โดย..สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)
ท่ามกลางระบบเศรษฐกิจและภาคการเงินที่มีความผันผวนและซับซ้อนมากขึ้น ตลาดทุนไทยต้องเผชิญกับโอกาสและความท้าทายจากแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ (megatrends) อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น ดังนั้น ก.ล.ต. ในฐานะหน่วยงานที่มีบทบาทในการกำกับดูแลและพัฒนาตลาดทุนไทย จึงทำหน้าที่อย่างเต็มความสามารถในทุก ๆ ด้าน เพื่อยกระดับตลาดทุนไทยให้มีศักยภาพและกลไกหนึ่งที่สำคัญในการช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ตามแผนยุทธศาสตร์ที่กำหนดไว้
• กระบวนการทำงาน : สนับสนุนการพัฒนาและบูรณาการความร่วมมือ
เพื่อให้เท่าทันสถานการณ์และสอดรับกับพัฒนาการของตลาดทุนและตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีการเปลี่ยนแปลงไปก.ล.ต. ได้ปรับโครงสร้างองค์กรใหม่ ในปี 2566 รวมทั้งได้พัฒนาและส่งเสริมความรู้ ความสามารถของพนักงาน ตลอดจนทักษะที่จำเป็นต่อการปฏิบัติงาน ทั้งที่เป็นความจำเป็นในปัจจุบันและในอนาคตให้แก่พนักงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มระดับความสามารถในการทำงานแล้ว ยังเพื่อเพิ่มศักยภาพและความก้าวหน้าของพนักงานแต่ละคนด้วย พร้อมกันนี้ยังเปิดรับบุคลากรรุ่นใหม่จำนวนมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านสินทรัพย์ดิจิทัล อย่างไรก็ดี ตามบริบทสังคมที่เปลี่ยนไปคนรุ่นใหม่มักจะมีอัตราการหมุนเวียนในการแสวงหาประสบการณ์จากการทำงานในสภาพแวดล้อมใหม่ ๆ
ในโครงการสำคัญด้านต่าง ๆ ก.ล.ต. จะพิจารณาจัดตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนเฉพาะด้าน (Task Force) เพื่อบูรณาการการทำงานระหว่างฝ่ายงานที่เกี่ยวข้องและบุคลากรมีความรู้ความเชี่ยวชาญในด้านต่าง ๆ ซึ่งจะทำให้การขับเคลื่อนกิจกรรมหรือโครงการนั้น ๆ มีความคล่องตัว ต่อเนื่อง และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินโครงการต่าง ๆ ให้บรรลุเป้าหมายได้ตามที่ตั้งไว้
ก.ล.ต. ยังได้กำหนดให้มี “แผนองค์กรนวัตกรรม” ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญ (enabler) ที่ทำให้ ก.ล.ต. สามารถบรรลุเป้าหมายตามที่ตั้งไว้ในการขับเคลื่อนภารกิจให้เกิดผลสัมฤทธิ์ด้วยการทุ่มเทสรรพกำลังและทรัพยากรเพื่อให้เท่าทันสถานการณ์และสอดรับกับพัฒนาการของตลาดทุนและตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล รวมทั้งการขับเคลื่อนตลาดทุนไทยสู่ “ตลาดทุนดิจิทัล” รวมถึงการดำเนินโครงการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล (Digital Infrastructure: DIF) ที่ ก.ล.ต. บูรณาการความร่วมมือและจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ (workshop) ร่วมกันกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ผู้พัฒนาระบบและผู้ให้บริการระบบ (main operator) ประกอบด้วยสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย (ASCO) สมาคมธนาคารไทย (TBA) และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในการพัฒนาระบบร่วมกับกลุ่มผู้ออกหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ และธนาคารพาณิชย์ที่ประกอบธุรกิจด้านตราสารหนี้ รวมทั้งสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) ซึ่งมีการพัฒนาระบบมาอย่างต่อเนื่อง และคาดว่าจะเริ่มเปิดให้ทดสอบระบบการเสนอขายตราสารหนี้ ภายใต้โครงการ Sandbox ของ ก.ล.ต. ภายในครึ่งแรกของปี 2566
• กระบวนการบังคับใช้กฎหมาย : รอบคอบ รัดกุม และเป็นธรรม
หนึ่งในภารกิจหลักของ ก.ล.ต. คือการดำเนินงานในด้านการบังคับใช้กฎหมาย โดยที่ผ่านมา ก.ล.ต. ได้พัฒนากระบวนการทำงานมาอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เท่าทันความเปลี่ยนแปลงและความท้าทายของสถานการณ์ปัจจุบัน ด้วยการนำเทคโนโลยีมาใช้ (e-enforcement) โดยการตรวจสอบในกรณีที่มีความสำคัญหรือมีผลกระทบที่สร้างความเสียหายร้ายแรงต่อระบบเศรษฐกิจหรือประชาชนในวงกว้าง จะบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรณีการกระทำที่ไม่เป็นธรรมในการซื้อขาย ก.ล.ต. ได้บูรณาการการทำงานกับกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (บช.ก.) กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (ปอศ.) และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยร่วมหารือตั้งแต่เริ่มเกิดเคสเพื่อให้สามารถดำเนินการได้รวดเร็วขึ้น นอกจากนี้ ในกรณีที่เป็นการกระทำความผิดที่เข้าข่ายเป็นความผิดกฎหมายอื่นที่ไม่ได้อยู่ในการกำกับดูแลของ ก.ล.ต. เช่น ความผิดตามกฎหมายอาญา ก.ล.ต. จะส่งต่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาดำเนินการต่อไป
อีกทั้ง ก.ล.ต. เน้นทำงานในเชิงรุกและมุ่งผลสำเร็จของการบังคับใช้กฎหมาย และยึดมั่นในการดำเนินการทุกขั้นตอนตามกฎหมาย (Due Process of Law) ซึ่งเปิดโอกาสให้ผู้ที่เกี่ยวข้องชี้แจงแสดงพยานหลักฐานตามสิทธิอันพึงมี มีกระบวนการพิจารณาที่ผ่านการกลั่นกรองจากคณะกรรมการที่เกี่ยวข้อง เช่น คณะกรรมการพิจารณามาตรการลงโทษทางแพ่ง (ค.ม.พ.) คณะกรรมการ กตท. และคณะกรรมการ ก.ล.ต. โดยพิจารณาจากข้อเท็จจริงที่ได้จากการดำเนินการและการตรวจสอบรวบรวมพยานหลักฐาน ตามอำนาจหน้าที่และเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด มีกระบวนการขั้นตอนที่ชัดเจนและโปร่งใส และมีการบันทึกความเห็นในทุกขั้นตอน รวมถึงรับฟังความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านมาประกอบการพิจารณา ซึ่งกระบวนการเหล่านี้ทำให้ต้องมีระยะเวลาในการดำเนินการ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าการบังคับใช้กฎหมายของ ก.ล.ต. มีความรอบคอบ รัดกุม เชื่อถือได้ และเป็นธรรมกับผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย
พร้อมกันนี้ ก.ล.ต. ยังได้ติดตามและทบทวนเพื่อปรับปรุงการทำงานและกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องมาโดยตลอด เพื่อยกระดับการกำกับดูแลและกระบวนการบังคับใช้กฎหมายให้เท่าทันการทำธุรกรรมในตลาดทุนและตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีความซับซ้อนมากขึ้น รวมทั้งป้องปรามการกระทำความผิดที่มีการวางแผน การอำพรางพยานหลักฐาน และปิดบังซ่อนเร้น เพื่อให้ยากต่อการติดตามตรวจสอบ
ก.ล.ต. ยังให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่งกับการพัฒนากฎหมายให้ทันสมัยและสอดรับกับบริบททางเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปในแต่ละช่วงเวลา เพื่อส่งเสริมตลาดทุนและตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลและยกระดับการกำกับดูแลให้มีประสิทธิภาพและเท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี รวมทั้งสภาพแวดล้อม (ecosystem) ของตลาดทุนในยุคดิจิทัล และให้ความคุ้มครองผู้ลงทุน พร้อมกับส่งเสริมการระดมทุนและการประกอบธุรกิจในตลาดทุน และการปรับปรุงการบังคับใช้กฎหมายให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
• กระบวนการบริหารงาน : โปร่งใสและมีธรรมาภิบาล
งานด้านการบริหารงานบุคคล ก.ล.ต. เน้นค่านิยมองค์กร คือ เปิดใจ รู้จริง ร่วมมือ ซื่อตรง โดยเปิดใจรับฟังผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในตลาดทุน เข้าใจปัญหาอย่างครบวงจรและเตรียมแผนระยะยาวเพื่อรองรับแนวโน้มใหม่ ๆ ที่จะมากระทบต่อการกำกับดูแลและพัฒนาตลาดทุน พร้อมที่จะร่วมคิดและร่วมมือเพื่อประโยชน์ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในตลาดทุนและเศรษฐกิจโดยรวม และปลูกฝังบุคลากรให้ยึดมั่นในความถูกต้องและเป็นธรรม รวมทั้งการใช้ทรัพย์สินที่มุ่งเน้นความคุ้มค่าและเหมาะสมตามหลักธรรมาภิบาล และเป็นไปตามหลักเกณฑ์ของ ก.ล.ต. โดยต้องไม่นำเอาทรัพย์สินของสำนักงานไปใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตัว
สำหรับการบริหารองค์กรเพื่อตอบรับความท้าทายภายใต้ความเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว โดยลดลักษณะการทำงานแบบแยกส่วน (silo) มุ่งเน้นการบริหารจัดการในรูปแบบคณะทำงานขับเคลื่อนเฉพาะด้าน โดยปราศจากการชี้นำหรือแทรกแซงจากภายนอก รวมทั้งมีการตรวจสอบและถ่วงดุลในคณะทำงานนั้นด้วย ในกระบวนการแต่งตั้ง โยกย้าย และเลื่อนลำดับพนักงานเป็นไปด้วยความโปร่งใส โดยการแต่งตั้งโยกย้ายผู้บริหารระดับสูงจะผ่านการอนุมัติจากคณะกรรมการ ก.ล.ต. และการเลื่อนลำดับพนักงานจะผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการคัดเลือก หรือคณะกรรมการด้านบริหารงานบุคคล
ทั้งนี้ การทำงานในด้านต่าง ๆ ของ ก.ล.ต. จะไม่สามารถบรรลุเป้าหมายวางไว้ได้หากขาดความร่วมมือและการสนับสนุนจากภาคเอกชน หน่วยงาน และองค์กรที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน ที่ผ่านมา ก.ล.ต. จึงให้ความสำคัญกับ “การประสานความร่วมมือ” และบูรณาการการทำงานร่วมกับทุกภาคส่วนทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทั้งด้านการกำกับดูแลและการพัฒนาตลาดทุนเพื่อยกระดับตลาดทุนไทยไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนตามแผนยุทธ์ศาสตร์ของ ก.ล.ต. ซึ่งเชื่อมโยงกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาตลาดทุนไทย และสอดรับกับแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ