HoonSmart.com>>สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (สำนักงาน ก.ล.ต.) เปิดรับฟังความคิดเห็นการแก้ไขประกาศที่เกี่ยวข้อง เพื่อรองรับการออกและเสนอขายตราสารหนี้ด้านความยั่งยืนผ่านช่องทางคราวด์ฟันดิง (Crowdfunding) และการเสนอขายในวงจำกัด ในการเปิดโอกาสการระดมทุนให้กับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) และวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup) มีส่วนร่วมในการพัฒนาด้านความยั่งยืน และยกระดับบทบาทของตลาดทุนที่มีส่วนสำคัญในการแก้ปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อมรวมทั้งส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนให้แก่กิจการ
ตามที่นโยบายของรัฐบาลมุ่งเน้นส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพ SME และ Startup รวมถึงธุรกิจที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานให้สามารถเร่งปรับตัวและมีส่วนร่วมกับการพัฒนาธุรกิจในมิติความยั่งยืน ซึ่งปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล เป็นหัวใจสำคัญต่อกลยุทธ์และการประกอบธุรกิจเพื่อลดความเสี่ยงและยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน ที่ผ่านมา ก.ล.ต. มีนโยบายและได้ส่งเสริมการออกและเสนอขายตราสารหนี้ด้านความยั่งยืนมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งตราสารหนี้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (Green Bond) ตราสารหนี้เพื่อพัฒนาสังคม (Social Bond) ตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืน (Sustainability Bond) และตราสารหนี้ส่งเสริมความยั่งยืน (Sustainability-linked Bond) โดยปี 2561 – กุมภาพันธ์ 2566 การระดมทุนผ่านตราสารหนี้ด้านความยั่งยืน มีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 5.42 แสนล้านบาท (ข้อมูล ณ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2566) ซึ่งมีแนวโน้มการเติบโตอย่างต่อเนื่อง แต่ยังมีสัดส่วนที่ไม่มากเมื่อเทียบกับตลาดตราสารหนี้ทั้งหมด และผู้ออกตราสารยังกระจุกตัวอยู่ในบริษัทขนาดใหญ่และเฉพาะบางกลุ่มอุตสาหกรรมเท่านั้น
ก.ล.ต. จึงมีแนวคิดที่จะปรับปรุงหลักเกณฑ์สำหรับการออกและเสนอขายตราสารหนี้ด้านความยั่งยืนต่อบุคคลในวงจำกัด (PP-10)* และการเสนอขายผ่านระบบคราวด์ฟันดิง รวมถึงขยายเกณฑ์การเสนอขายหุ้นกู้แปลงสภาพสำหรับบริษัทจำกัด (PP-SME)** ให้รองรับการออกและเสนอขายตราสารหนี้ด้านความยั่งยืนด้วย เพื่อเปิดโอกาสให้กิจการทุกขนาด รวมทั้ง SME และ Startup สามารถระดมทุนผ่านตราสารหนี้ดังกล่าวได้ นอกจากนี้ การปรับปรุงหลักเกณฑ์จะรวมถึงการกำหนดให้มีการเปิดเผยข้อมูลที่เพิ่มเติมจากหลักเกณฑ์การเสนอขายตราสารหนี้ทั่วไป ในส่วนที่เกี่ยวกับด้านความยั่งยืน เช่น วัตถุประสงค์การใช้เงินด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม การคัดเลือกโครงการ การรายงานความคืบหน้าโครงการ การกำหนดเป้าหมายของธุรกิจที่สอดรับกับด้านความยั่งยืน เป็นต้น ทั้งก่อนและหลังการเสนอขาย เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล และให้ผู้ลงทุนมีข้อมูลประกอบการตัดสินใจลงทุน ตลอดจนเพิ่มความน่าเชื่อถือในการออกตราสารหนี้ด้านความยั่งยืน
ทั้งนี้ ก.ล.ต. ได้เผยแพร่เอกสารรับฟังความคิดเห็นในเรื่องดังกล่าวไว้ที่เว็บไซต์ ก.ล.ต. https://www.sec.or.th/TH/Pages/PB_Detail.aspx?SECID=888 ผู้เกี่ยวข้องและผู้ที่สนใจสามารถแสดงความคิดเห็นได้ที่เว็บไซต์ หรือทาง e-mail: debt@sec.or.th จนถึงวันที่ 17 เมษายน 2566