โดย…สาธิต บวรสันติสุทธิ์,CFP
VUCA คำพูดที่เคยได้ยินครั้งแรกจากท่านผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยคนปัจจุบันที่ว่า
“โลกของเรามีลักษณะที่เรียกว่า “VUCA” มากขึ้น โดย V – Volatility คือความผันผวนสูง, U – Uncertainty คือความไม่แน่นอนสูง, C – Complexity คือความซับซ้อนที่มากขึ้นเรื่อยๆ และ A – Ambiguity คือความคลุมเครือ ไม่สามารถคาดเดาผลที่จะเกิดขึ้นได้ชัดเจนซึ่งผลจากการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ทั้งจากสาเหตุทางด้านเทคโนโลยี การเมืองระหว่างประเทศ หรือแม้แต่ภาวะโลกร้อน จะทำให้โลก VUCA เป็นโลกที่ทุกคนต้องเผชิญอย่างเลี่ยงไม่ได้”
เดิมตอนแรกก็งงๆ นึกภาพไม่ออกว่า มันคืออะไร แต่เมื่อเห็นภาวะต่างๆที่เปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงและรวดเร็ว ทั้งภาวะที่เกิดจากฝีมือของพวกมนุษย์ เช่น ภาวะการเมืองโลก เทคโนโลยี ฯลฯ รวมถึงภาวะที่ไม่ได้เกิดจากฝีมือมนุษย์ อย่างเช่น ภาวะแวดล้อมทางธรรมชาติที่อัตราการเกิดภัยธรรมชาติถี่และรุนแรงมากขึ้น
แม้ประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศที่เกิดภัยธรรมชาติน้อยมาก แต่อัตราการเกิดภัยแล้งก็เพิ่มขึ้นเท่าตัวทุก 10 ปี นับจากปี 1980 เป็นต้นมา ทำให้รู้สึกว่าการคาดการณ์ต่างๆทำได้ยาก และก็เช่นเดียวกัน แม้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจะเป็นเรื่องเดียวกัน แต่ผลลัพธ์ของเหตุการณ์ก็ไม่เหมือนเดิม อย่างเช่น อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐเกิน 3% หุ้นจะลง แต่มาครั้งนี้ต้องเพิ่มขึ้นถึง 3.25% หุ้นถึงลงและลงพร้อมกันอย่างรุนแรงทั่วโลก
ในภาวะที่โลกเป็น VUCA เช่นนี้ ประกอบกับดอกเบี้ยก็ยังอยู่ในระดับต่ำมากๆ ทำให้ผู้มีเงินออมมีปัญหา เพราะหากทนอยู่กับเงินฝากต่อไป ดอกเบี้ยที่ได้ก็จะต่ำกว่าเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆมากขึ้นทุกที เท่ากับยิ่งฝากเงินยิ่งขาดทุน จึงมองหาการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนที่มากขึ้น (search for yield) แต่ก็กลัวความเสี่ยง
เพราะความต้องการที่มีตรงนี้แหละ จึงเกิดการพัฒนาตราสารที่มีความซับซ้อนเกิดขึ้นมากมาย ไม่ว่าจะเป็นหุ้นกู้ที่อันดับความน่าเชื่อถือต่ำ (noninvestment grade bond) หุ้นกู้ที่ไม่มีการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ (unrated bond) หุ้นกู้อนุพันธ์ (structured note) หรือแม้กระทั่งประกันชีวิต ก็ยังมีกรมธรรม์ unit linked ฯลฯ
ผู้ขายตราสารเหล่านี้มักจะเสนอผลตอบแทนที่สูงอย่างเช่น 8%/ปี ฯลฯ จนหลายครั้งทำให้ผู้ออมเงินเข้าใจผิดคิดว่าอัตราดังกล่าวเป็นอัตราผลตอบแทนที่จะได้จริง จนลืมนึกถึงสัจธรรมพื้นฐานของการลงทุน คือ เมื่อโอกาสของผลตอบแทนสูงมีสูง ความเสี่ยงก็จะสูงเช่นกัน (high risk high return) จึงมองข้ามความเสี่ยงบางอย่างของตราสารไป เช่น ผลตอบแทนจะแปรตามผลตอบแทนของหุ้นที่อ้างอิง เงินต้นอาจได้คืนไม่ครบ ฯลฯ แล้วอย่างนี้ผู้ออมเงินจะรู้ความเสี่ยงของการลงทุนได้อย่างไร
โดยทั่วไป ทางภาครัฐจะกำหนดให้ทุกตราสารจะระบุถึงความเสี่ยงของตราสาร และโอกาสของการได้รับผลตอบแทนในกรณีต่างๆ ไว้อยู่แล้ว เพียงแต่หลายๆครั้งข้อมูลเหล่านี้จะอยู่ในหัวข้อ เงื่อนไข หรือ หมายเหตุ หรือ ดอกจัน (*) อย่างเช่น ให้ผลตอบแทนในสกุลเงินต่างประเทศ (แปลว่าไม่คุ้มครองความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน) หรือ จะคำนวณผลตอบแทนให้เฉพาะเมื่อราคาหุ้น ณ วันที่คำนวณสูงกว่าราคาหุ้นอ้างอิงเท่านั้น
ดังนั้นก่อนจะลงทุนอะไร แม้เราจะต้องการผลตอบแทนที่สูงๆ ก็อย่ามองข้ามความเสี่ยง โลกนี้ไม่มีฟรี (No free lunch) ยิ่งคนขายซ่อนความเสี่ยงไว้มากเท่าไหร่ ยิ่งต้องอ่านรายละเอียดให้เข้าใจมากขึ้นเท่านั้น ยิ่งเป็นดอกจัน (*) ยิ่งต้องอ่าน