HoonSmart.com>> “บลจ.อีสท์สปริง” มองเศรษฐกิจ-การลงทุนปี 66 ยังผันผวน วางธีมการลงทุนหลากหลายทั้งในและต่างประเทศ แนะจัดพอร์ตเพิ่มน้ำหนักหุ้น ชู “จีน-เอเชีย” ได้ประโยชน์เปิดประเทศ ส่วน “หุ้นไทย” ถูกกดดันจากกำไรบจ.-แบงก์ตั้งสำรอง พร้อมเปิดตัวกองทุนใหม่ “Eastspring Global Low Volatility Equity” เน้นลงทุนหุ้นโลกที่มีความผันผวนต่ำ ป้องกันความเสี่ยงช่วงตลาดขาลง คาด IPO ตั้งแต่ 14-20 ก.พ.นี้
นางสาวดารบุษป์ ปภาพจน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) อีสท์สปริง (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า แนวโน้มเศรษฐกิจและการลงทุนในปี 2566 จะยังคงมีความผันผวนอยู่จากการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจ นโยบายการเงินและการคลังและความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ โดยมองว่าเศรษฐกิจจีนและเอเชียในปีนี้จะมีอัตราการเติบโตได้ดีกว่าทื่อื่น จากนโยบายการเปิดประเทศของจีนเมื่อต้นปีผ่านมา และการผ่อนคลายมาตรการควบคุมกลุ่มเทคโนโลยี ในขณะที่สหรัฐและยุโรปเติบโตต่ำกว่า 1-1.5% ส่วนเอเชียหลายประเทศได้รับประโยชน์จากการเปิดประเทศ โดยเฉพาะภาคท่องเที่ยว เช่น สิงคโปร์ เวียดนาม รวมทั้งไทย ในขณะที่อินเดียและ อินโดนีเซีย จะได้ประโยชน์จากการกระจายห่วงโซ่อุปทานเพื่อหนีการพึ่งพาจากจีน
“ขณะนี้เราเริ่มเห็นการกลับมาของนักท่องเที่ยวจีนในประเทศไทยที่เพิ่มมากขึ้น รวมถึงการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในช่วงกลางปี 66 ซึ่งโดยปกติตลาดหุ้นมักจะให้ผลตอบแทนได้ดีทั้งก่อนและหลังการเลือกตั้ง โดยเฉพาะหุ้นกลุ่มขนาดใหญ่ที่ได้รับประโยชน์จากเงินทุนไหลเข้าจากต่างประเทศ” นางสาวดารบุษป์ กล่าว
ด้านนาย Bill Maldonado Chief Investment Officer, Eastspring Investments (Singapore) กล่าวว่า ภูมิภาคเอเชียจะมีบทบาทมากขึ้นในเรื่องของการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม โดยจะเห็นทุกภาคฝ่ายให้ความสนใจและระดมทุนในนวัตกรรมต่าง ๆ มากขึ้น เช่น รถยนต์ไฟฟ้า และพลังงานหมุนเวียนเพื่อให้เข้าเรื่อง Net Zero ทำให้เกิดการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเป็นอย่างมาก โดยจีนจะเป็นผู้นำการผลิตระบบพลังงานแสงอาทิตย์และครองห่วงโซ่อุปทาน อินโดนิเซียสร้างสวนอุตสาหกรรมซึ่งจะเป็นที่รองรับอุตสาหกรรมสีเขียว เช่น ผลิตแผงแสงอาทิตย์, แบตเตอรี่ลิเธียม และมาเลเซีย อุตสาหกรรมผลิตอุปกรณ์ทดสอบอัตโนมัติ ทำให้เกิดการประหยัดพลังงานและลดขยะได้ นอกจากนี้ยังจะเห็นบริษัทมีการออกนโยบาย ESG และมีการเปิดเผยข้อมูลมากขึ้น รวมถึงนักลงทุนจะเข้าไปมีส่วนร่วมกับบริษัท มากกว่าใช้เงื่อนไขทาง ESG ในการคัดกรองเบื้องต้นเท่านั้น
สำหรับแนวทางการลงทุนของบลจ.อีสท์สปริงในปี 2566 นี้ จะเน้นการสร้างโอกาสรับผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้นจากการลงทุนหลากหลาย โดยมีธีมการลงทุนทั้งในส่วนของกองทุนต่างประเทศและกองทุนในประเทศ
สำหรับกองทุนต่างประเทศ ประกอบด้วย 1.หุ้นกลุ่ม defensive ทั้งหุ้นปันผล, หุ้นผันผวนต่ำ รวมถึงหุ้นคุณภาพดีที่มีรายได้และกระแสเงินสดสม่ำเสมอ และมีผลการดำเนินงานไม่ผันแปรตามภาวะเศรษฐกิจมาก จึงเหมาะกับการลงทุนในสภาวะเศรษฐกิจที่มีความไม่แน่นอนโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่มีความกังวลเรื่องภาวะเศรษฐกิจถดถอย (recession) 2. เน้นลงทุนในภูมิภาคเอเชีย 3.ตราสารหนี้โลกคุณภาพดี และ 4.การลงทุนที่เน้นถึงความยั่งยืน (ESG)
ขณะที่กองทุนในประเทศ ได้แก่ 1.หุ้นปันผลและหุ้นขนาดใหญ่ 2.หุ้นกู้เอกชนคุณภาพดีและพันธบัตรรัฐบาล และ 3.ทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ของไทย (REITs) ที่ได้รับประโยชน์จากการเปิดเมืองและอัตราผลตอบแทนพันธบัตรที่เริ่มทรงตัว รวมถึงอัตราผลตอบแทน (yield) และส่วนต่างอัตราผลตอบแทน (yield spread) อยู่ในระดับน่าสนใจราว 6.5%, 3.5% ตามลำดับ
พร้อมกันนี้บลจ.อีสท์สปริง (ประเทศไทย) ได้ร่วมกับ Eastspring Investments (Singapore) เปิดตัวกองทุนเปิด Eastspring Global Low Volatility Equity (ES-LOVE) ที่เน้นลงทุนในหุ้นโลกโดยมีจุดประสงค์เพื่อให้พอร์ตโดยรวมมีความผันผวนต่ำ ซึ่งจะช่วยป้องกันความเสี่ยงในช่วงตลาดขาลง พร้อมสร้างผลตอบแทนที่ดีเมื่อตลาดปรับตัวเป็นขาขึ้น ซึ่งคาดว่าจะเสนอขายนักลงทุนที่สนใจระหว่างวันที่ 14-20 ก.พ.2566 มูลค่า 5,000 ล้านบาท
กองทุนเปิด Eastspring Global Low Volatility Equity มีนโยบายเน้นลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนรวมต่างประเทศเพียงกองเดียว คือ กองทุน Eastspring Investment Global Low Volatility Equity Fund (กองทุนหลัก) ในหน่วยลงทุนชนิด Class C Acc USD ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 80% ในรอบบัญชี กองทุนหลักจะเน้นการลงทุนในหุ้นทั่วโลกโดยใช้ปัจจัยเชิงปริมาณโดยให้ความสำคัญกับหุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานและโมเมนตัมที่ดี ซึ่งมีเป้าหมายสร้างผลตอบแทนให้ได้ใกล้เคียงกับดัชนีหุ้นโลก MSCI Ac World ด้วยความผันผวนที่ต่ำกว่า โดยจะคัดเลือกหลักทรัพย์ประมาณ 250-350 เข้าพอร์ตลงทุนจากหุ้นทั่วโลกที่มากถึง 15,000 ตัว สำหรับกลุ่มธุรกิจที่คาดว่าจะเน้นลงทุนได้แก่ กลุ่มสุขภาพ, สื่อสาร, สินค้าจำเป็น เป็นต้น
“จุดเด่นของ Eastspring Investment Global Low Volatility Equity Fund อยู่ที่การคัดเลือกหุ้นในพอร์ตซึ่งจะตั้งต้นจากจำนวนหุ้นที่มากถึง 15,000 ตัวจากดัชนี S&P BMI Index ซึ่งจะสร้างโอกาสลงทุนได้ดี ประกอบกับทีมงานที่บริหารกองทุนดังกล่าวมีประสบการณ์เฉลี่ยราว 16 ปี นอกจากนี้ ในช่วงที่ผ่านมากลยุทธ์ดังกล่าวสร้างผลตอบแทนได้ดีกว่าเมื่อเทียบกับ ดัชนีชี้วัด MSCI AC World Minimum Volatility Index โดยจากข้อมูลย้อนหลัง 3 ปีสิ้นสุด ณ วันที่ 31 ธ.ค.2565 อยู่ที่ 2.96% และ 1.62% ตามลำดับ ขณะที่ข้อมูลย้อนหลัง 5 ปี อยู่ที่ 5.48% และ 4.57 % ตามลำดับ รวมถึงมีผลตอบแทนต่อความเสี่ยงที่ดี เนื่องจากในช่วงตลาดขาลง กลยุทธ์ดังกล่าวจะปรับตัวลงตามตลาดประมาณ 59% ขณะที่ตลาดขาขึ้นจะปรับตัวตามตลาดประมาณ 71% (ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2558 – 31 ธ.ค.2565)” นางสาวดารบุษป์ กล่าว
ด้านนายยิ่งยง เจียรวุฑฒิ รองกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายการลงทุน บลจ.อีสท์สปริง เปิดเผยว่า แนวโน้มตลาดหุ้นไทยปี 2566 ยังมีปัจจัยท้าทายค่อนข้างมากจากภาพรวมกำไรกลุ่มธนาคารที่มีแนวโน้มต้องตั้งสำรองมากขึ้น ขณะที่หุ้นกลุ่มบิ๊กแคป อยางกลุ่มพลังงานความน่าสนใจอาจน้อยลง รวมถึงเงินบาทแข็งค่ากระทบส่งออก ขณะเดียวกันนักท่องเที่ยวจีนมาแน่ ความน่าสนใจจะค่อยๆ เกิดขึ้นชัดเจนขึ้น แต่การลงทุนในหุ้นต้องเลือกเป็นรายตัว เนื่องจากหุ้นบิ๊กแคปยังมีปัจจัยกดดันอยู่
สำหรับการเลือกตั้งช่วงกลางปีนี้ ซึ่งปกติจะเป็นปัจจัยบวกต่อตลาดหุ้นทั้งก่อนเลือกตั้งและหลังเลือกตั้ง รอบนี้รอดูความชัดเจนของผลการเลือกตั้งจะเป็นอย่างไร ตราบใดที่ไม่ได้เป็นสูญญากาศตลาดจะขานรับ ส่วนระยะยาวต้องติดตามนโยบายและแนวทางที่จะเกิดขึ้นว่าเป็นอย่างไร จะมีเซอร์ไพร์สของการจับมือในขั้นไม่เคยเห็น ซึ่งอาจนำมาสู่การแก้ปัญหาระยะยาวได้ อย่างไรก็ตามการประกาศกำไรของบริษัทจดทะเบียนใน 1-2 เดือน ยังไม่เป็นปัจจัยบวกต่อตลาดหุ้นไทย มองภาพทั้งปีคงเห็น 2-4%
ส่วนตลาดตราสารหนี้ไทยในปีนี้ ตราสารหนี้ระยะสั้นกลับมาน่าสนใจมากขึ้น ตอนนี้ดอกเบี้ยนโยบายปัจจุบันอยู่ที่ 1.5% คาดกนง.จะขึ้นดอกเบี้ยอีก 2 ครั้งไปอยู่ที่ 2% ในปีนี้ และบวกกับเครดิตสเปรดที่จะได้รับ มองผลตอบแทนลงทุน 6 เดือนถึง 1 ปี อยู่ที่ 2% บวกลบน่าสนใจ
นายยิ่งยง กล่าวว่า สำหรับพอร์ตการลงทุนในปีนี้ แนะนำเพิ่มน้ำหนักลงทุนในหุ้นมากขึ้น ส่วนตราสารหนี้แนะนำระดับ Neutral และลดน้ำหนักการถือครองเงินสด สินค้าโภคภัณฑ์และสินทรัพย์ทางเลือก โดยในส่วนของตลาดหุ้นแนะนำเพิ่มน้ำหนักในตลาดหุ้นเอเชีย และจีนที่คาดว่าจะฟื้นตัวจากการบริโภคในประเทศ แนะนำตลาด A-Share ที่ได้ประโยชน์จากเศรษฐกิจในประเทศ หลังมีการเปิดประเทศ ขณะที่ตลาด H-Share แนะนำน้อยเพราะมีหุ้นเทคโนโลยี ส่วนตลาดหุ้นเวียดนามยังน่าสนใจเช่นกันจากปัจจัยพื้นฐานระยะยาว แนวโน้มกำไรบริษัทจดทะเบียนเติบโต 20% ขณะที่ราคาหุ้นไม่แพงเกินไป
ส่วนตลาดสหรัฐฯ แนะนำให้มีไว้ติดพอร์ตเล็กน้อย เนื่องจากมองความเสี่ยงเรื่องเงินเฟ้อและภาวะเศรษฐกิจถดถอยสะท้อนในราคาหุ้นในตลาดไประดับหนึ่งแล้ว จึงมองในรอบนี้หากเกิดเศรษฐกิจถดถอยผลกระทบไม่น่ารุนแรง จาก 2 ปัจจัยหลัก คือ ราคาหุ้นในปัจจุบันซึ่งไม่แพงจนเกินไป, ระบบหนี้ภาครัฐและเอกชนปัจจุบันไม่ได้อยู่ในระดับสูงและน่ากังวลจนเกินไป ขณะที่ตลาดหุ้นยุโรปมีคำแนะนำกลางๆ