“บล.แซด คอมฯ” ซื้อหุ้น MORE 360 ล้านบาท ทำไม?

HoonSmart.com>>วงการตลาดทุนมีคำถามมากมาย กรณีบล. จีเอ็มโอ-แซด คอม (ประเทศไทย) หรือ Z com Securities ซื้อหุ้น บริษัทมอร์ รีเทิร์น (MORE) จำนวน 948.11 ล้านหุ้น สัดส่วน 13.21% มูลค่ารวม 360 ล้านบาท ผู้บริหารมีเหตุผลใด!!! ซึ่งอาจจะมีความเป็นไปได้ 3 คำตอบ ซึ่งคำตอบสุดท้ายน่าจะเป็นการทำธุรกิจกินดอกเบี้ย และยังมีข้อชวนคิดตามอีกว่า 4 นักลงทุนรายใหญ่ และ” ผู้อยู่เบื้องหลัง” ดีลนี้ จะนำเงินค่าขายหุ้นไปอะไรต่อไป

บล. จีเอ็มโอ-แซด คอม (ประเทศไทย) ได้ยื่นไฟลิ่ง เพื่อนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จะเพิ่มความเสี่ยงไปทำไม

การซื้อหุ้น MORE ที่มีผลดำเนินงานขาดทุน และยังถูกนำไปใช้เป็นเครื่องมือในการปล้นเงินจากโบรกเกอร์  รวมถึงบริษัทหลักทรัพย์หลายแห่งเห็นถึงความเสี่ยงสูง ไม่ปล่อยสินเชื่อ(มาร์จิ้น) ซื้อหุ้น MORE  แต่บล.จีเอ็มโอ-แซด คอม กลับสร้างความฮือฮา ประกาศซื้อบิ๊กล็อตหุ้น MORE ผงาดขึ้นถือหุ้นใหญ่อันดับที่สาม

เหตุผลที่จะตัดสินใจลงทุนตั้ง 360 ล้านบาท เท่าที่คิดได้มี 3 คำตอบคือ
1.อาจจะเกิดจากการบังคับขายหุ้น (ฟอสเซล) กับนักลงทุนรายใหญ่ 4 ราย  ได้แก่ นาย อภิมุข บำรุงวงศ์ (ปิงปอง) , นายศิริศักดิ์ ปิยทัสสีกุล , นายสามารถ ฉั่วศิริพัฒนา และนาย วสันต์ จาวลา

2.บล.แซดคอม เห็นอะไรดีใน MORE จึงให้บริษัทซื้อ

3.นักลงทุนโอนหุ้นมอร์ฯมาวางไว้เป็นประกันกับบล.จีเอ็มโอ-แซด คอม ได้เงินสดไป จ่ายแค่ดอกเบี้ย เมื่อถึงเวลา ก็มาไถ่ถอนคืน  เปรียบเสมือนบริษัทปล่อยกู้

ซึ่งเหตุผลแรก ฟอสเซล ไม่น่าจะเป็นไปได้ เนื่องจากราคาหุ้น MORE เคลื่อนไหวแคบๆ บริเวณ 0.40 บาทมานาน  และหากมีการฟอสเซล การดำเนินธุรกิจปกติของบริษัทหลักทรัพย์  ก็จะต้องรีบขายทิ้งในตลาดหลักทรัพย์ เพื่อไม่ต้องแบกรับความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นจากราคาหุ้นร่วงลงแรง

ส่วนเหตุผลที่ 2 บล.จีเอ็มโอ-แซด คอมซื้อเข้าพอร์ต ก็ไม่น่าจะใช่ เพราะมีหุ้นดีๆราคาถูกๆ ตั้งมากมายให้ลงทุน นอกจากนี้บริษัทหลักทรัพย์ทุกแห่งที่มีพอร์ตลงทุน มีการกำหนดนโยบายการลงทุนไว้ชัดเจน  เช่น พอร์ตลงทุนระยะกลาง ประมาณ 6 เดือน ลงทุนได้เฉพาะหุ้นใน SET 100 ถ้าหากบริษัทหลักทรัพย์ไหนเข้ม ก็จะให้ลงทุนได้เพียงหุ้นใน SET 50 เท่านั้น เนื่องจากความเสี่ยงต่ำ และยังมีสภาพคล่อง สามารถขายออกได้ทุกเวลา

นอกจากนี้ ในหมายเหตุงบการเงิน ณ 30 มิ.ย. 2565  เงินลงทุนของบล.จีเอ็มโอ-แซด คอม ส่วนใหญ่เป็นเงินฝากประจำ รวม 630 ล้านบาท ส่วนการลงทุนในหุ้นมีมูลค่าเพียง 667,680 บาท ซึ่งเป็นของบริษัท แอสโก้ ส่งเสริมธุรกิจเท่านั้น

เหตุผลที่ 3  อาจจะมีความเป็นไปได้มากที่สุด บล. จีเอ็มโอ-แซด คอมปล่อยเงินกู้  เพราะรายได้หลักมาจากดอกเบี้ย

แต่มีคำถามเกิดขึ้นว่า บริษัทหลักทรัพย์ทำธุรกิจปล่อยสินเชื่อได้หรือไม่  เนื่องจากจะต้องได้รับอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทย  และหุ้นที่ใช้เป็นหลักประกัน ก็ควรจะต้องมีคุณภาพด้วยเช่นเดียวกัน

ซึ่งบล.แห่งนี้ มีบริษัทจีเอ็มโอ ไฟแนนซ์เชียล โฮลดิ้งส์ อิงค์ จากญี่ปุ่นเข้ามาถือหุ้น 99.99% เพราะมองเห็นโอกาสจากธุรกิจหลักทรัพย์ จึงมาเปิดให้บริการซื้อขายหลักทรัพย์ออนไลน์ เมื่อปลายปี 2559  ด้วยการเปิดบัญชีแคชบาลานซ์ และเครดิตบาลานซ์ คิดอัตราดอกเบี้ย 5.95%ต่อปี สำหรับการกู้ยืมซื้อหลักทรัพย์ ชูจุดเด่นบัญชีมาร์จิ้น ดอกเบี้ยถูก ค่าคอมมิชชั่นต่ำ เพียง 0.065% หรือหมื่นละ 6.50 บาทไม่รวมค่าธรรมเนียมอื่นๆ

โบรกเกอร์ไหนไม่ปล่อยมาร์จิ้น “หุ้นบางตัว” ก็สามารถมาใช้บริการจากที่นี่ได้  เป็นที่ถูกใจของนักลงทุนที่มีกำลังซื้อมากขึ้น   ส่งผลให้บล.จีเอ็มโอ-แซด คอมมีกำไรก้าวกระโดด จากระดับ  45.32 ล้านบาท ในปี 2563 เพิ่มเป็น 261.08 ล้านบาทในปี 2564  ส่วนปี 2565 เพียง 6 เดือนแรกมีกำไรสุทธิ 182.37 ล้านบาท รายได้ส่วนใหญ่มาจากดอกเบี้ย ขณะที่มีค่านายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์(คอมมิชชั่น) มีน้อยมาก

ซึ่งจะต้องติดตามว่า บล.จีเอ็มโอ-แซด คอม ได้รับประโยชน์จากการซื้อหุ้น MORE มูลค่า 360 ล้านบาท มากน้อยเพียงใด ซึ่งสะท้อนภาพในรูปกำไรในปี 2566

แต่ที่เห็นชัดเจน คนที่ขายหุ้นทั้ง 4 คน คือนาย อภิมุข บำรุงวงศ์ (ปิงปอง), นายศิริศักดิ์ ปิยทัสสีกุล , นายสามารถ ฉั่วศิริพัฒนา และนาย วสันต์ จาวลา มีสภาพคล่องสูงขึ้น โดยเฉพาะในช่วงนี้ที่ยังมีการอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับการซื้อขายหุ้น MORE ผิดปกติเมื่อเดือนพ.ย.2565 ที่ผ่านมา ซึ่งจะครบกำหนดแช่แข็งวันที่ 18 ก.พ.2566 ท่ามกลางกระแสข่าวว่าจะมีการดำเนินการกล่าวโทษคนปั่นหุ้น MORE ตามขั้นตอน ซึ่งต้องติดตามว่า ทรัพย์สินของนักลงทุนคนใดบ้างอาจจะถูกอายัดรอบใหม่ รวมถึง “คนที่อยู่เบื้องหลังดีล มอร์” จะดิ้นหาทางออกอย่างไรต่อไป