TSTH ลั่นกำไรโต

ทาทาสตีลมั่นใจรายได้-กำไรโตปีนี้ ปัจจัยบวกหนุน ต้นทุนลดลง กำลังการผลิตเหลือเฟือ ไม่จำเป็นลงทุนขยายกำลังการผลิต

นายราจีฟ มังกัล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทาทา สตีล (ประเทศไทย) หรือ TSTH แถลงข่าวเช้าวันนี้ว่า บริษัทตั้งเป้าปริมาณการขายเหล็กรวมงวดปี 2561/2562 (เม.ย.2561-มี.ค.2562) ที่ 1.32-1.35 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 8-10% จากปริมาณการขายรวมในงวดปี 2560/2561 (เม.ย.60-มี.ค.61) ที่ 1.21 ล้านตัน เกิดจากการผลักดันการขายเหล็กลวด และการส่งออกมากขึ้น เพื่อชดเชยการชะลอตัวของภาคก่อสร้างในประเทศ

บริษัทตั้งเป้าการส่งออกในปี 2561/2562 ไว้ที่ 1.5 แสนตัน จากปีก่อนอยู่ที่ 1.13 แสนตัน ขณะที่ไตรมาส 1 งวดปี 2561/2562 คาดว่าจะอยู่ที่ 5 หมื่นตัน

บริษัทขยายเครือข่ายค้าปลีกให้มากขึ้น และร่วมกับนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อเสนอขายผลิตภัณฑ์เหล็กที่มีมูลค่าเพิ่มโดยตรง และการลดการสูญเสียพลังงานในเตาเผาและสายการผลิต เพื่อควบคุมต้นทุนค่าใช้จ่ายให้อยู่ในระดับที่ลดลง

“ความต้องการของเหล็กก่อสร้างดีขึ้นในครึ่งหลังปีนี้ หรือตั้งแต่เดือนก.ค.-ส.ค.61 เนื่องจากเศรษฐกิจที่เติบโตจะเป็นปัจจัยสำคัญในการลงทุนของประเทศ บริษัทคาดปริมาณความต้องการใช้เหล็กเส้นก่อสร้างในปีนี้จะเพิ่มขึ้น 5% จากปีก่อนอยู่ที่ 5.9-6 ล้านตัน ขณะที่คาดความต้องการใช้เหล็กโดยรวมในปีนี้จะอยู่ที่ 17.5 ล้านตัน จากปีก่อนอยู่ที่ 16.5 ล้านตัน”กรรมการผู้จัดการใหญ่กล่าว

ส่วนกรณีสหรัฐฯขึ้นภาษีนำเข้าเหล็กและอลูมิเนียมนั้น ขณะนี้ยังไม่มีผลกระทบโดยตรงในภูมิภาค แต่ยังคงมีความเสี่ยงที่ปริมาณเหล็กจะถูกถ่ายโอนไปยังภูมิภาคอาเซียน จากการปิดกั้นการนำเข้าของสหรัฐฯ ก็อาจจะส่งผลต่อราคาเศษเหล็กปรับตัวสูงขึ้น ปัจจุบันอยู่ที่ 350 เหรียญสหรัฐฯ/ตัน จากความต้องการจากสหรัฐฯ ตุรกี และอนุทวีปอินเดีย ที่เพิ่มมากขึ้น

สำหรับผลการดำเนินงานของบริษัท ในไตรมาส 4 งวดปี 2560/2561 มีปริมาณการขายที่ 3.16 แสนตัน ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่ทำได้ 3.44 แสนตัน เป็นผลมาจากความต้องการใช้เหล็กเส้นก่อสร้าง ของอุตสาหกรรมก่อสร้างชะลอตัวลง แต่เติบโตดีกว่าไตรมาสก่อนหน้า ที่มีปริมาณการขายอยู่ที่ 3.02 แสนตัน มียอดขายสุทธิในไตรมาส 4 อยู่ที่ 6,110 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6% เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา และเพิ่มขึ้น 5% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน

ขณะที่กำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษีนิติบุคคล ค่าเสื่อม และค่าจัดจำหน่าย (EBITDA) อยู่ที่ 270 ล้านบาท ลดลง 43% จากไตรมาสที่ผ่านมา และลดลง 34% จากงวดปีก่อน จากการตั้งสำรองเผื่อด้อยค่าของสินทรัพย์เตาถลุงเหล็กขนาดเล็ก (MBF)

ด้านแผนการลงทุนในงวดปี 2561/2562 บริษัทมีอัตราการใช้กำลังการผลิตกว่า 75% และยังคงมีกำลังการผลิตคงเหลือ จึงยังไม่มีความจำเป็นในการลงทุนเพื่อขยายกำลังการผลิตเพิ่ม อีกทั้งในช่วงที่ผ่านมาบริษัทได้ลงทุนเพิ่มกำลังการผลิตในส่วนของผลิตภัณฑ์เหล็กตัดและดัด รวมถึงผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่ม (HVA) ซึ่งคาดว่าจะช่วยเพิ่มกำลังการผลิตเป็น 1.3 หมื่นตันต่อเดือน จากเดิม 1 หมื่นตันต่อเดือน