โดย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)
หลายองค์กรจากทุกภาคส่วนของระบบเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงภาคการเงินและตลาดทุนในปัจจุบันต่างตระหนักถึงความสำคัญและความจำเป็นในการดำเนินธุรกิจเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน ซึ่งครอบคลุม 3 มิติ คือ ด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) เพื่อตอบสนองต่อความคาดหวังของผู้ลงทุนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกลุ่มต่าง ๆ ที่ต้องการเห็นกิจการประกอบธุรกิจที่คำนึงถึงเรื่อง ESG เพิ่มมากขึ้น
แนวคิดการลงทุนอย่างยั่งยืน (Responsible Investment) กลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ผู้ลงทุนใช้ประกอบการตัดสินใจลงทุนมากขึ้น สะท้อนให้เห็นจากกระแสตอบรับของ ESG funds ทั่วโลกที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด ในปี 2565 ESG funds ทั่วโลกมีจำนวน 7,012 กอง เพิ่มขึ้นกว่า 7 เท่าตัว จากปี 2564 ด้วยมูลค่าสินทรัพย์รวม (AUM) 2.49 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่บริษัทจดทะเบียนต่างมุ่งเน้นการประกอบธุรกิจที่ให้ผลลัพธ์แบบ “Triple bottom lines” หรือ “ไตรกำไรสุทธิ” ได้แก่ Profit, Planet และ People ที่ไม่ได้มุ่งหวังเพียงกำไรสูงสุดเท่านั้น แต่จะต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคมและการดูแลรักษาทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมเพื่อส่งต่อโลกที่น่าอยู่ให้แก่อนุชนรุ่นถัดไป
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. ให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนในการยกระดับ ESG ในตลาดทุนไทยเพื่อความยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรมมาอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2565 ได้ร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และสมาคมบริษัทจัดการลงทุน เป็นต้น ในการจัดทำแผนการขับเคลื่อนงานด้าน ESG ของตลาดทุน (ESG Master Plan) สำหรับเป็นแผนแม่บทหรือกรอบแนวนโยบายสำหรับหน่วยงานต่าง ๆ ในตลาดทุน นำไปใช้ในการกำหนดโครงการหรือแผนงานด้าน ESG ให้สอดรับและไปในทิศทางเดียวกัน
ทั้งนี้ ก.ล.ต. ได้นำ ESG Master Plan เข้าเป็นส่วนหนึ่งในยุทธศาสตร์ที่ 4 ตลาดทุนไทยส่งเสริมความยั่งยืนของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องและระบบเศรษฐกิจในระยะยาว (Sustainable Capital Market) ของแผนพัฒนาตลาดทุนไทย ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2565 – 2570) รวมทั้งเชื่อมโยงกับแผนการดำเนินงานของ ก.ล.ต. ภายใต้แนวทางการพัฒนาภาคการเงินเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Initiatives for Thailand) ที่จัดทำโดยคณะทำงานด้านความยั่งยืนในภาคการเงิน (Working Group on Sustainable Finance) ซึ่งสอดรับกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ และมีส่วนช่วยสนับสนุนให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals: SDGs) ESG Master Plan ประกอบด้วย 4 ด้าน ได้แก่ (1) การดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน (Sustainable Business) (2) การลงทุนอย่างยั่งยืน (Sustainable Investment) (3) การจัดการและการเปิดเผยข้อมูล ESG ของภาคธุรกิจ (ESG Data & Disclosure) และ (4) การส่งเสริมความรู้ความเข้าใจเรื่องการดำเนินธุรกิจและการลงทุนอย่างยั่งยืนให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่เกี่ยวข้อง (ESG Education and Communication)
ซึ่ง ก.ล.ต. ได้กำหนดเรื่องที่จะดำเนินการดังกล่าวไว้ในแผนยุทธศาสตร์ ก.ล.ต. ปี 2566 – 2568 ในส่วนของการยกระดับศักยภาพตลาดทุนเพื่อความยั่งยืน (Sustainable capital market) โดยได้รวม 4 เรื่องสำคัญ คือ (1) การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate change) (2) ธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (Human rights) ซึ่งรวมถึงการเพิ่มบทบาทของสตรีในระดับผู้นำองค์กร (Gender equality) (3) การขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) และ (4) การยกระดับการเปิดเผยข้อมูล ESG ของบริษัทจดทะเบียน
(1) ด้าน Climate change ก.ล.ต. ได้ส่งเสริมให้บริษัทจดทะเบียนและภาคธุรกิจมีการจัดการความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศและดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายของประเทศไทยในเรื่องความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net zero) ภายในปี ค.ศ. 2065 โดยเตรียมความพร้อมให้ภาคธุรกิจมีความตระหนักรู้และสามารถเปิดเผยข้อมูลในแบบ 56-1 One Report ที่สอดคล้องกับมาตรฐานที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากล เพื่อตอบโจทย์ผู้ลงทุนและผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย ผ่านการจัดกิจกรรมเชิงปฏิบัติการเพื่อให้ความรู้ความเข้าใจในประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมและสามารถกำหนดเป็นนโยบายของบริษัท การวัดและการเก็บข้อมูลเพื่อรายงานการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างถูกต้อง
พร้อมทั้งสนับสนุนค่าธรรมเนียมในการทวนสอบ รวมถึงเปิดเผยข้อมูลได้ตามคำแนะนำการเปิดเผยข้อมูลทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศ (Task Force on Climate-related Financial Disclosures: TCFD) รวมทั้งการร่วมมือกับหน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมในการขับเคลื่อนในด้าน Climate change เช่น สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (TEI) และองค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (TBCSD) โครงการ Carbon Disclosure Project (CDP) เป็นต้น
(2) ธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (Human rights) ก.ล.ต. ได้รับมอบหมายตามแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน หรือ แผน NAP ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2562 – 2565) และ (ร่าง) แผน NAP ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2566 -2570) ให้สร้างความรู้ความเข้าใจแก่ภาคธุรกิจในเรื่องธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน โดยสามารถนำหลักการชี้แนะของสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (UNGPs) และการตรวจสอบสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้าน (HRDD) มาปรับใช้ตามบริบทของแต่ละธุรกิจ โดย ก.ล.ต. ได้สนับสนุนให้คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดทำโครงการธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนสำหรับภาคธุรกิจในตลาดทุนไทย ระยะที่ 1 และ 2 โดยจัดทำหลักสูตรอบรมและสัมมนา รวมถึงคู่มือและสื่อความรู้และแนวปฏิบัติภายใต้แนวทางของคณะทำงานจัดทำหลักสูตรอบรม “ธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน สำหรับธุรกิจในตลาดทุนไทย” ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนจากภาครัฐ ภาคธุรกิจ องค์การระหว่างประเทศ และนักวิชาการ เพื่อส่งเสริมให้บริษัทจดทะเบียนดำเนินธุรกิจที่เคารพสิทธิมนุษยชนตามหลักการ UNGPs และนำ HRDD มาปรับใช้ เพื่อนำไปสู่ภาคปฏิบัติและประเมินผลได้อย่างเป็นรูปธรรมตลอดห่วงโซ่คุณค่า รวมทั้งนำไปเปิดเผยข้อมูลในแบบ 56-1 One Report
นอกจากนี้ ก.ล.ต. ได้ร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ขับเคลื่อนประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนโดยขยายผลไปสู่ประเด็นการลดความเหลื่อมล้ำ ส่งเสริมการจ้างงานคนพิการ และมอบรางวัลแก่บริษัทจดทะเบียนผ่านโครงการ “รางวัลองค์กรต้นแบบความยั่งยืนในตลาดทุนไทยด้านสนับสนุนคนพิการ” ด้านการเพิ่มบทบาทของสตรีในระดับผู้นำองค์กร (Gender equality) เพื่อสร้างความเท่าเทียมให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งมีส่วนช่วยให้องค์กรได้มุมมองในการดำเนินธุรกิจที่หลากหลาย เกิดการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรและนวัตกรรมใหม่ ๆ ขององค์กร รวมทั้งได้เสริมสร้างความตระหนักรู้ ให้ภาคธุรกิจเห็นถึงศักยภาพของสตรีในการเป็นผู้บริหารระดับสูงและกรรมการบริษัทมากยิ่งขึ้น ตลอดจนการจัดทำแหล่งสืบค้นข้อมูล Women Corner บนเว็บไซต์ ก.ล.ต. www.sec.or.th เพื่อให้ข้อมูลงานด้านส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศที่สืบค้นได้ง่าย มุ่งสู่เป้าหมายให้บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยมีวัฒนธรรมองค์กรที่คำนึงถึงความเท่าเทียมทางเพศได้อย่างเป็นรูปธรรม
(3) การขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ก.ล.ต. ได้ร่วมมือกับองค์กรระหว่างประเทศและเครือข่ายด้านการพัฒนาความยั่งยืน อาทิ โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ประจำประเทศไทย สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (GCNT) เป็นต้น ส่งเสริมองค์ความรู้เรื่อง SDGs ให้แก่ภาคธุรกิจในตลาดทุน เพื่อสนับสนุนให้บริษัทจดทะเบียนดำเนินธุรกิจอย่างมี ESG และผู้ลงทุนสถาบันมีการจัดการลงทุนอย่างรับผิดชอบ รวมทั้งสามารถเชื่อมโยงมาสู่เป้าหมาย SDGs ได้ เช่น การจัดอบรมหลักสูตร ก้าวอีกขั้นสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของบริษัทจดทะเบียนไทย (Workshop on SDG-Smart Impact Measurement and Management: SDG-IMM) การจัดทำแผนที่การลงทุนสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย (SDGs Investor Map) การจัดให้มีคู่มือ SDGs สำหรับบริษัทจดทะเบียน และมุมความรู้เรื่อง SDGs บนเว็บไซต์ของ ก.ล.ต. เป็นต้น เพื่อให้บริษัทจดทะเบียนและธุรกิจในตลาดทุน ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนด้านความยั่งยืน (SDGs drivers) เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน และส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศและสังคมโดยรวมให้เติบโตอย่างยั่งยืน
(4) อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่จะทำให้การขับเคลื่อนงานด้าน ESG ประสบความสำเร็จ คือการทำให้ภาคธุรกิจมีการเปิดเผยข้อมูล ESG สอดคล้องกับมาตรฐานที่ยอมรับในระดับสากล และสามารถเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภายในประเทศและต่างประเทศได้ ดังนั้น ก.ล.ต. จึงได้ปรับปรุงและเริ่มใช้แบบ 56-1 One Report ในปี 2565รวมทั้งร่วมมือและสนับสนุนตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พัฒนาระบบฐานข้อมูลในรูปแบบ structured data (ESG Data Platform) รองรับการเปิดเผยข้อมูลตามแบบ 56-1 One Report เพื่อยกระดับการเข้าถึงข้อมูลรองรับการวิเคราะห์ข้อมูลแบบ machine readable และเตรียมความพร้อมสำหรับเวทีสากลต่อไป
เป้าหมายใหญ่ของ ก.ล.ต. ในการขับเคลื่อนตลาดทุนที่ยั่งยืนซึ่งเป็นกลไกสำคัญหนึ่งที่ช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงของระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ คือ การผลักดันให้ภาคธุรกิจให้ความสำคัญและมีการปฏิบัติจริงในเรื่อง ESG (ESG in practice) ตลอดรวมไปถึงห่วงโซ่คุณค่าของภาคธุรกิจ ซึ่งความสำเร็จนี้จะเกิดขึ้นได้ ต้องอาศัยความร่วมมือทั้งจากภาคธุรกิจที่คณะกรรมการและผู้บริหารระดับสูงในฐานะผู้นำบริษัทให้ความสำคัญ (Tone from the top) และการประสานความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อสนับสนุนให้ภาคธุรกิจไทยเป็น Asset Class ในระดับสากล สิ่งเหล่านี้เป็นทั้งโอกาสและความท้าทายอย่างยิ่ง และ ก.ล.ต. มุ่งมั่นจะปฏิบัติภารกิจนี้อย่างเต็มกำลังต่อไป