HoonSmart.com>>”กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง”(GUNKUL) เล็งเป้ารายได้ปี 68 ทะลุ 1 หมื่นล้านบาท จากปี 67 ไม่ต่ำกว่า 9 พันล้านบาท EBITDA ราว 3.3-3.4 พันล้านบาท หลัง COD ร่วม 832.4 MW จะดึงรายได้ขึ้นทะลุ 2 หมื่นล้านบาทปี 73 คาดหวังปัจจัยบวกจากภาครัฐจะออกกฏหมายหนุนติดตั้ง”โซลาร์รูฟท็อป” ส่วนหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดปี 68 มี 441 ล้านบาท คาดว่าจะรีไฟแนนซ์ได้ทั้งหมด
นายฐิติพงศ์ เตชะรัตนยืนยง ประธานเจ้าหน้าที่ด้านการเงินและบัญชี บริษัท กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง (GUNKUL) เปิดเผยว่า ปี 2568 ตั้งเป้ารายได้รวมทะลุ 1 หมื่นล้านบาท ส่วนปี 2567 คาดว่าจะทำได้ไม่ต่ำกว่า 9,000 ล้านบาท และ EBITDA จะอยู่ประมาณ 3,300-3,400 ล้านบาท คาดจนถึงปี 2573 จะเห็นการเติบโตไม่ต่ำกว่า 13% ต่อปี มั่นใจ EBITDA จะขึ้นไปถึง 9,000 ล้านบาท รายได้ประมาณ 20,000 ล้านบาท ภายใต้การ COD แค่ 832.4 เมกะวัตต์(MW)เท่านั้น
โครงการที่พัฒนาอยู่มี 832.4 MW เป็นโซลาร์ 15 โครงการ และพลังงานลม 2 โครงการ ซึ่งเร็วสุดปี 2569 จะ COD ได้ราว 177 MW เป็นกลุ่มโซลาร์ที่อยู่ภาคใต้ ที่มีพรีเมียม 50 สตางค์ และปี 2571 จะ COD 18 MW ส่วนที่เหลืออีก 600 MW จะ COD ได้ในปี 2572-2573 คาดว่าจะใช้เงินลงทุน 38,000 ล้านบาท บริษัทยังมีรูมที่จะใช้เงินเพื่อขยายการลงทุนได้ โดยไม่ต้องรบกวนผู้ถือหุ้น
สำหรับกลุ่มธุรกิจ High Voltage Equipment (อุปกรณ์แรงดันไฟฟ้าสูง) เป็นธุรกิจเทรดดิ้ง 9 เดือนแรกปีนี้ทำยอดขายได้กว่า 1,700 ล้านบาท มั่นใจปีนี้จะทำยอดขายได้ตามเป้าที่วางไว้ 2,200 ล้านบาท ส่วนปี 2568-2569 ตั้งเป้าเติบโตถึง 3,000 ล้านบาท เติบโตราว 15-18% หลัก ๆ ยังเป็นลูกค้าจากภาครัฐฯอยู่
ส่วนธุรกิจ EPC ตั้งเป้ายอดขาย 3 ปีอย่างน้อยเฉลี่ยต้องได้ 4,400-4,500 ล้านบาท ปัจจุบันมี backlog ราว 4,000 ล้านบาท และจะยังคงเป้าหมายรักษาระดับ backlog ที่ 4,000 ล้านบาท
ปัจจัยขับเคลื่อนการเติบโตในปี 2567-2569 ของธุรกิจ EPC จะมาจาก 1.กฟภ. CSCS 61850 (ปี 2567-2568) งบประมาณ 740 ล้านบาท จะประมูลไตรมาส 4 ปีนี้, 2. กฟผ. เกาะสมุย 230 kV งบประมาณ 7,000 ล้านบาท จะประมูลไตรมาส 2 ปี 2568, 3. กฟภ.ไมโครกริด เกาะสีชัง งบประมาณ 240 ล้านบาท จะประมูลไตรมาส 4 ปีนี้ 4.เคเบิลใต้น้ำ PEA 12 เกาะ งบประมาณ 4,000 ล้านบาท จะประมูลไตรมาส 4 ปีนี้ และ 5.งบประมาณ APM & MONORAIL 10,000 ล้านบาท จะประมูลไตรมาส 2 ปี 2568
กลุ่มธุรกิจพลังงาน เป็นกลุ่มที่สร้างผลกำไรให้บริษัทมากที่สุด ตั้งเป้าไว้ว่าในปี 2569 ในส่วนเมกะวัตต์ จะเติบโตขึ้น 35% จากปัจจุบันที่มีราว 1,484 MW อยากเห็น 2,000 MW ภายในปี 2569 ในช่วง 3-5 ปีนี้จะมาจาก Domestic MW และมาจาก Oversea MW ตั้งเป้าหมายไว้ 50 MW ต่อปี จาก 2-3 ประเทศที่โฟกัสอยู่ โดยกำลังศึกษาจะเพิ่มอีก 3 ประเทศ คือ ที่ไต้หวัน, ฟิลิปปินส์ และออสเตรเลีย จากปัจจุบันมีที่ญี่ปุ่น และเวียดนาม อีกทั้งการพัฒนาแพลตฟอร์มต่าง ๆ รวมถึงเทคโนโลยี ทำให้เมกะวัตต์ต่อต้นได้เร็วขึ้น
นายฐิติพงศ์ กล่าวต่อว่า ในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมาภาครัฐคาดว่าจะออกกฏหมายเปิดทางให้ติดตั้ง”โซลาร์รูฟท็อป”ที่มีแรงจูงใจมากขึ้น อาจมีเงินสนับสนุนจากภาครัฐฯ และสามารถลดหย่อนภาษีได้ ซึ่งภาครัฐตั้งใจจะให้ออกมาในปีนี้ รอดูจะออกมาเป็นอย่างไร ถือว่าเป็นปัจจัยบวกให้กับผู้เล่นด้านนี้ และบริษัทก็เป็นหนึ่งในผู้เล่นตรงนี้ด้วย
“ปี 2568 จะมีหุ้นกู้ครบกำหนดเพียงชุดเดียวราว 441 ล้านบาท คิดว่าจะรีไฟแนนซ์ได้ครบตามจำนวน และมีแผนอาจดูตลาดอีกทีว่าจะรีไฟแนนซ์ด้วยหุ้นกู้ หรือ Money Market อยู่ที่ตลาด และเราต้องมอนิเตอร์ต้นทุนให้มีประสิทธิภาพดีที่สุด”นายฐิติพงศ์กล่าว