ภาษีขายหุ้นส่อไม่ทันพ.ค.นี้ ต่างชาติทิ้งหุ้นก.พ. 4 หมื่นล.

HoonSmart.com>>รมว.คลังย้ำภาษีขายหุ้นยังอยู่ในขั้นตอน ท่ามกลางกระแสเก็บไม่ทันตามกำหนดเดือน พ.ค.นี้ ด้านหุ้นลงต่อ 5 จุด ต่างชาติขายหนัก 3 พันล้านบาท สัดส่วนซื้อขายกว่า 60% ค่าเงินบาท ระหว่างวันอ่อนค่าสุดในรอบ 3 เดือนที่ 35.39 บาท หลังธปท. เปิดตัวเลขเศรษฐกิจม.ค.ไม่ดี ทั้งตัวเลขส่งออก ดุลบัญชีเดินสะพัดพลิกขาดดุล 2 พันล้านดอลลาร์

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง เปิดเผยว่า ขณะนี้การผลักดันร่างกฎหมายการจัดเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะจากการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ยังอยู่ในขั้นตอน ส่วนจะใช้ได้ทันในเดือนพ.ค.2566 ที่วางไว้หรือไม่นั้น กำลังพยายามอยู่

ด้านแหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง กล่าวว่า  การเก็บภาษีขายหุ้นคงบังคับใช้ไม่ทันกำหนดเดิมเดือนพ.ค.นี้เพราะถ้าเป็นตามกรอบนั้น จะต้องนำขึ้นทูลเกล้าฯ ในเดือนก.พ. เพราะกฎหมายเมื่อลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว จะมีผลบังคับใช้หลังจากนั้นอีก 3 เดือน  แต่ล่าสุดร่างกฎหมาย ได้ผ่านขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา และส่งร่าง พ.ร.ฎ.ฉบับดังกล่าว กลับไปที่สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งขั้นตอนต่อจากนี้ คือ นายกรัฐมนตรีจะต้องนำขึ้นทูลเกล้าฯ ก่อนที่จะมีประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาต่อไปซึ่งขั้นตอนนี้ ไม่สามารถตอบได้ว่าจะเป็นเมื่อไร

กรณีถ้ารัฐบาลประกาศยุบสภาแล้ว ทำให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีสภาพเป็นรัฐบาลรักษาการ จะมีผลกระทบให้ขั้นตอนการเสนอกฎหมายต้องสะดุดลงหรือไม่นั้น  ร่างพ.ร.ฎ.ดังกล่าว ถือเป็นกฎหมายของฝ่ายบริหาร ไม่ได้มีข้อห้ามใดๆ ในการนำเสนอกฎหมายในระหว่างการเป็น ครม.รักษาการ เพียงแต่ความเหมาะสม หรือมารยาททางการเมืองก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

ทั้งนี้หากมีการเริ่มจัดเก็บภาษีขายหุ้นในปีแรกของการบังคับใช้กฎหมาย จะจัดเก็บในอัตราเพียงกึ่งหนึ่งของที่กฎหมายกำหนด คือ 0.055% เพื่อให้เวลานักลงทุนได้ปรับตัว ซึ่งกฎหมายกำหนดอัตราการจัดเก็บไว้ที่ 0.11% ของมูลค่าหุ้นที่ขายได้ (รวมภาษีท้องถิ่น)

ด้านตลาดหุ้นวันที่ 28 ก.พ.ดัชนีเคลื่อนไหวในแดนบวก แต่ยืนไม่ได้นาน กลับถูกขายลงไปต่ำสุดแตะ 1,618.09 จุด และฟื้นขึ้นมา ปิดที่ระดับ 1,622.35 จุด ลดลง 5 จุด หรือ -0.31% มูลค่าซื้อขาย 80,307.99 ล้านบาท โดย ต่างชาติขายมากกว่า 3,396.52 ล้านบาท เป็นผู้เล่นที่มีสัดส่วนซื้อขายสูงสุดกว่า 60%  รวมแรงขายรวมทั้งเดือนก.พ. กว่า 43,000 ล้านบาท กดดันค่าเงินบาทอ่อน ระหว่างวันอ่อนค่าสุดในรอบ 3 เดือน ที่ 35.39 ปิดตลาดเย็นนี้อยู่ที่ระดับ 35.35 บาท/ดอลลาร์ หลังจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รายงานภาวะเศรษฐกิจไทย  ตัวเลขส่งออกที่ออกมาไม่ดี และดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลพลิกขาดดุล 2 พันล้านดอลลาร์

นายสมบัติ เอกวรรณพัฒนา ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิจัยหลักทรัพย์ บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) กล่าวว่า หุ้นในช่วงบ่ายนี้อ่อนตัวลงคล้ายคลึงกับตลาดต่างประเทศ โดยตลาดหุ้นในภูมิภาคเอเชียที่เคลื่อนไหวทั้งในแดนบวก-ลบอ่อนตัวลงจากช่วงเช้า เช่นเดียวกับตลาดในยุโรปที่เทรดบ่ายนี้ส่วนใหญ่ติดลบราว 0.5% แม้แต่ดาวโจนส์ฟิวเจอร์สก็ติดลบอยู่เช่นกัน โดยตลาดมีปัจจัยกดดันหลักจากเงินบาทที่อ่อนต่ามาก ล่าสุดอยู่แถว 35.34 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ซึ่งเงินบาทอ่อนค่าเร็วทำให้เงินไหลออก เห็นได้จากนักลงทุนต่างชาติขายสุทธิต่อเนื่อง

นอกจากนี้ แบงก์ชาติประกาศตัวเลขส่งออกมาก็หดตัว -3.4% ในเดือนม.ค. เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนนำเข้าโต 9.1% แต่ที่สำคัญดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลมากถึง 2 พันล้านเหรียญ กดดันให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าด้วย ส่วนปัจจัยนอกประเทศก็ไม่สดใสมีความกังวลเงินเฟ้อสหรัฐที่สูง-การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)

ส่วนแนวโน้มการลงทุนในวันพรุ่งนี้ (1 มี.ค.) ตลาดคงจะแกว่งไซด์เวย์ ยังคงรับแรงกดดันจากงบฯของบางบริษัทที่ออกมาต่ำกว่าคาด แต่การให้ข้อมูลของบริษัทถึงแนวโน้มการเติบโตในปี 2566 อาจช่วยทำให้ทิศทางดีขึ้นได้บ้าง และตลาดยังมีความคาดหวังการท่องเที่ยว และการบริโภค มาช่วยหนุนตลาดได้ พร้อมให้แนวรับ 1,610-1,600 จุด แนวต้าน 1,630-1,640 จุด

ทั้งนี้ตลาดในช่วงท้ายยังมีความผันผวน จากแรงเก็งกำไรหุ้นที่ MSCI ประกาศนำเข้า-ออกจากดัชนี ได้แก่ MSCI Global Standard หุ้นเข้า คือ BANPU และไม่มีหุ้นออก ส่วน MSCI Global SmaSmall Cap หุ้นเข้าคือ AURA, BTG, ONEE, SNNP, THCOM หุ้นออก คือ BANPU (เข้าคำนวณในดัชนีใหม่), COM7,TIDLOR, TISCO

น.ส.ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายองค์กรสัมพันธ์ และโฆษก ธปท. เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทในเดือนม.ค. และในเดือนก.พ.กลับมาอ่อนค่า โดยตลาดปรับเพิ่มการคาดการณ์การขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐ เนื่องจากตัวเลขการจ้างงานของสหรัฐออกมาค่อนข้างดี และเงินเฟ้อไม่ได้ปรับลดลงต่อ ดอลลาร์จึงแข็งค่า

ส่วนเศรษฐกิจไทยในเดือนม.ค.2566 ปรับดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า โดยเครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนปรับเพิ่มขึ้น การส่งออกเติบโตขึ้นถ้าเทียบกับเดือนก่อนหน้า แต่ถ้าเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนยังลบต่อเนื่อง ลดลง 3.4% เนื่องจากได้รับแรงกดดันจากเศรษฐกิจโลก  คาดว่าไตรมาส 3 หรือไตรมาส 4 เศรษฐกิจโลกจะกลับมาดีกว่านี้ การส่งออกจะต้องเทียบดูเป็นรายเดือน เพื่อจะดูว่าเป็นแรงส่งว่าจะฟื้นตัวได้มากน้อยแค่ไหน ขณะที่มูลค่าการนำเข้าเดือนม.ค. (ข้อมูลเบื้องต้น) เพิ่มขึ้น 9.1% ที่มูลค่า 23 พันล้านดอลลาร์ ส่งผลให้ไทยขาดดุลการค้าราว 2.7 พันล้านดอลลาร์ ส่วนดุลบัญชีเดินสะพัดเดือนม.ค. กลับมาขาดดุลที่ 2 พันล้านดอลลาร์ จากเดือนก่อนหน้า (ธ.ค.) เกินดุล 1.1 พันล้านดอลลาร์

“ดุลบัญชีเดินสะพัดเดือนม.ค. กลับมาขาดดุลประมาณ 2 พันล้านดอลลาร์ เป็นผลจากดุลการค้าที่กลับมาขาดดุล ตามการนำเข้าที่เพิ่มขึ้นในเดือนม.ค. ส่วนดุลบริการ รายได้ และเงินโอนเกินดุลต่อเนื่องตามรายได้จากการท่องเที่ยว  แบงก์ชาติ จะมีการปรับประมาณการในเดือนมี.ค.นี้ โดย GDP ไตรมาส 4/65 ที่สภาพัฒน์รายงาน ซึ่งออกมาต่ำกว่าคาด ก็จะเป็นหนึ่งในปัจจัยที่จะนำมาดูด้วย แต่ในเดือนม.ค. ก็เริ่มเห็นสัญญาณดีขึ้น เพราะฉะนั้น จะต้องนำข้อมูลเศรษฐกิจต่างๆ มาประมวลผลใหม่ในรอบเดือนมี.ค.นี้” น.ส.ชญาวดี ระบุ