BDMS ทุ่ม 1,500 ลบ. พัฒนานวัตกรรมสู่ความเป็นเลิศด้าน Health Tech อย่างยั่งยืน

HoonSmart.com>> “กรุงเทพดุสิตเวชการ” ตั้งเป้าสู่ความเป็นเลิศทางการแพทย์อย่างยั่งยืน ทุ่มลงทุนนวัตกรรมใหม่กว่า 1,500 ล้านบาทในปี 66-67 พัฒนาธุรกิจ 5 ด้าน พร้อมผลักดันไทยสู่ศูนย์กลางทางการแพทย์ ผ่านแผนพัฒนานวัตกรรมร่วมกับ Startup ไทย คิดค้นนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ ๆ ด้านการแพทย์ ใส่เงินลงทุนหนุน Startup ไทยในระดับซีรีย์ A พัฒนานวัตกรรมที่ใช้งานได้จริงในปีนี้

ดร.พัชรินทร์ บุญยะรังสรรค์ ผู้ช่วยประธานฝ่ายนวัตกรรมองค์กรยั่งยืน บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ (BDMS) กล่าวถึงแนวทางการพัฒนาของ BDMS ว่า จะสอดคล้องกับเทรนด์โลกยุคปัจจุบันที่ผู้คนสามารถเข้าถึงการรักษาได้อย่างสะดวกและมีประสิทธิภาพ ด้วยเทคโนโลยีที่ถูกพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็ว “การสร้างเครือข่ายทางสังคมเป็นเรื่องสำคัญที่ทาง BDMS มุ่งเน้นมาโดยตลอด นอกจากจะกระตุ้นให้เกิดการสร้างสรรค์นวัตกรรมภายในองค์กรแล้ว BDMS ยังมีความร่วมมือกับหน่วยงานภายนอกทั้งภาครัฐ และเอกชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งความร่วมมือที่เกิดขึ้นกับมหาวิทยาลัยทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล หน่วยงานด้านนวัตกรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมด้วย องค์กรภาครัฐ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ และ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.)

พร้อมด้วยภาคเอกชน สมาคม Thai Health Tech Startup ที่เปิดพื้นที่ให้เกิดการทดลองนวัตกรรมใหม่ๆ ซึ่งสามารถนำไปสู่การเพิ่มประสิทธิภาพการบริการทางการแพทย์ที่เป็นเลิศต่อไป

“โครงการที่ได้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมแล้ว ได้แก่ การสนับสนุนเงินลงทุนระดับ Series A ให้แก่ Perceptra โครงการที่ใช้ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ในการอ่านผลเอ็กซเรย์สำหรับนักรังสีการแพทย์ Mineed หรือ เข็มละลายได้ (Microneedle) เพื่อช่วยในการรักษา และไม่เป็นพิษกับร่างกาย โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างรอการอนุมัติจากองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา หรือ FDA ก่อนจะจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ต่อไป และแอปพลิเคชันอูก้า (OOCA) ที่ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อใช้งานในการปรึกษาจิตแพทย์ และนักจิตวิทยาแบบออนไลน์” ดร.พัชรินทร์ กล่าว

นวัตกรรมดังกล่าวนี้เกิดขึ้นมาจากโครงการ BDMS Startup Pitching ที่เป็นสื่อกลางสร้างเครือข่ายให้กับผู้ประกอบการทางเทคโนโลยีด้วยการเปิดพื้นที่โรงพยาบาลในเครือ BDMS ให้เป็นพื้นที่ทดลอง โครงการนี้มีวัตถุประสงค์ที่จะยกระดับมาตรฐานการบริการทางการแพทย์ของประเทศไปสู่ Smart healthcare ในอนาคตอันใกล้นอกจากนี้ ยังมีโปรเจคที่จะเกิดขึ้นตามมาอีกในปีนี้ เช่น Sukha ซึ่งเป็นโครงการพัฒนาการผลิต พลาสเตอร์ปิดแผล ซึ่งมีคุณสมบัติเป็นเซลลูโลสที่ใช้แทนพลาสติกแบบเดิม และช่วยสมานแผลได้ และการเปิดตัวแอปพลิเคชัน BeDee ที่จะให้บริการการพบแพทย์ และเภสัชกรแบบทางไกล หรือ Telehealth และ Tele-pharmacy รวมถึงการสั่งยา (Tele medicine) ซื้อหาสินค้าเวชภัณฑ์ (Health mall) และศูนย์ข้อมูลความรู้ด้านสุขภาพ (Health Content) ซึ่งจะช่วยให้บุคคลทั่วไปสามารถเข้าถึงบริการด้านการแพทย์ได้อย่างสะดวกสบายยิ่งขึ้น

“BDMS จึงมุ่งหวังที่จะสนับสนุนการพัฒนา Health Tech ของไทยที่สร้างโดยคนไทย เพื่อคนไทย เพราะการพัฒนานวัตกรรมไม่สามารถสำเร็จได้ด้วยการทำงานเพียงลำพัง และ BDMS ก็เช่นกัน ที่ได้รับความร่วมมือทั้งจากภาครัฐ มหาวิทยาลัยการแพทย์ และบริษัท Startup ในการยกระดับบริการทางการแพทย์ทั้งการดูแลสุขภาพกาย และสุขภาพจิต ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญในการพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืน และเราก็มุ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะเป็นหนึ่งในฟันเฟืองที่ช่วยยกระดับมาตรฐานสาธารณสุขไทยเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศต่อไป” ดร.พัชรินทร์ กล่าว