HoonSmart.com>> 2 นักลงทุนรายใหญ่ยอมรับสภาพ เก็บเงินสดไว้ดีกว่า ทยอยลดพอร์ตไปแล้ว 20-50% จากปัจจัยต่างประเทศกดดัน SVB ล้มลง ป่วนแบงก์สหรัฐ กลุ่มการเงินไทยอ่อนแอ เฟดเร่งขึ้นดอกเบี้ย วิเคราะห์เทคนิคส่องดัชนีฯมีโอกาสลงอีก 300 จุดหลังหลุด 1,600 จุด ยิ้มได้ปัจจัยไทยยังเกื้อหนุน ชูหุ้นกลุ่มค้าปลีก, ท่องเที่ยว, ลิสซิ่ง,อสังหาริมทรัพย์ เลือกรายตัว “เสี่ยปู่” ลงทุนหุ้นโตดี-มีปันผล ยก ORI ได้ผลดีจากบริษัทลูก PRI ที่โตดี, KCC Downside น้อย ส่วนกลุ่มอสังหาฯ Laggard อยู่หลายตัว “สามารถ ฉั่วศิริพัฒนา” เน้นหุ้นรายตัว ตอนนี้ถืออยู่ 10-12 ตัว
นายสมพงษ์ ชลคดีดำรงกุล “เสี่ยปู่” นักลงทุนรายใหญ่ กล่าวว่า ภาวะเศรษฐกิจถดถอยเป็นปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นในสหรัฐ และวิกฤตสภาพคล่องของธนาคารแห่งซิลิคอน วัลเลย์ (Silicon Valley Bank : SVB) ส่งผลกระทบให้หุ้นธนาคารอื่น ๆ ในสหรัฐต่างปรับตัวลงมาก แม้แต่กลุ่มการเงินของไทยตอนนี้ก็ไม่ค่อยดี จากหนี้ภาคครัวเรือนที่สูง และมีปัญหาการเก็บภาษี โดยเฉพาะพวกขายสินค้าเงินผ่อน มีโอกาสที่หนี้เสียจะเพิ่มขึ้นมาก ซึ่งทิศทางเศรษฐกิจที่ไม่ค่อยดี ทำให้วอลุ่มเทรดโดยรวมลดลงไปด้วย จึงเลือกเก็บเงินสดไว้น่าจะดีกว่า
“ที่ผ่านมาผมได้พยายามลดพอร์ตการลงทุน ก็ปรับลดไปแล้ว 20-30% ของพอร์ตการลงทุนทั้งหมด ซึ่งทิศทางตลาดอย่างนี้ถือเงินสด ได้เปรียบกว่าดัชนีฯหลุด 1,600 จุด ทางเทคนิคก็มองกันว่ามีโอกาสที่จะลงไปได้อีก 300 จุด +/- แต่เราก็ยังไม่เชื่อนะ มันไม่น่าจะลงไปได้ แต่ตอนนี้ผมก็ระมัดระวัง ไม่ค่อยซื้อ แม้ว่าหลายตัวราคาถูกพอควร ผมก็ยังเทรดอยู่ แต่เทรดน้อย ๆ ช่วงรอดูทิศทางตลาดก่อน ซึ่งก็จะเล่นหุ้นเป็นรายตัวไป”เสี่ยปู่กล่าว
อย่างไรก็ดี หุ้นตัวดี ๆ ในตลาดก็ยังมีให้เลือกลงทุน อย่าง บริษัท ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ (ORI) ราคาหุ้นปรับตัวขึ้นมาเรื่อย ๆ ได้ประโยชน์จากบริษัทลูก “พรีโม เซอร์วิส โซลูชั่น” (PRI) ที่กำไรเติบโตมาก และยังจะผลักดันบริษัทลูกเข้าตลาดอีกหลายบริษัทด้วย อีกหน่อยก็คงจะเป็น Holding Company ทำให้หุ้น ORI ขึ้นสวนทางตลาดได้ แต่ตอนนี้ก็จะไม่ซื้อหุ้น ORI เพิ่มแล้ว เพราะซื้อเพิ่มไปตั้งแต่ตอนราคาหุ้นอยู่แถว 9-10 บาท และตอนนี้ถือหุ้น ORI เกิน 5% แล้ว และจะยังถืออยู่ต่อไป ตอนนี้ก็ไม่ใช่จังหวะซื้อด้วย แต่ถ้าราคาหุ้นปรับตัวลงก็อาจจะซื้อเพิ่มได้ ส่วนหุ้น บริษัท บริหารสินทรัพย์ ไนท คลับ แคปปิตอล (KCC) ปรับตัวลงมามากแล้ว จน Downside น้อย ตอนนี้ก็น่าจะรับได้ เพราะธุรกิจที่ KCC ทำ เป็นการซื้อหนี้มาบริหาร ซึ่งไปได้อยู่แล้ว เพราะหนี้เสียมีอยู่มาก สำหรับหุ้นในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ก็ยัง Laggard อยู่หลายตัว
“ตอนนี้ควรจะถือหุ้นที่มีการเติบโต และมีปันผล ค่อย ๆ ซื้อสะสมได้ หลายตัวราคาถูกพอควร ดูหุ้นเป็นตัว ๆ ไป ส่วนการเลือกตั้งจะที่เกิดขึ้น ในช่วงที่หาเสียงก็น่าจะช่วยทำให้สภาพคล่องดีขึ้น”นายสมพงษ์กล่าว
ด้านนายสามารถ ฉั่วศิริพัฒนา กล่าวในฐานะนักลงทุนรายใหญ่ว่า นับจากต้นปี 2566 ได้ลดพอร์ตลงทุนไปแล้วเกือบ 50% ของพอร์ตลงทุนทั้งหมด ซึ่งเป็นการทยอยปรับลดพอร์ตลงทุน แต่ยังลงทุนหุ้นในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ส่วนหนึ่ง ถือหุ้นนานเหมือนกัน แต่ไม่ถือยาวนานอย่างนักลงทุน VI และลงทุนหุ้นในกลุ่มค้าปลีกที่เกี่ยวกับ Consumer เป็นหลัก รวมถึงหุ้นในกลุ่มลิสซิ่งที่มีการเติบโตดี ก็จะลงทุนหุ้นเป็นรายตัว ตอนนี้ที่ถืออยู่ก็มีประมาณ 10-12 ตัว
“ผมไม่ได้เล่น Day trade ตามเขาไม่ทัน แต่ก็ไม่ใช่นักลงทุน VI เหมือนกัน เพราะไม่ถือหุ้นยาวนานมาก ผมจะมีระยะเวลาในการถือหุ้นบางตัว 3-6 เดือน บางตัว 1 ปี บางตัวก็ 2 ปี แล้วแต่ตัว ผมจะเล่นหุ้นเป็นรายตัว ตอนนี้ทิศทางโดยรวมไม่ค่อยดี ทำให้ทยอยลดพอร์ตลงทุนมาตั้งแต่ต้นปีแล้ว ลดไปเกือบ 50% แล้ว แต่ก็ยังถือหุ้นอยู่ 10-12 ตัว ซึ่งผมเล่นหุ้นจะดูพื้นฐาน จะเล่นตัวคุ้นเคย ไม่เล่นเยอะ ดูกราฟไม่เป็น ตลาดบ้านเราไม่ใหญ่มาก แต่ก็หลีกหนีไม่พ้นที่จะรับผลกระทบจากปัจจัยนอกประเทศ”
นายสามารถกล่าวว่า การส่งออกของไทยเป็นปัญหา แต่การเลือกตั้งก็ยังเป็นปัจจัยบวกให้กับตลาด และการท่องเที่ยว, ค้าปลีก, อสังหาริมทรัพย์ ก็ยังดี การลงทุนยังมีอยู่มาก ซึ่งมองปัจจัยในประเทศไม่ได้มีอะไรมากระทบตลาด แต่ก็หลีกเลี่ยงที่จะรับผลกระทบจากปัจจัยนอกประเทศไม่ได้
นายณัฐพล คำถาเครือ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) กล่าวว่า ตลาดหุ้นวันที่ 10 มี.ค.2566 ปรับตัวลง 0.90% หรือ -14.57 จุด ปิดที่ระดับ 1,599.65 จุด ในทิศทางเดียวกับตลาดต่างประเทศ โดยตลาดหุ้นในภูมิภาคเอเชีย และตลาดในยุโรปที่เทรดบ่ายนี้ต่างก็ปรับตัวลง จากความกังวลธนาคารในสหรัฐหลัง SVB ปล่อยสินเชื่อให้กลุ่มสตาร์ทอัพล้มไป แสดงให้เห็นกลุ่มสตาร์ทอัพในสหรัฐเริ่มมีปัญหา ส่งผลให้กลุ่มธนาคารเริ่มมีสัญญาณอ่อนแอ ซึ่งเป็นประเด็นใหม่ที่เข้ามาในตลาด ทำให้ตลาดหุ้นต่างปรับตัวลง
นอกจากนี้ ยังรอดูตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐที่จะออกมาในวันที่ 14 มี.ค.นี้ โดยตลาดคาด 6.2% ชะลอจากเดือนม.ค.ที่ 6.4%รวมถึงสัปดาห์หน้ามีลุ้นยุบสภาในวันที่ 15 มี.ค. และการประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB) จะมีขึ้นในวันที่ 16 มี.ค.อาจจะทำให้เงินยูโรแข็งค่าขึ้น ขณะที่เงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลง ทั้งนี้ ล่าสุดตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตรของสหรัฐฯ เดือนก.พ.เพิ่มขึ้น 311,000 ตำแหน่ง สูงกว่าคาดที่ 225,000 ตำแหน่ง ส่วนอัตราว่างงานเพิ่มขึ้นมาที่ 3.6% สูงกว่า 3.4%ที่นักวิเคราะห์คาด
แนวโน้มการลงทุนในสัปดาห์นี้ตลาดคงจะเคลื่อนไหวไซด์เวย์ โดยมีแนวรับ 1,590-1,595 จุด ส่วนแนวต้าน 1,620 จุด
ข่าวใหญ่!!! วันที่ 11 มีนาคม 2566 ซีเอ็นเอ็นรายงานว่า ธนาคารแห่งซิลิคอน วัลเลย์ (SVB) ซึ่งเป็นผู้ปล่อยกู้ให้กับกลุ่มเวนเจอร์แคป และสตาร์ตอัพ เข้าสู่ภาวะล้มละลายหลังเพิ่มทุนไม่สำเร็จ มีการแห่ถอนเงินฝาก จนกดดันให้ต้องขายเงินลงทุนในตราสารหนี้ขาดทุน นับเป็นวิกฤตการณ์ครั้งใหญ่เป็นอันดับสองของสถาบันการเงินในประวัติศาสตร์ของสหรัฐ หวั่นโดมิโน กดดันให้หุ้นสถาบันการเงินสหรัฐร่วงระนาว และดัชนีดาวโจนส์ดิ่งต่อ 345 จุดหรือ-1.07% ปิดที่ 31,909.64 จุด
สาเหตุมาจากความกังวลต่อภาคธนาคาร หลัง SVB ถูกสั่งปิดกิจการ หุ้นธนาคารหลายตัวหยุดพักการซื้อขายแบบชั่วคราวหลายรอบ หุ้นธนาคารภูมิภาคปรับตัวลง ทั้ง First Republic Bankที่ลดลง 15% PacWest Bancorp ลดลง 38% Western Alliance Bancorp ลดลง 21% และ Signature Bank ลดลง 23% ท่ามกลางแรงเทขาย ขณะที่หุ้นธนาคารใหญ่ ทั้งโกลด์แมน แซคส์ลดลง 4.2% หุ้นแบงก์ออฟอเมริกาลดลง 0.9% หุ้นเจพีมอร์แกนลดลง 2.5%
ตลาดหุ้นวันที่ 10 มี.ค. 2566 หุ้นร่วงหนักมาจากนักลงทุนต่างประเทศทิ้งอีก 3,817 ล้านบาท สถาบันไทยขายด้วย 398.91 ล้านบาท ด้านนักลงทุนไทยซื้อสุทธิ 3,531.59 ล้านบาท รวมเดือน มี.ค. (1-10 มี.ค.) ต่างชาติกระหน่ำขาย 14,746.29 ล้านบาท และนับตั้งแต่ต้นปี ทิ้งทั้งสิ้น 39,913.98 ล้านบาท สถาบันไทยขายด้วย 1,807.43 ล้านบาท ส่วนนักลงทุนไทยรับซื้อจำนวน 38,093.55 ล้านบาท และพอร์ตบล. ซื้อจำนวน 3,690.87 ล้านบาท