA ต่อรายได้จากการให้บริการปรับตัวดีขึ้นสู่ระดับสูงสุดนับตั้งแต่การควบรวมกิจการที่ 60.2% ในไตรมาส 3 ปี2567

สำหรับไตรมาส 3 ปี 2567 ทรู คอร์ปอเรชั่นบันทึกผลกระทบเชิงลบที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว (one-time costs) จากการด้อยค่าสินทรัพย์ที่มีความซ้ำซ้อนที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการพัฒนาเครือข่ายให้ทันสมัย จำนวน 3,917 ล้านบาท ส่งผลให้มีขาดทุนสุทธิหลังหักภาษี 810 ล้านบาท ซึ่งเมื่อปรับปรุงรายการที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว กำไรสุทธิหลังหักภาษีอยู่ที่ 3,107 ล้านบาท ปรับตัวดีขึ้น 709 ล้านบาทจากไตรมาสก่อน โดยมีปัจจัยหลักจากการปรับตัวดีขึ้นของ EBITDA สำหรับค่าใช้จ่ายด้านการลงทุน (CAPEX) ไตรมาส 3 ปี 2567 อยู่ที่ 9,919 ล้านบาท โดยมุ่งเน้นที่การดำเนินการพัฒนาเครือข่ายให้ทันสมัย

แนวโน้มสำหรับทรู คอร์ปอเรชั่นในปี 2567 ยังคงไม่เปลี่ยนแปลง บริษัทฯ คาดว่าจะมีรายได้จากการให้บริการไม่รวมค่าเชื่อมต่อโครงข่าย (IC) เติบโต 4-5% เมื่อเทียบกับปีก่อน EBITDA จะเติบโต 12-14% (YoY) ในขณะที่แนวโน้มค่าใช้จ่ายด้านการลงทุน (CAPEX)รวมถึงการลงทุนเพื่อการควบรวมกิจการยังคงอยู่ที่3หมื่นล้านบาท โดยในปี 2567 จะยังคงมีกำไรหากไม่รวมการตัดจำหน่ายสินทรัพย์เครือข่ายที่มีความซ้ำซ้อนที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการพัฒนาเครือข่ายให้ทันสมัย

ด้านตัวเลขทางการเงินที่สำคัญในไตรมาส 3 ปี 2567 มีรายได้จากบริการไม่รวมค่าเชื่อมต่อโครงข่าย หรือ IC จำนวน 41,509 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.2% (YoY) และคงที่เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน EBITDA อยู่ที่ 24,981 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16.5% (YoY) และ 2.7% (QoQ) อัตราส่วน EBITDA ต่อรายได้จากการให้บริการอยู่ที่ 60.2% กำไรสุทธิภายหลังการปรับปรุง (Normalized) จำนวน 3,107 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 709 ล้านบาท (QoQ)