ดาวโจนส์ปิดทรุด 697 จุด วิตกเฟดขึ้นดอกเบี้ย

HoonSmart.com>>ตลาดหุ้นสหรัฐ 3 แห่งกอดคอกันร่วงมากกว่า 2%  วิตกอัตราดอกเบี้ยยังคงสูงขึ้นเป็นเวลานาน ผลประกอบการของธุรกิจค้าปลีกอาจจะต่ำกว่าที่ตลาดประเมิน บอนด์ยีลด์ 10 ปีเพิ่มขึ้นแตะระดับ 3.95% ด้านตลาดหุ้นยุโรปปรับตัวลง ราคาน้ำมันดิบลดลงเล็กน้อย 

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ (Dow Jones Industrial Average:DJIA) ปิดวันที่ 21 ก.พ.2566 ปิดที่ 33,129.59 จุด ร่วงลง 697.10 จุด หรือ 2.06% หลังจากกลับมาเปิดซื้อขาย ด้วยแรงเทขายทั่วทั้งกระดาน ส่งผลให้ดัชนีหลักปรับลดลงมากสุดในวันเดียวของปี 2023

ดัชนี S&P500 ปิดที่ 3,997.34 จุด ลดลง 81.75 จุด, -2.00%
ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 11,492.30 จุด ดิ่งลง 294.97 จุด, -2.50%

ตลาดได้รับแรงกดดันจากความกังวลว่าอัตราดอกเบี้ยจะยังคงสูงขึ้น ขณะที่ผลการดำเนินงานล่าสุดของกลุ่มค้าปลีกทั้งโฮมดีโปท์ และวอลมาร์ท ทำให้วิตกมากขึ้นเกี่ยวกับการบริโภค แม้ผลการดำเนินงานของทั้งสองบริษัทยังดีภายใต้สถานการณ์ที่เงินเฟ้อสูง แต่ทั้งสองบริษัทได้เตือนถึงแนวโน้มของเศรษฐกิจ และว่าแรงกดดันเงินเฟ้อทำให้ผู้บริโภคเลือกใช้จ่ายในสินค้าราคาถูก ซึ่งอาจจะกระทบกำไร ตลอดจนคาดการณ์ผลการดำเนินงานทั้งปีต่ำกว่าที่ตลาดประเมิน
หุ้นโฮม ดีโปท์ลดลงลง 7.1% ส่วนหุ้นวอลมาร์ท บวก 0.6%

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีเพิ่มขึ้นแตะระดับ 3.95% ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 2 ปีเพิ่มขึ้นแตะระดับ 4.7%

อดัม เทิร์นควิสต์ จาก LPL Financial กล่าวว่า อัตราผลตอบแทนพันธบัตรปรับขึ้นเพราะตลาดมองว่ามีโอกาสมากขึ้นที่ดอกเบี้ยจะถูกปรับเพิ่มขึ้นเป็นเวลานาน

บรรดาเทรดเดอร์กังวลว่าเงินเฟ้อที่ยังสูงจะทำให้ธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด)ยังเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยอีกนาน ซึ่งอาจจะทำให้เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอย

ซูซานนา สตรีทเตอร์ จาก Hargreaves Lansdown กล่าวว่า นักลงทุนเพิ่งตระหนักว่า การปรับขึ้นดอกเบี้ยรอบใหม่ยังจำเป็น ซึ่งอาจจะปรับถึง 3 ครั้ง เพื่อให้คุมเงินเฟ้อได้ และก็อาจจะส่งผลให้ผู้บริโภคระมัดระวังมากขึ้น

เอสแอนด์พี โกลบอลรายงาน ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคการผลิตและภาคบริการเบื้องต้นเดือนกุมภาพันธ์เพิ่มขึ้นมาที่ 50.2 สูงสุดในรอบ 8 เดือน จาก 46.8 ในเดือนมกราคม

โกลด์แมน แซคส์ระบุว่า มุมมองของนักลงทุนเปลี่ยนไปจากเดิมที่เกรงว่าดอกเบี้ยที่สูงเกินไปจะทำให้เศรษฐกิจถดถอย โดยปัจจุบันมองว่าเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งเกินไปจะทำให้เฟดเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ย

สมาคมนายหน้าอสังหาริมทรัพย์แห่งชาติ (NAR) รายงาน ยอดขายบ้านมือสองเดือนมกราคมลดลง 0.7% มาที่ 4.00 ล้านยูนิต เมื่อเทียบรายเดือน ต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2020 และต่ำกว่า 4.10 ล้านยูนิต ที่นักวิเคราะห์คาด และเป็นการปรับตัวลงเป็นเดือนที่ 12 ติดต่อกัน ส่วนเมื่อเทียบรายปี ยอดขายบ้านลดลง 36.9%

นักลงทุนรอการเผยแพร่รายงานการประชุมครั้งที่ผ่านมาของเฟดซึ่งมีขึ้นในวันที่ 31 มกราคม-1 กุมภาพันธ์ รวมทั้งดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) เดือนมกราคม และGDP เดือนกุมภาพันธ์เพื่อวิเคราะห์การดำเนินนโยบายการเงินของเฟดในระยะต่อไป

ตลาดหุ้นยุโรปปรับตัวลดลง โดยกลุ่มเทคโนโลยีลดลง 1.5% กลุ่มรถยนต์ลดลง 1% กลุ่มทรัพยากรพื้นฐานลดลง 1.2% นักลงทุนเกาะติดการรายงานผลการดำเนินงานและกังวลว่าธนาคารกลางสหรัฐฯจะยังปรับขึ้นดอกเบี้ย ในขณะที่รอรายงานการประชุมนโยบายการเงินของเฟดครั้งที่ผ่านมา

ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคการผลิตและภาคบริการเบื้องต้นเดือนกุมภาพันธ์ ของอังกฤษ ฝรั่งเศส และเยอรมนีกลับมาขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบหลายเดือน
นอกจากนี้นักลงทุนยังเกาะติดสถานการณ์การเมืองระหว่างประเทศโดยเฉพาะความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ซึ่งประธานาธิบดีโจ ไบเดนแห่งสหรัฐฯมีกำหนดแถลงการณ์ในวันนี้หลังเดินทางเยือนกรุงเคียฟ

หุ้นเครดิตสวิส ลดลงราว 5%หลังมีรายงานข่าวรอยเตอร์ว่า ทางการกำลังตรวจสอบการให้ความเห็นของประธานธนาคารที่ว่ากระแสเงินไหลออกมีเสถียรภาพในต้นเดือนธันวาคม

ดัชนี STOXX 600 ปิดที่ 463.77 จุด ลดลง 0.87 จุด, -0.19%
ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,977.75 จุด ลดลง 36.56 จุด, -0.46%
ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 7,308.65 จุด ลดลง 26.96 จุด, -0.37%
ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมนีปิดที่ 15,397.62 จุด ลดลง 79.93 จุด, -0.52%

ราคาน้ำมันดิบ WTI งวดส่งมอบเดือนมีนาคม ลดลง 18 เซนต์ หรือ 0.24% ปิดที่ 76.16 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบ Brent ทะเลเหนือ งวดส่งมอบเดือนเมษายนลดลง 1.02 ดอลลาร์ หรือ 1.21% ปิดที่ 83.05 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล