BOI ชูจุดแข็ง-ดึง 5 อุตฯอนาคต FETCO คาดเงินนอกจ่อไหลเข้าเพิ่ม

HoonSmart.com>>BOI เปิดยุทธศาสตร์ส่งเสริมการลงทุน เน้นเร่งเครื่องใน 5 อุตสาหกรรมแห่งอนาคต หนุนพลิกโฉมประเทศไทยสู่เศรษฐกิจใหม่ FETCO มั่นใจโครงการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของไทยหลายโครงการที่แล้วเสร็จ อาทิ EEC, รถไฟฟ้า และการพัฒนา CBD ส่งผลรูปธรรมชัดเจน สร้างแรงจูงใจดึงดูดเม็ดเงินลงทุนต่างชาติเข้ามาระลอกใหม่

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย หรือ FETCO กล่าวถึงยุทธศาสตร์ส่งเสริมการลงทุนของ BOI ที่มุ่งเน้นกลุ่มอุตสาหกรรมสู่เศรษฐกิจใหม่ จะเป็นการพลิกโฉมประเทศไทยสู่การลงทุนระลอกใหม่ จากความสำเร็จของโครงการโครงสร้างพื้นฐานต่างๆที่ทำให้ประเทศไทยมีสเน่ห์ดึงดูดนักลงทุนเข้ามามากขึ้น อาทิ การพัฒนาโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรือ EEC, รถไฟฟ้าหลายสายที่ทยอยก่อสร้างแล้วเสร็จ, การพัฒนาพื้นที่ CBD ที่มีโครงการขนาดใหญ่ มีความทันสมัยและมีโครงสร้างพื้นฐานที่ดี และนโยบาย Ease of Investment ของ BOI  จากหลายๆปัจจัยดังกล่าวจะช่วยดึงดูดเม็ดเงินลงทุนต่างชาติเข้ามาได้อย่างคึกคัก

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการ คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) กล่าวถึง ยุทธศาสตร์การส่งเสริมการลงทุนในปี 66 ระบุว่าปัจจัยต่างๆที่ส่งผลกระทบต่อการลงทุนมีความท้าทายมากขึ้น ขณะที่คู่แข่งขันมีความแข็งแกร่งมากขึ้น ประเทศไทยเองก็มีทั้งจุดแข็งเดิมและจุดแข็งใหม่ ซึ่งยังมีความโดดเด่นในภูมิภาคนี้ โดยเฉพาะประเทศไทยมุ่งยกระดับประเภทอุตสาหกรรมที่ส่งเสริมการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ที่จะต่อยอดพลิกโฉมประเทศไทยสู่เศรษฐกิจใหม่ และเชื่อว่าในปี 66 จะมียอดการส่งเสริมการลงทุนไม่ต่ำกว่าปี 65

เป้าหมายการส่งเสริมการลงทุนในปี 66 จะเน้นในเชิงคุณภาพมากขึ้น จะผลักดันการลงทุนใน 5 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ประกอบด้วย BCG (เกษตรชีวภาพ), EV (ยานยนต์ไฟฟ้า), Electronics (อิเลคทรอนิกส์), Digital (ดิจิทัล), และ Creative (การสร้างสรรค์) ที่จะเป็น Game Changers สำหรับประเทศไทย

นอกจากนี้จะเร่งผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลาง “สำนักงานภูมิภาค” และแหล่งดึงดูด Talent ของภูมิภาค, สร้างความพร้อมของปัจจัยสนับสนุน โดยเฉพาะเรื่องบุคลากร และ Ease of Investment

นายนฤตม์กล่าวว่า ในเรื่องความสะดวกในการลงทุนทาง BOI ได้ดำเนินการหลายประการ อาทิ การให้มี One Stop Services ให้บริการวีซ่าและใบอนุญาตทำงาน การส่งเสริมให้มี LTR (Long-term Residences) การให้มี One Stop Services เพื่ออำนวยความสะดวกเรื่องการจัดตั้ง Regional Headquarter อยู่ระหว่างดำเนินการ นอกจากนี้ยังมีการจัดตั้งคณะกรรมการ Ease of Investment เพื่อพิจารณาเรื่องความสะดวกในการลงทุน

เป้าหมายในปีนี้จะเร่งยกระดับอุตสาหกรรมไทยไปสู่ Smart & Sustainable Industry, สร้างความเข้มแข็งและสร้างโอกาสทางธุรกิจให้แก่ SMEs & Startup และส่งเสริมให้บริษัทขนาดใหญ่ มีบทบาทมากขึ้นใน 3 ด้าน คือ พัฒนาคน, พัฒนา SMEs และ พัฒนาชุมชน

ทั้งนี้ เป้าหมายของ ยุทธศาสตร์การส่งเสริมการลงทุน 5 ปี (2566 – 2570) มุ่งส่งเสริมการลงทุน เพื่อปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยไปสู่ “เศรษฐกิจใหม่” ประกอบด้วย 1. เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี นวัตกรรม และความคิดสร้างสรรค์  2. เศรษฐกิจที่มีขีดความสามารถในการแข่งขัน สามารถปรับตัวได้เร็ว และสร้างการเติบโตสูง และ 3. เศรษฐกิจที่คำนึงถึงความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม รวมทั้ง การสร้างโอกาส และลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ

จุดแข็งของประเทศไทยในการดึงดูดการลงทุน มีทั้งจุดแข็งเดิม และจุดแข็งใหม่ ดังนี้  จุดแข็งเดิม โครงสร้างพื้นฐานดี (ไฟฟ้า ประปา ถนน โทรคมนาคม ท่าเรือ สนามบิน นิคมฯ), ฐานอุตสาหกรรมสนับสนุนมีความพร้อม (วัตถุดิบ/ชิ้นส่วนรองรับอุตสาหกรรมต่างๆ), บุคลากรโดยรวมมีคุณภาพ, ตลาดในประเทศมีขนาดใหญ่และมีศักยภาพ, สิทธิประโยชน์แข่งขันได้, สภาพแวดล้อมน่าอยู่ เป็นมิตรกับธุรกิจ และมีต้นทุนที่เหมาะสม

จุดแข็งใหม่ โครงสร้างพื้นฐานคุณภาพสูงและพื้นที่รองรับอุตสาหกรรมอนาคตใน EEC, มาตรการ LTR + Smart Visa + ศูนย์ OSS ดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูง, มีความสามารถจัดหาพลังงานสะอาดให้กับภาคอุตสาหกรรม, มีความยืดหยุ่นรองรับวิกฤต (ตัวอย่างกรณี COVID โรงงานผลิตได้ต่อเนื่อง) และมีความสัมพันธ์ที่ดีกับประเทศต่างๆ

ในปี 65 มีคำขอส่งเสริมในอุตสาหกรรมเป้าหมายปี 65 มีมูลค่า 4.69 แสนล้านบาท คิดเป็น 71 %ของทั้งหมด โดยมีอุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น สาธารณูปโภค นิคมฯ ขนส่ง โลจิสติกส์ IBC มูลค่ารวม 1.96 แสนล้านบาท หรือ 29 %

กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ BOI มุ่งส่งเสริมในปี 65 กลุ่มอุตสาหกรรมเดิม ประกอบด้วย เครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ 1.29 แสนล้านบาท (28%), ยานยนต์และชิ้นส่วน 1.05 แสนล้านบาท (22%), การเกษตรและแปรรูปอาหาร 81,731 ล้านบาท (17%), ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ 59,762 ล้านบาท (13%) และ การท่องเที่ยว 8,365 ล้านบาท (2%)

กลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ ประกอบด้วย ดิจิทัล 49,458 ล้านบาท (11%), การแพทย์ 23,099 ล้านบาท (5%), เทคโนโลยีชีวภาพ 8,417 ล้านบาท (2%), ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ 1,785 ล้านบาท (0.4%), อากาศยาน 689 ล้านบาท (0.1%), พัฒนาทรัพยากรมนุษย์และการศึกษา 596 ล้านบาท (0.1%) และ ป้องกันประเทศ 279 ล้านบาท (0.06%)

 

#BOI #FETCO