SUPER จ่ายไฟโครงการ SPP Hybrid 16 MW ประเมิน IRR 13-15%

HoonSmart.com>> “ซุปเปอร์ เอนเนอร์ยี” กดปุ่ม COD โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ติดตั้งร่วมกับแบตเตอรี่ (SPP Hybrid) สระแก้ว 16 เมกะวัตต์ ประเมิน IRR เฉลี่ย 13-15% ด้านแบงก์กรุงศรีหนุนสินเชื่อ ตอกย้ำความเชื่อมั่นในศักยภาพโรงไฟฟ้า ด้าน CEO “จอมทรัพย์ โลจายะ”ชูจุดเด่นจำหน่ายไฟฟ้าได้ 24 ชั่วโมง หนุนสร้างรายได้เพิ่ม พร้อมเดินหน้าขายไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนทุกรูปแบบทั้งในและต่างประเทศ วางเป้ารายได้ปีนี้โต 10-15%

จอมทรัพย์ โลจายะ

นายจอมทรัพย์ โลจายะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซุปเปอร์ เอนเนอร์ยี คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (SUPER) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2566 ที่ผ่านมา บริษัท ซุปเปอร์ โซล่าร์ ไฮบริด จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อย ดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายกระแสไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน ได้เดินเครื่องจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) โครงการ SPP HYBRID ขนาดกำลังการผลิต 16 เมกะวัตต์ ในจังหวัดสระแก้ว ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการสร้างรายได้ ส่งผลให้กำลังการผลิตไฟฟ้าที่จ่ายไฟเข้าระบบเชิงพาณิชย์เพิ่มจาก 1,592.32 เมกะวัตต์ เป็น 1,608.32 เมกะวัตต์

ทั้งนี้ โครงการ SPP HYBRID ในจังหวัดสระแก้ว เป็นโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ติดตั้งร่วมกับแบตเตอรี่ โดยสามารถผลิต และขายไฟฟ้าได้ 24 ชั่วโมง จากค่าเฉลี่ยในผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ประมาณ 4 ชั่วโมง/วัน ส่งผลต่อความสามารถในเพิ่มรายได้จากการขายไฟฟ้าในปริมาณเพิ่มขึ้นได้ ทั้งนี้โครงการดังกล่าวให้อัตราผลตอบแทน (IRR) เฉลี่ย 13-15%

สำหรับโครงการ SPP HYBRID ในจังหวัดสระแก้ว ได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ( BAY ) ในการปล่อยวงเงินสินเชื่อ (Project Financing) เพื่อนำไปใช้ในการพัฒนาโครงการ ก่อสร้าง และยังเป็นการเสริมความเชื่อมั่นจากการรับสนับสนุนจากสถาบันการเงินอีกด้วย

“โครงการ SPP HYBRID ถือเป็นโครงการโรงไฟฟ้าแห่งแรกของปีนี้ที่ COD และความโดดเด่นของ SPP HYBRID คือสามารถจำหน่ายไฟ 24 ชั่วโมง เท่ากับว่าจะสนับสนุนต่อการสร้างมาร์จิ้นเพิ่มขึ้น ทำให้ผลประกอบการเพิ่มขึ้นและโครงการนี้เป็นโครงการที่ดี และจะช่วยเพิ่มรายได้ให้กับกลุ่มบริษัทฯ ” นายจอมทรัพย์กล่าว

ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร SUPER กล่าวทิ้งท้ายว่า นอกจากนี้ยังมีโครงการต่างๆ ในมือที่จะทยอย COD ต่อเนื่อง เช่น โครงการโรงไฟฟ้าจากขยะ โซลาร์รูฟท็อป โครงการการขยายงานสัญญาซื้อขายไฟฟ้าภาคเอกชน( Private PPA ) ฯลฯ รวมทั้งโครงการ PDP ในประเทศ และแผนพัฒนาพลังงานกำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศเวียดนาม (PDP8) โดยปี 2566 ตั้งเป้าหมายรายได้เติบโต 15-20% จากปีก่อน