“บล.กสิกรฯ” มองหุ้นสัปดาห์หน้า 1,630-1,675 จุด ติดตามเฟด-ฟันด์โฟลว์

HoonSmart.com>> “บล.กสิกรไทย” มองแนวรับหุ้นสัปดาห์หน้า (20-24 ก.พ.) 1,630-1,640 จุด แนวต้านแรก 1,665 และ 1,675 จุด ติดตามปัจจัยสำคัญ บันทึกการประชุมเฟด ทิศทางเงินทุนต่างชาติ ข้อมูลดัชนีเดือนก.พ. ยอดขายบ้านใหม่ จีดีพีไตรมาส 4/65 ด้านเงินบาท “ธนาคารกสิกรไทย” มองกรอบเคลื่อนไหวที่ระดับ 34.15-35.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ หลังแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 1 เดือนครึ่ง 

บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย มองหุ้นสัปดาห์ถัดไป (20-24 ก.พ.) ดัชนีหุ้นมีแนวรับที่ 1,640 และ 1,630 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,665 และ 1,675 จุด ตามลำดับ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ บันทึกการประชุมเฟด (31 ม.ค.-1 ก.พ.) รวมถึงทิศทางเงินทุนต่างชาติ ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนี PMI (เบื้องต้น) เดือนก.พ. ยอดขายบ้านใหม่ ยอดขายบ้านมือสอง ดัชนี PCE/Core PCE Price Index รายได้และรายจ่ายส่วนบุคคลเดือนม.ค. และตัวเลขจีดีพีไตรมาส 4/65 ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศอื่นๆ ได้แก่ การกำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ LPR เดือนก.พ. ของจีน ดัชนี PMI (เบื้องต้น) เดือนก.พ. ของญี่ปุ่น ยูโรโซน และอังกฤษ รวมถึงดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนม.ค. ของยูโรโซน

ในวันศุกร์ (17 ก.พ.) ดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,651.67 จุด ลดลง 0.77% จากระดับปลายสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 70,974.88 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 21.39% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai ลดลง 6.11% มาปิดที่ระดับ 569.48 จุด

ตลาดหุ้นไทยร่วงลงต่อเนื่องจากสัปดาห์ก่อน ทั้งนี้ หุ้นไทยแกว่งตัวในกรอบแคบช่วงสั้นๆ ต้นสัปดาห์ ก่อนจะร่วงลงแรงในเวลาต่อมาท่ามกลางความกังวลว่าเฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ยอีกอย่างน้อย 2 ครั้ง หลังตัวเลขเงินเฟ้อเดือนม.ค.ของสหรัฐฯ ชะลอตัวน้อยกว่าตลาดคาด

อย่างไรก็ดี หุ้นไทยดีดตัวขึ้นช่วงสั้นๆระหว่างสัปดาห์ จากแรงซื้อหุ้นบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่แห่งหนึ่ง จากประเด็นเรื่องการแตกพาร์และผลประกอบการที่ออกมาดีกว่าคาด ซึ่งมีผลช่วยหนุนให้กลุ่มเทคโนโลยีปรับขึ้นสวนทางกับหุ้นกลุ่มอื่นที่ปรับตัวลงถ้วนหน้าในสัปดาห์นี้ อนึ่ง หุ้นไทยย่อตัวลงอีกครั้งช่วงปลายสัปดาห์ หลังตัวเลขจีดีพีไทยปี 2565 โตต่ำกว่าคาด

ด้านค่าเงินบาท สัปดาห์ถัดไป (20-24 ก.พ.) ธนาคารกสิกรไทย มองกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทที่ระดับ 34.15-35.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ

ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ สถานะการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติในตลาดการเงินไทยและทิศทางสกุลเงินเอเชีย ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ยอดขายบ้านมือสอง ยอดขายบ้านใหม่ และอัตราเงินเฟ้อที่วัดจากดัชนี PCE/Core PCE Price Index เดือนม.ค. ดัชนีความเชื่อมั่นและตัวเลขคาดการณ์เงินเฟ้อในมุมมองของผู้บริโภคในเดือนก.พ. ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 4/65 (preliminary) และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ รวมถึงบันทึกการประชุมเฟดเมื่อวันที่ 31 ม.ค.-1 ก.พ.

นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามการกำหนดอัตราดอกเบี้ย LPR ของจีน อัตราเงินเฟ้อเดือนม.ค. ของยูโรโซน รวมถึงดัชนี PMI ภาคการผลิต/บริการเบื้องต้นสำหรับเดือนก.พ. ของยูโรโซน อังกฤษ และสหรัฐฯ ด้วยเช่นกัน

ในวันศุกร์ที่ 17 ก.พ. 2566 เงินบาทปิดตลาดที่ระดับ 34.60 บาทต่อดอลลาร์ฯ (หลังแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 1 เดือนครึ่งที่ 34.62 บาทต่อดอลลาร์ฯ) เทียบกับ 33.79 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (10 ก.พ.) สำหรับสถานะพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติระหว่างวันที่ 13-17 ก.พ. นั้น แม้นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิหุ้นไทย 1,624 ล้านบาท แต่มีสถานะเป็น Net Outflows ออกจากตลาดพันธบัตรไทยต่อเนื่องอีก 15,405 ล้านบาท (ขายสุทธิ 10,980 ล้านบาท และตราสารหนี้หมดอายุ 4,425 ล้านบาท)