ศูนย์วิจัยกสิกรไทย รายงานข้อมูลหนี้ครัวเรือนไทยในไตรมาส 2 ปี 2561 ขยับขึ้นมาที่ 12.34 ล้านล้านบาท เติบโตขึ้น 5.7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน นับเป็นอัตราการเพิ่มขึ้นของหนี้ครัวเรือนที่สูงที่สุดในรอบ 3 ปี ซึ่งเป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของสินเชื่อบ้าน สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์
แม้ว่าจะมีการฟื้นตัวของกำลังซื้อและรายได้ภาคครัวเรือนของครัวเรือน แต่บางกลุ่มยังคงอยู่ในระยะแรกเริ่ม นอกจากนี้ ข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนจากสำนักงานสถิติ ยังสะท้อนว่า โดยเฉลี่ยแล้วครัวเรือนไทยก้าวเข้าสู่ปีนี้ด้วยสถานะทางการเงินที่มีความเปราะบางมากขึ้น
ทั้งนี้ สัดส่วนภาระหนี้ต่อรายได้ (Debt Service Ratio: DSR) ของครัวเรือนไทยโดยเฉลี่ย เพิ่มสูงขึ้นมาที่ 29.1% ในปี 2560 จากระดับ 27.2% ในปี 2556
และไม่ใช่เพียงครัวเรือนในกลุ่มรายได้ค่อนข้างน้อยเท่านั้น ที่มีสัดส่วน DSR ที่เพิ่มสูงขึ้น แต่ครัวเรือนในกลุ่มที่มีรายได้ระดับกลาง-บน เช่น กลุ่มรายได้ 70,000-100,000 บาทต่อเดือน ก็มีสัดส่วน DSR เพิ่มสูงขึ้นมากเช่นกัน
“สถานะที่เปราะบางทางการเงินของภาคครัวเรือน รวมถึงความอ่อนไหวต่อปัจจัยที่รอทดสอบในปีหน้า โดยเฉพาะเรื่องความต่อเนื่องในการฟื้นตัวของกำลังซื้อ ตลอดจนความเป็นไปได้ที่อัตราดอกเบี้ยของไทยจะเข้าสู่จังหวะขาขึ้น ยังคงเป็นประเด็นที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะสินเชื่อบ้าน ที่อัตราดอกเบี้ยเป็นแบบลอยตัว และสินเชื่อเช่าซื้อที่อัตราดอกเบี้ยเป็นแบบคงที่ซึ่งอัตราดอกเบี้ยมีโอกาสปรับขึ้นในระยะข้างหน้า”
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ปัจจัยเรื่องดอกเบี้ย น่าจะมีผลต่อบ้างต่อความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือนบางกลุ่ม เช่น ครัวเรือนที่มีหนี้บ้านซึ่งกำลังจะพ้นช่วงดอกเบี้ยคงที่ในปีหน้า และ/หรือผู้ที่ต้องการสินเชื่อเพื่อซื้อที่อยู่อาศัยในปีหน้า
“จากการวิเคราะห์ พบว่า หากอัตราดอกเบี้ยขยับขึ้น 0.50% อาจจะทำให้ภาระการผ่อนชำระต่อเดือน เพิ่มขึ้นมากกว่า 4% เปรียบเทียบกับกรณีที่ไม่มีการปรับขึ้นดอกเบี้ย ดังนั้น อาจคาดเดาได้ว่า หลังจากผ่านพ้นปีนี้ไป จะมีครัวเรือนบางส่วนที่มีภาระหนี้เพิ่มขึ้นกว่าเดิม เนื่องจากหนี้ที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่ในปีนี้ เป็นหนี้ก้อนใหญ่ซึ่งจะก่อให้เกิดภาระผูกพันที่ต้องมีการชำระคืนหนี้ในช่วงหลายปีหลังจากนี้”
ดังนั้น เพื่อให้เห็นภาพของ “ภาระผ่อนต่อเดือน” ที่จะเพิ่มขึ้นจากการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อที่อยู่อาศัย HoonSmart.com จึงใช้โปรแกรมคำนวณสินเชื่อ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) โดยใช้ตัวอย่างคำนวณจากยอดสินเชื่อ 2 ล้านบาท ระยะเวลาผ่อนชำระ 30 ปี ซึ่งจะเห็นว่า เมื่อดอกเบี้ยสินเชื่อบ้านขึ้น 0.5% ต่อปี จะทำให้ภาระผ่อนต่อเดือนเพิ่ม 4-6%
แล้วเราพร้อมหรือยัง ถ้าจะต้องจ่ายหนี้ (บ้าน) เพิ่ม
อ่านเพิ่มเติม