MEB เครือ CRC จ่อเข้า mai ไตรมาส 1 ขาย E-Book รุกต่างประเทศ

HoonSmart.com>>บริษัท เมพ คอร์ปอเรชั่น หรือ MEB ผู้นำในธุรกิจจำหน่ายหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ (E-Book) ในเครือเซ็นทรัล รีเทล หรือ CRC พร้อมเข้าตลาด mai ไตรมาส 1/66 ขายไอพีโอไม่เกิน 75.5 ล้านหุ้น ระดมเงินขยายธุรกิจ, พัฒนาแพลตฟอร์มรุกต่างประเทศ ทั้งภาษาอังกฤษ และภาษาท้องถิ่น เพิ่มฐานรายได้สร้างการเติบโต เผยครองอันดับหนึ่งมาร์เก็ตแชร์ 60% ตลาด E-Book มีผู้ใช้งานกว่า 8 ล้านราย รายได้งวด 9 เดือนปี 65 เกิน 1.2 พันล้านบาท กำไรสุทธิ 242 ล้านบาท NPM 19%

นายรวิวร มะหะสิทธิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เมพ คอร์ปอเรชั่น หรือ MEB เปิดเผยว่า บริษัทพร้อมเข้าระดมทุนจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) เตรียมขายหุ้นไอพีโอจำนวนไม่เกิน 75.5 ล้านหุ้น ภายในไตรมาส 1/66 นี้ เพื่อนำเงินทุนใช้ในการขยายธุรกิจที่อยู่ในแพลตฟอร์มปัจจุบัน และใช้สำหรับการขยายธุรกิจใหม่ๆ พร้อมกับปรับปรุงพัฒนาแพลตฟอร์ม รวมถึงใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในธุรกิจ

การเสนอขายหุ้น IPO จำนวนไม่เกิน 75.5 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (Par) 0.50 บาทต่อหุ้น คิดเป็นไม่เกิน 25.17% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและเรียกชำระแล้วทั้งหมดภายหลังการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนในครั้งนี้ โดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้เริ่มนับหนึ่งแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์และร่างหนังสือชี้ชวนของ MEB เป็นที่เรียบร้อย

บริษัท เมพ คอร์ปอเรชั่น หรือ MEB เป็นบริษัทในเครือเซ็นทรัล รีเทล หรือ CRC (ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ก่อนเสนอขาย IPO ประกอบด้วย กลุ่ม CRC 75% และกลุ่มผู้ก่อตั้ง 25%) MEB ดำเนินธุรกิจจำหน่ายหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ (E-Book) ผ่านแพลตฟอร์ม meb และ readAwrite ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มสำหรับอ่านวรรณกรรมออนไลน์, จัดจำหน่ายอุปกรณ์อ่านหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ (E-Reader) และธุรกิจให้บริการแพลตฟอร์มระบบห้องสมุดดิจิทัลสำหรับองค์กร (Hibrary)

ธุรกิจจำหน่ายหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ (E-Book) เป็นสัดส่วน 90% ของรายได้รวม จำหน่ายผ่านเว็บไซต์ www.mebmarket.com และ www.readAwrite.com และแอปพลิเคชัน meb และ readAwrite บนระบบปฏิบัติการต่างๆ มีหนังสือที่จำหน่ายรวมจำนวนกว่า 2 แสนเรื่อง จากนักเขียน 1.45 แสนราย ทั้ง 2 แพลตฟอร์มมีจำนวนผู้ใช้งาน 8 ล้านราย โดยแพลตฟอร์ม meb จำหน่ายวรรณกรรมออนไลน์ที่มีความหลากหลายจากสำนักพิมพ์ และเจ้าของผลงานอิสระ เช่น นิยาย หนังสือทั่วไป (non-fiction) การ์ตูน นิตยสาร และหนังสือพิมพ์ เป็นต้น โดยมีการจำหน่ายวรรณกรรมเป็นเล่มและเป็นชุด มีจำนวนผู้ใช้งานประจำ 6 แสนราย ซื้อสินค้าเฉลี่ยรายละ 2,000 บาทต่อปี

แพลตฟอร์ม readAwrite เป็นแพลตฟอร์มสำหรับชุมชนนักเขียน-นักอ่าน มีจำนวนผู้ใช้งานเป็นประจำ 5 ล้านราย โดยให้สมาชิกสามารถโพสต์คอนเทนต์หรือเนื้อหาได้ด้วยตัวเอง (User Generated Content หรือ “UGC”) เจ้าของผลงานสามารถเลือกที่จะจำหน่ายผลงานของตัวเอง และ/หรือ ให้นักอ่าน Donate ให้เพื่อเป็นการสนับสนุน โดยลักษณะเนื้อหาจะเป็นการนำเสนอนิยายเป็นตอน และนิยายแชท

นอกจากนี้ บริษัทยังมีธุรกิจอื่นๆ ได้แก่ การจัดจำหน่ายอุปกรณ์อ่านหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ (E-Reader) และ ธุรกิจให้บริการแพลตฟอร์มระบบห้องสมุดดิจิทัลสำหรับองค์กร (Hibrary) โดยผู้ใช้บริการสามารถสร้างห้องสมุดดิจิตอลของตัวเอง และเผยแพร่วรรณกรรมให้แก่บุคคลากรในองค์กร โดยมีกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย เช่น โรงเรียน มหาวิทยาลัย หน่วยงานรัฐ บริษัทเอกชน และโรงพยาบาล เป็นต้น ซึ่งดำเนินงานผ่านบริษัทย่อยของบริษัท ได้แก่ บริษัท ไฮเท็คซ์ อินเตอร์แอคทีฟ จำกัด (“Hytexts”)

นายรวิวรกล่าวว่า บริษัทเป็นผู้นำในธุรกิจจำหน่ายวรรณกรรมออนไลน์ มีส่วนแบ่งการตลาด 60% จากมูลค่าตลาด E-Book ประมาณ 2,000 กว่าล้านบาท (มูลค่าตลาดรวมของธุรกิจหนังสือ 15,000 ล้านบาท) ซึ่งมีส่วนแบ่การตลาดอันดับหนึ่งในตลาดที่มีผู้เล่นประมาณ 10 ราย  โดยในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ธุรกิจของบริษัทเติบโตประมาณปีละ 20%  ปัจจุบันคนไทยที่เข้าถึงการใช้ E-Book มีต่ำกว่า 10% ถือว่าตลาดยังเติบโตได้อีกมาก ขณะที่ในต่างประเทศอย่างสหรัฐฯ หรือญี่ปุ่น มีการใช้ E-Book ในอัตรา 20-30%  ทั้งนี้ ในงวด 9 เดือนปี 65 จำนวนผู้ใช้งานแพลตฟอร์มของบริษัทเพิ่มขึ้นเป็น 8.2 ล้านราย จากสิ้นปี 64 มีจำนวน 8 ล้านราย

“บริษัทเชื่อว่าความสำเร็จของบริษัท เกิดจากการมีแพลตฟอร์มที่สามารถเข้าถึงและใช้งานได้ง่าย อีกทั้งยังมีเนื้อหาสำหรับทุกกลุ่มเป้าหมาย ทั้งนักเรียน นักศึกษา พนักงานออฟฟิศ ผู้สูงวัย หรือแม้แต่นักลงทุน และนักธุรกิจ เป็นต้น แพลตฟอร์มของบริษัทได้รับการยอมรับและเชื่อมั่นจากผู้ใช้บริการและเจ้าของผลงาน ในธุรกิจจำหน่ายวรรณกรรมออนไลน์อย่างกว้างขวาง ทั้งด้านการบริการ คุณภาพ ความหลากหลาย ความสะดวกสบายในการเข้าถึง และความคุ้มค่า ซึ่งสะท้อนให้เห็นจากผลการดำเนินงานที่ผ่านมา”

ผลประกอบการของบริษัท มีการเติบโตอย่างแข็งแกร่งและต่อเนื่อง ในปี 62 – 64 และงวด 9 เดือนของปี 65 บริษัทมีรายได้รวม 618.72 ล้านบาท, 1,004.68 ล้านบาท, 1,456.38 ล้านบาท และ 1,263.54 ล้านบาท ตามลำดับ และมีกำไรสุทธิ 82.09 ล้านบาท, 164.74 ล้านบาท,  275.34 ล้านบาท และ 241.85 ล้านบาท ตามลำดับ อัตรากำไรสุทธิ (NPM) 13.27%, 16.40%, 18.91% และ 19.14%

นายรวิวรกล่าวว่า การเข้าระดมทุนเพื่อจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) นับเป็นก้าวสำคัญในการขยายธุรกิจ เพื่อเพิ่มโอกาสในการเติบโตในอนาคตอย่างต่อเนื่อง โดยบริษัทนำเงินที่ได้รับไปใช้ขยายธุรกิจที่อยู่ในแพลตฟอร์มปัจจุบัน ประกอบด้วย meb, readAwrite และ Hytexts โดยการเพิ่มเนื้อหาวรรณกรรมออนไลน์ ทั้งจากการซื้อลิขสิทธิ์วรรณกรรมประเภทนิยาย และประเภทอื่นที่ไม่ใช่นิยาย และใช้สำหรับการขยายธุรกิจไปต่างประเทศ การจำหน่ายวรรณกรรมออนไลน์ในภาษาอังกฤษ และภาษาท้องถิ่นของแต่ละประเทศ และใช้ในการปรับปรุงพัฒนาแพลตฟอร์มปัจจุบันให้ตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น รวมถึงใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการประกอบกิจการ เพื่อมุ่งสร้างการเติบโตอย่างแข็งแกร่งและมั่นคงต่อไป

 

#MEB #readAwrite #Hytexts #E-Book #IPO #mai #E-Reader #Hibrary