ความท้าทายด้าน ESG ที่ภาคธุรกิจควรจับตามองในปี 2566

HoonSmart.com>> “ศูนย์วิจัยกสิกรไทย” ชี้ 3 ประเด็นความท้าทายด้าน ESG ที่ควรจับตามองในปี 66 เพื่อให้ภาคธุรกิจทราบและเตรียมพร้อมสำหรับการดำเนินการด้านความยั่งยืน

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า ในปี 2566 ทั่วโลกกำลังเผชิญกับความกังวลทางด้านเศรษฐกิจที่เผชิญกับความไม่แน่นอนและชะงักงัน ซึ่งส่งผลต่อการดำเนินการด้านความยั่งยืน หรือที่เรียกว่า ESG ของภาคธุรกิจด้วยเช่นกัน ขณะที่ภาครัฐก็มีแนวโน้มให้ความสำคัญด้าน ESG มากขึ้น จากการกำหนดนิยามกลุ่มกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อม (Taxonomy) มาตรการภาษีคาร์บอนระหว่างประเทศ การเปิดเผยข้อมูลการดำเนินการด้าน ESG และมาตรการป้องกัน Greenwashing

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้รวบรวมประเด็นความท้าทายด้าน ESG ที่ควรจับตามองในปี 2566 เพื่อให้ภาคธุรกิจทราบและเตรียมพร้อมสำหรับการดำเนินการด้านความยั่งยืน

(1) ความท้าทายทางเศรษฐกิจในปี 2566 ที่มีความไม่แน่นอนสูงและมีแนวโน้มชะลอตัว จากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยทั่วโลก ความผันผวนของราคาพลังงาน และข้อจำกัดในการหาแหล่งเงินทุนจากการก่อหนี้ ส่งผลต่อผลการดำเนินงาน และการตัดสินใจลงทุนด้าน ESG ของภาคธุรกิจ

(2) มาตรฐานการจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมของไทย (Thailand Taxonomy) ในภาคพลังงานและภาคขนส่ง โดยแบ่งกิจกรรมทางเศรษฐกิจตามการลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ได้แก่ เขียว เหลือง และแดง ซึ่งภาคธุรกิจสามารถอ้างอิงเพื่อเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่ต่ำลงได้หากจัดอยู่ในประเภทเขียวหรือเหลือง ในขณะที่กิจการในกลุ่มสีแดงอาจเผชิญกับข้อจำกัดในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนมากขึ้น

(3) แนวโน้มการดำเนินมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวดขึ้นทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นมาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรนแดนและร่างกฎหมายว่าด้วยสินค้าปลอดการทำลายป่าไม้ของสหภาพยุโรป การเตรียมใช้ร่างกฎหมาย Clean Competition Act ของสหรัฐฯ รวมทั้งแนวโน้มการผลักดันด้านการเปิดเผยข้อมูล (Disclosure) ที่หน่วยงานกำกับดูแลทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยเพิ่มความเข้มงวดมากขึ้น ถึงแม้ว่าบางพื้นที่ของสหรัฐฯ อาจมีการนำเคมเปญด้านการต่อต้านการดำเนินการด้าน ESG (Anti-ESG Campaign) ผ่านการออกกฎหมายในบางรัฐ แต่อาจเป็นเครื่องมือทางการเมืองมากกว่าการนำมาบังคับใช้จริง


อย่างไรก็ดี นอกเหนือจากความท้าทายดังกล่าวที่จะต้องจับตามองแล้ว ประเด็นเรื่องของการพัฒนาและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี เช่น เทคโนโลยีการดักจับ กักเก็บ และใช้ประโยชน์จากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CCUS) เทคโนโลยีการผลิตและการใช้เชื้อเพลิง พลังงานหมุนเวียน และพลังงานสะอาด เป็นต้น ที่จะมาเป็นอีกปัจจัยผลักดันให้การดำเนินการด้าน ESG และการบรรลุเป้าหมายทางการลดปัญหาสภาพภูมิอากาศตามแผนงานขององค์กรได้เห็นภาพมากขึ้นด้วยเช่นกัน