กลุ่มธนาคารรับ Sentiment ลบกรณีหุ้นกู้ AT1 แต่พื้นฐานกระทบจำกัด

HoonSmart.com>>บล.ดาโอ มองกลุ่มธนาคารได้รับ Sentiment ลบกรณีหุ้นกู้ที่นับเป็นกองทุนชั้นที่ 1 (Additional Tier 1 = AT1) ของเครดิต สวิส ส่งระยะสั้น Fund flow ไหลออกจากกลุ่มธนาคารเพื่อป้องกันความเสี่ยง และเป็นการทำ asset allocation ของหุ้นกลุ่มธนาคารทั่วโลก แต่ในแง่พื้นฐานกระทบจำกัด และธนาคารพาณิชย์ในไทยไม่มีการลงทุนโดยตรงใน AT1 ในต่างประเทศ มีเพียงการออกหุ้นกู้ AT1 ของตัวเอง (BBL, KBANK, KTB, TTB) คงน้ำหนักกลุ่มธนาคาร“มากกว่าตลาด” เลือก BBL, KTB เป็น Top pick

นางสุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า กรณีธนาคาร Credit Suisse (CS) มีปัญหาสะสมมาก่อนหน้า และมีผลขาดทุนสูงต่อเนื่อง รวมถึงเมื่อมีข่าวว่าผู้ถือหุ้นรายสำคัญมีข้อจำกัดในการเพิ่มทุนให้ CS จึงกระทบความเชื่อมั่นของตลาด จนธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์และผู้กำกับดูแลต้องให้ความช่วยเหลือด้านสภาพคล่อง และล่าสุดภาครัฐได้จัดการให้ธนาคาร UBS เข้าซื้อหุ้นของ CS เพื่อรวมกิจการและระงับไม่ให้เหตุการณ์ลุกลามแล้ว ทั้งนี้ ธปท. ประเมินว่าผลกระทบจากเหตุการณ์ข้างต้นต่อระบบการเงินไทยมีจำกัด จากธุรกรรมของภาคธนาคารและกองทุนประเภทต่างๆ ที่อยู่ในระดับต่ำ ขณะเดียวกันการกำกับดูแลธนาคารพาณิชย์ไทยเป็นไปตามมาตรฐานสากลที่เข้มงวด

ด้านสำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า ราคาหุ้นกู้ที่นับเป็นกองทุนชั้นที่ 1 (Additional Tier 1 = AT1) ของธนาคารบางแห่งในเอเชียร่วงลงอย่างรุนแรงในช่วงเช้าวานนี้ หลังจากหน่วยงานกำกับดูแลของสวิตเซอร์แลนด์ระบุว่า มูลค่าผลิตภัณฑ์หุ้นกู้ของเครดิต สวิส อาจจะหายไปถึง 1.7 หมื่นล้านดอลลาร์ หลังจากเครดิต สวิส ขายกิจการให้กับยูบีเอส นอกจากนี้ นักลงทุนกำลังประเมินว่า ธนาคารระดับภูมิภาคมีความเกี่ยวข้องกับหุ้นกู้ของเครดิต สวิสมากเพียงใด และจะส่งผลกระทบต่อการระดมทุนของกลุ่มผู้ปล่อยกู้หรือไม่

ฝ่ายวิจัย บล.ดาโอ (ประเทศไทย) มองเป็น sentiment เชิงลบต่อกลุ่มธนาคารในด้านของ Flow แต่ในแง่พื้นฐานกระทบจำกัด โดยมีมุมมองเป็น Sentiment เชิงลบต่อกลุ่มธนาคารกับประเด็นเรื่อง SVB เพราะระยะสั้น Fund flow มีโอกาสที่จะไหลออกจากกลุ่มธนาคารเพื่อป้องกันความเสี่ยงและเป็นการทำ asset allocation ของหุ้นกลุ่มธนาคารทั่วโลก แต่อย่างไรก็ดี คาดว่าในด้านพื้นฐานผลกระทบจะจำกัด โดยจากการสอบถามกลุ่มธนาคารพบว่า ธนาคารพาณิชย์ในไทยไม่มีการลงทุนโดยตรงใน AT1 ในต่างประเทศ มีเพียงการออกหุ้นกู้ AT1 ของตัวเอง (BBL, KBANK, KTB, TTB) แต่อย่างไรก็ดี ธนาคารบางแห่งมีธุรกรรมที่เกี่ยวโยงด้าน LG มากกว่า ซึ่งผลกระทบน้อยมากๆหรือแทบจะไม่มีผลกระทบต่องบกำไรขาดทุนเลย ขณะที่มีสินทรัพย์สภาพคล่องเพื่อรองรับกระแสเงินสดที่อาจไหลออกในภาวะวิกฤต (Liquidity Coverage Ratio: LCR) ยังอยู่ในระดับสูงที่ 197.3% ด้านเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) ยังอยู่ในระดับสูงเฉลี่ยอยู่ที่ 18.5% จากเกณฑ์ขั้นต่ำที่ 8.5% ส่วนเงินสำรองต่อหนี้ด้อยคุณภาพ (NPL Coverage Ratio) สูงถึง 191%

ดังนั้นยังคงน้ำหนักเป็น “มากกว่าตลาด” ยังเลือก BBL, KTB เป็น Top pick โดย valuation ยังถูก เทรดที่ระดับเพียง 0.68x PBV (-1.0SD below 10-yr average PBV) ด้าน NPL แม้ว่าจะยังอยู่ในขาขึ้น แต่เป็นการทยอยปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป ชอบกลุ่มธนาคารขนาดใหญ่มากกว่าธนาคารขนาดเล็กเนื่องจากได้ประโยชน์จากแนวโน้มของอัตราดอกเบี้ยที่เป็นขาขึ้น ยังเลือก BBL เป็น Top pick ราคาเป้าหมายปี 66 ที่ 187 บาท อิง 2566 PBV ที่ 0.67x (-0.75SD below 10-yr average PBV) เพราะ BBL เป็นหุ้นที่ได้ประโยชน์สูงสุดจากแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่เป็นขาขึ้น ขณะที่ยังมีความแข็งแกร่งทางด้านการเงินที่รองรับความเสี่ยงที่เกิดขึ้นได้ดีกว่าคู่แข่ง เพราะมี coverage ratio อยู่ในระดับสูงที่สุดในกลุ่มที่ 261% นอกจากนี้ Valuation ยังน่าสนใจโดยเทรดที่ PBV เพียง 0.57x หรือที่ระดับ -1.25SD ย้อนหลัง 10 ปี

อีกทั้ง ชอบ KTB ราคาเป้าหมายปี 66 ที่ 20 บาท อิง 2023E PBV ที่ 0.67x (-0.75D below 10-yr average PBV) เพราะได้รับผลดีจากแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่เป็นขาขึ้น ด้าน valuation ปัจจุบันยัง laggard เมื่อเทียบในกลุ่มธนาคาร โดยซื้อขายที่ระดับต่ำเพียง PBV ที่ 0.62x (กลุ่มธนาคารซื้อขายที่ 0.68x) ขณะที่คาดว่าจะมี upside เพิ่มจากการใช้ data ใน application เป๋าตังและอื่นๆที่ช่วยเหลือรัฐบาล ซึ่งสามารถนำข้อมูลมา cross-selling เพิ่มเติมได้อีกในอนาคต