HoonSmart.com>> “ธนาคารกรุงไทย” โชว์ผลประกอบการเติบโตแข็งแกร่ง กำไรสุทธิปี 65 อยู่ที่ 33,698 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 56% จากปีที่ผ่านมา เฉพาะงวดไตรมาส 4/65 เพิ่มขึ้น 64% จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา รายได้รวมขยายตัวได้ดี สินเชื่อเติบโตอย่างสมดุล รายได้ดอกเบี้ยเติบโตตามทิศทางอัตราดอกเบี้ย เดินหน้าดูแลลูกค้ากลุ่มเปราะบางปรับตัวรับแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจ
นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย (KTB) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยปี 2565 ฟื้นตัวต่อเนื่องจากการส่งออกสินค้าที่ขยายตัวได้ดี กิจกรรมเศรษฐกิจภายในประเทศทยอยกลับมาเป็นปกติมากขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี รวมถึงการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2565 ช่วยให้ภาคการท่องเที่ยวปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับสูง จากสงครามรัสเซียและยูเครนกดดันราคาพลังงานให้เพิ่มขึ้น ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จึงทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อคุมภาวะเงินเฟ้อ และสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง ทั้งนี้ ธนาคารตระหนักถึงผลกระทบต่อลูกค้าประชาชน จึงพิจารณาปรับอัตราดอกเบี้ยแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยให้ความสำคัญกับการดูแลลูกค้ากลุ่มเปราะบางที่รายได้ยังไม่กลับมาปกติ ผ่านมาตรการความช่วยเหลือที่เหมาะสมกับลูกค้าแต่ละกลุ่ม โดยคำนึงถึงศักยภาพและโอกาสในการปรับตัวของลูกค้า เพื่อรองรับทิศทางเศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัว พร้อมดูแลผู้ฝากเงินให้มีรายได้เพิ่มขึ้น ส่งเสริมการออมเพื่อความมั่นคงทางการเงินในอนาคต
สำหรับผลการดำเนินงานปี 2565 ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของธนาคาร เท่ากับ 33,698 ล้านบาทเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 56.1% สาเหตุหลักจากรายได้รวมจากการดำเนินงานที่ขยายตัว 8.3% จากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิที่เพิ่มขึ้นตามการเติบโตของสินเชื่อที่มุ่งเน้นคุณภาพ โดยสินเชื่อไม่รวมสินเชื่อภาครัฐ เติบโต 4.3% จากสิ้นปี 2564 และอัตราดอกเบี้ยที่ปรับตัวขึ้น รายได้ค่าธรรมเนียมสุทธิและรายได้จากการดำเนินงานอื่นๆ ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับสามารถบริหารจัดการค่าใช้จ่ายในองค์รวม ทำให้ Cost to Income ratio เท่ากับ 43.68% ลดลงจาก 45.54% ในช่วงเดียวกันของปีก่อน
ทั้งนี้ ธนาคารและบริษัทย่อยมีการบริหารจัดการคุณภาพสินทรัพย์อย่างระมัดระวัง และติดตามภาพรวมของเงินให้สินเชื่ออย่างใกล้ชิด โดยมีอัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อสินเชื่อรวม (NPLs Ratio-Gross) อยู่ที่ 3.26% ลดลงจากสิ้นปี 2564 ที่ 3.50% อีกทั้ง พิจารณาอย่างรอบคอบถึงปัจจัยแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจ ภายใต้ภาวะเศรษฐกิจที่มีความไม่แน่นอน โดยตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น ลดลง 25.2% จากช่วงเดียวกันของปี ซึ่งยังคงรักษา Coverage ratio ในระดับสูงที่ 179.7% เทียบกับ 168.8% เมื่อสิ้นปี 2564
ผลการดำเนินงานไตรมาส 4/2565 เมื่อเทียบกับไตรมาส 4/2564 ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของธนาคาร เท่ากับ 8,109 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 64.0% มีสาเหตุหลักจากรายได้รวมจากการดำเนินงานที่ขยายตัว 15.8% จากการเพิ่มขึ้นของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ ตามการเติบโตของสินเชื่อที่มุ่งเน้นคุณภาพทั้งสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่และสินเชื่อรายย่อย พร้อมรักษาสมดุลของสินเชื่ออย่างต่อเนื่อง โดยธนาคารมีการบริหารจัดการค่าใช้จ่ายโดยองค์รวม ส่งผลให้ Cost to Income ratio เท่ากับ 45.30% ลดลงจาก 49.16% ในช่วงเดียวกันของปีก่อน ธนาคารและบริษัทย่อยตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจำนวน 7,532 ล้านบาท ลดลง8.5% โดยยังคงรักษา Coverage ratio ในระดับสูง
ทั้งนี้ เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 3/2565 กำไรสุทธิส่วนที่เป็นของธนาคาร ลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมาจากการตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น เพิ่มขึ้น 32.9% ซึ่งเป็นการบริหารจัดการคุณภาพสินทรัพย์อย่างระมัดระวังพร้อมกับการพิจารณาตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นอย่างรอบคอบถึงปัจจัยแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจ ภายใต้ภาวะเศรษฐกิจที่มีความไม่แน่นอน จากค่าครองชีพ ค่าแรงงาน อัตราดอกเบี้ย ราคาพลังงาน และเงินเฟ้อที่สูงขึ้น กระทบกลุ่มเปราะบางต่อเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 และความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ของประเทศมหาอำนาจของโลก ส่งผลให้ NPLs Ratio-Gross เท่ากับ 3.26% และยังคงรักษา Coverage ratio ในระดับสูงที่ 179.7% โดยธนาคารมีกำไรจากการดำเนินงานเพิ่มขึ้น 9.7% มีสาเหตุหลักจากรายได้รวมจากการดำเนินงานที่ขยายตัว 9.7% จากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ และรายได้จากการดำเนินงานอื่น ประกอบกับการบริหารจัดการค่าใช้จ่ายในองค์รวม ทำให้ Cost to Income ratio เท่ากับ 45.30%
ณ 31 ธ.ค.2565 ธนาคาร (งบการเงินเฉพาะธนาคาร) มีเงินกองทุนชั้นที่ 1 ระดับ 16.50% ของสินทรัพย์ถ่วงน้ำหนักตามความเสี่ยง และมีเงินกองทุนทั้งสิ้น 19.68% ของสินทรัพย์ถ่วงน้ำหนักตามความเสี่ยง ซึ่งอยู่ในระดับที่แข็งแกร่งเมื่อเทียบกับเกณฑ์ของ ธปท. ทั้งนี้ ในเดือนเม.ย.2565 ธนาคารได้ออกตราสารด้อยสิทธิ ที่สามารถนับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 จำนวน 18,080 ล้านบาทเพื่อเตรียมพร้อมทดแทนตราสารด้อยสิทธิที่ไถ่ถอนจำนวน 20,000 ล้านบาทในเดือนพ.ย.2565 ซึ่งเป็นการไถ่ถอนก่อนวันครบกำหนดเพื่อช่วยรักษาระดับของอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 2 ต่อสินทรัพย์เสี่ยงให้แข็งแกร่งและรองรับการเติบโตในอนาคต
สำหรับทิศทางเศรษฐกิจไทย ปี 2566 Krungthai Compass คาดว่า จะขยายตัวได้ในระดับ 3.4% ตามแนวโน้มการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยยังเผชิญความท้าทาย จากภาคการส่งออกที่มีสัญญาณการชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจโลก ขณะที่ภาวะต้นทุนที่อยู่ในระดับสูงตามราคาพลังงาน ค่าไฟฟ้า และทิศทางอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น ธนาคารจึงดำเนินธุรกิจด้วยความรอบคอบ โดยให้ความสำคัญกับการดูแลลูกค้ากลุ่มเปราะบาง สนับสนุนการปรับตัวรองรับกับทิศทางภาวะเศรษฐกิจ พร้อมเดิมหน้าพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าทุกมิติ ยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยให้ดีขึ้นทุกวัน ยึดมั่นแนวทางการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล(ESG) โดยนำกรอบเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน(SDGs) มาปรับใช้ในกระบวนการดำเนินงานทุกด้าน อย่างทั่วถึง และเท่าเทียม ตามวิสัยทัศน์ “กรุงไทย เคียงข้างไทย สู่ความยั่งยืน”