ดาวโจนส์ปิดบวก 6 จุด เฟดขึ้นดอกเบี้ย 0.25% พาวเวลล์ชี้เงินเฟ้อชะลอตัว

HoonSmart.com>> “ตลาดหุ้นสหรัฐฯ” ปิดบวก ดัชนีดาวโจนส์เพิ่มขึ้น 6 จุด ฟื้นตัวจากลดลงไประหว่างวัน นักลงทุนมองข้ามการปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.25% ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) หันไปสนใจ “เจอโรม พาวเวลล์” ประธานเฟดที่รับรู้ว่าเงินเฟ้อชะลอตัว ด้านราคาน้ำมันดิบร่วง 3% ฟาก “ตลาดหุ้นยุโรป” ส่วนใหญ่ปิดลบ

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ (Dow Jones Industrial Average:DJIA) ปิดวันที่ 1 กุมภาพันธ์2566 ปิดที่ 34,092.96 จุด เพิ่มขึ้น 6.92 จุด หรือ 0.02% ฟื้นตัวจากที่ลดลงไประหว่างวันนักลงทุนมองข้ามการปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.25% ของธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด)ไปหันไปสนใจการให้ความเห็นของนายเจอโรม พาวเวลล์ประธานเฟดที่รับรู้ว่าเงินเฟ้อชะลอตัว

ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,119.21 จุด เพิ่มขึ้น 42.61 จุด, +1.05%

ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 11,816.32 จุด เพิ่มขึ้น 231.77 จุด, +2.00%

กลุ่มเทคโนโลยีนำการปรับขึ้นของตลาดโดยบวก 2% โดยหุ้นเมตา แพลตฟอร์ม บวก 2.8% หุ้นไมโครซอฟต์ บวกราว 2% หุ้นแอปเปิ้ล บวก 0.8% หุ้นอัลฟาเบท เพิ่มขึ้น 1.6%

การปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟดครั้งนี้ชะลอตัวจากการปรับขึ้น 0.50% ในเดือนธันวาคม แม้ทำให้อัตราดอกเบี้ยขึ้นไปที่ระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2007 แต่เป็นการปรับขึ้นในขนาดที่น้อยที่สุดในรอบเกือบ 1 ปี ทำให้นักลงทุนมีความหวังมากขึ้นว่าเฟดจะผ่อนคลายการขึ้นดอกเบี้ยในเชิงรุก และเชื่อมั่นมากขึ้นจากการให้ความเห็นของนายพาวเวลล์

ในแถลงการณ์ เฟดชี้ว่าแรงกดดันเงินเฟ้อลดลง แต่เงินเฟ้อยังเพิ่มขึ้น เพราะแรงกดดันด้านราคายังมีอยู่ทั่วประเทศ แต่ในการแถลงข่าวนายพาวเวลล์กล่าวว่า เป็นครั้งแรกที่เฟดสามารถพูดได้ว่า ภาวะเงินเฟ้อลดลงกำลังก่อตัวในระบบเศรษฐกิจ ซึ่งเห็นได้อย่างแท้จริงจากราคาสินค้า

นักลงทุนตีความการให้ความเห็นของนายพาวเวลล์ ว่าเป็นสัญญานที่เฟดอาจจะเข้าใกล้จุดที่จะหยุดขึ้นดอกเบี้ยชั่วคราว

แซม สโตวัล จาก CFRA ในนิวยอร์กกล่าวว่า การตอบสนอของตลาดสะท้อนว่า นักลงทุนมองว่าเข้าใกล้จุดสิ้นสุดมากกว่าเดิม หรืออยู่ช่วงกลางๆของวงจรการขึ้นดอกเบี้ยรอบนี้

อย่างไรก็ตามเฟดไม่ได่ส่งสัญญานว่าจะหยุดขึ้นดอกเบี้ยชั่วคราว โดยระบุในแถลงการณ์ว่า การปรับขึ้นดอกเบี้ยตามกรอบเป้าหมายอย่างต่อเนื่องเป็นการดำเนินการที่เหมาะสมเพื่อบรรลุเป้าหมายนโยบายการเงินที่เข้มงวดพอที่จะนำเงินเฟ้อกลับไปสู่เป้าหมาย 2%

นายพาวเวลล์กล่าวว่า เฟดจะยังนโยบายการเงินเข้มงวดอีกระยะหนึ่งและเฟดยังต้องดำเนินการอีกมาก

ก่อนการแถลงผลการประชุมของเฟด มีการเผยแพร่ข้อมูลเศรษฐกิจที่ให้ภาพไม่สอดคล้องกัน โดยสถาบันจัดการด้านอุปทาน (ISM) รายงาน ดัชนีภาคการผลิตเดือนมกราคมลดลงมาที่ 47.4 ในต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2020 เอสแอนด์พี โกลบอลเปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นสุดท้ายของสหรัฐ ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 46.9 ในเดือนม.ค. จากระดับ 46.2 ในเดือนธ.ค. และสูงกว่าตัวเลขเบื้องต้นที่ระดับ 46.8

แต่กระทรวงแรงงานเผยผลสำรวจการเปิดรับสมัครงานและอัตราการหมุนเวียนของแรงงาน (JOLTS) เดือนธันวาคมว่า เพิ่มขึ้น 572,000 ตำแหน่ง เป็น 11.0 ล้านตำแหน่ง ขณะที่นักวิเคราะห์คาดว่าลดลงมาที่ 10.25 ล้านตำแหน่ง และ ADP รายงานการจ้างงานภาคเอกชนเดือนมกราคมเพิ่มขึ้น 106,000 ตำแหน่งต่ำกว่า 170,000 ตำแหน่งที่นักวิเคราะห์คาด

นักลงทุนรอการรายงานข้อมูลการจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนมกราคมในวันพรุ่งนี้ ซึ่งนักวิเคราะห์คาดว่า จะเพิ่มขึ้นเพียง 187,000 ตำแหน่ง และคาดว่าอัตราว่างงานจะเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 3.6%

ตลาดหุ้นยุโรปส่วนใหญ่ปิดลบ แม้กลุ่มรถยนต์ปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.3% นักลงทุนรอผลการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ ก่อนการประชุมของธนาคารกลางสหภาพยุโรปในวันพฤหัสบดี

เงินเฟ้อทั่วไปยูโรโซนเดือนมกราคมเพิ่มขึ้น 8.5% ลดลงเล็กน้อยจาก 9% ในเดือนธันวาคม ส่วนเงินเฟ้อพื้นฐานเพิ่มขึ้น 7% จาก 6.9% ซึ่งอาจะทำให้ธนาคารกลางสหภาพยุโรปยังคงขึ้นดอกเบี้ยในเชิงรุกอีก 0.50%

นักลงทุนยังรอผลการประชุมของธนาคารกลางอังกฤษในวันพฤหัสบดี ซึ่งคาดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.50% เช่นกัน

ดัชนี STOXX 600 ปิดที่ 453.09 จุด ลดลง 0.12 จุด, -0.03%

ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,761.11 จุด ลดลง 10.59 จุด, -0.14%

ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 7,077.11 จุด ลดลง 5.31 จุด, -0.08%

ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมนีปิดที่ 15,180.74 จุด เพิ่มขึ้น 52.47 จุด, +0.35%

ราคาน้ำมันดิบ WTI งวดส่งมอบเดือนมีนาคม ลดลง 2.46 ดอลลาร์ หรือ 3.12% ปิดที่ 76.41 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบ Brent ทะเลเหนือ งวดส่งมอบเดือนเมษายน ลดลง 2.62 ดอลลาร์ หรือ 3.07% ปิดที่ 82.84 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล