HoonSmart.com>>ก.ล.ต. ชงกระทรวงการคลัง เพิกถอนใบอนุญาตธุรกิจหลักทรัพย์ ประเภท ก. “บล.เอเชียเวลท์” เหตุไม่สามารถแสดงได้ว่า จะช่วยป้องกันการนำเงินของลูกค้าไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ ตะลึง !!! NCR สิ้นสุด 27 ธ.ค.65 -96.48% และ NC – 144 ล้านบาท
แหล่งข่าววงการตลาดทุน เปิดเผยว่า คณะกรรมการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) มีมติเห็นขอบ ให้เสนอแนะต่อ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ว่า สมควรพิจารณาเพิกถอนใบอนุญาต ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์แบบ ก. ของบริษัท เอเชียเวลท์ จำกัด (AWS) โดยได้ส่งหนังสือดังกล่าวไปตั้งแต่วันที่ 9 ธันวาคม 2565
ทั้งนี้ กรณีที่รมว.คลัง สั่งเพิกถอนใบอนุญาต จะมีผลให้เลิกบริษัท ตามมาตรา 148 แห่งพ.ร.บ.หลักทรัพย์
สำหรับใบอนุญาตหลักทรัพย์ ประเภท ก. ประกอบด้วย
1.ใบอนุญาตนายหน้าซื้อ-ขาย หล้กทรัพย์
2.ใบอนุญาตค้าหลักทรัพย์
3.ใบอนุญาตจัดจำหน่ายหลักทรัพย์
4.ใบอนุญาตที่ปรึกษาการลงทุน
5.ใบอนุญาตการจัดการ กองทุนรวม
6.ใบอนุญาตกองทุนส่วนบุคคล
7.ใบอนุญาตยืมใบหุ้น
แหล่งข่าวตั้งข้อสังเกตอีกว่า การที่สำนักงานก.ล.ต. ดำเนินการกล่าวโทษ “บล.เอเชียเวลท์” อย่างรวดเร็ว หลังจากเข้าตรวจสอบตั้งแต่วันที่ 14 -19 พ.ย.2565 หลังเกิดกรณีการซื้อขายผิดปกติหุ้น มอร์ รีเทิร์น ( MORE ) และมีการตรวจสอบ AWS ย้อนหลัง ไปถึงก.ค. 2556 สมัย ดร.พิชิต อัคราทิตย์ เป็นประธานกรรมการบริษัท พบว่า มีการปล่อยเงินกู้ให้กับบริษัท เอเชียเวลท์ โฮลดิ้ง ( AWH) ซึ่งเป็นบริษัทแม่ จำนวน 460 ล้านบาท และมีการเรียกคืน กระทั่งเหลือยอดเงินกู้ยืม 220 ล้านบาท
“ก.ล.ต. ไม่ได้ดำเนินคดีแค่บริษัท เอเชียเวลท์ แต่อยู่ระหว่างส่งเรื่องให้ ปอศ. ดำเนินคดีกับบุคคลด้วย รวมทั้งเพิกถอนใบอนุญาตการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ ประเภท ก.ด้วย ที่ผ่านมา เกือบ 30 ปี ไม่เคยเห็นการเพิกถอนใบอนุญาตบริษัทหลักทรัพย์ กรณีนี้ถือว่าร้ายแรง ถึงได้ถูกเพิกถอนใบอนุญาต” แหล่งข่าวกล่าว
ทั้งนี้ บล.เอเชียเวลท์ มียอดดีลความเสียหายจากหุ้น MORE จำนวน 279.13 ล้านบาท โดยบริษัท ฯ นำเงินลูกค้าไปใช้ 157.99 ล้านบาท , มีเงินสดในบริษัทเพียง 1.18 ล้านบาท เงินกู้ยืมโอดี 119 ล้านบาท
วันเกิดเหตุ 10 พ.ย. 2565 AWS รับคำสั่งซื้อขายของ “ปิงปอง” เพียงคนเดียวเกือบ 100% ของมูลค่าซื้อขายบริษัท โดยพบว่า เป็นรายการซื้อที่ไปแมชคำสั่งกับบล.3 แห่ง โดย 2 ใน 3 เป็นค่ายแบงก์
ณ วันที่ 27 ธ.ค. 2565 บล.เอเชียเวลท์ มียอด NC ติดลบ -144.54 ล้านบาท และ NCR -96.48%
อย่างไรก็ตาม มีการตั้งข้อสังเกตว่า นายชนะชัย จุลจิราภรณ์ อดีตผู้บริหาร AWS เข้ามาบริหาร เมื่อวันที่ 7 ก.พ. 2565 – 18 พ.ย. 2565 ซึ่งการกล่าวโทษบริษัท เป็นความผิดของปี 2563-2564 ที่ผู้ถือหุ้น AWH และอดีตผู้บริหาร กระทำความผิด จึงไม่ปรากฎชื่อนายชนะชัย ซึ่งพยายามเสนอทางออกกับกลุ่ม “เผอิญโชค” เจ้าของไทยรุ่งยูเนี่ยนคาร์ ผู้ถือหุ้นใหญ่ AWH ในการแก้ปัญหาให้ “บล.เอเชียเวลท์” กลับมาดำเนินธุรกิจได้ ทั้งการออกหุ้นกู้ด้อยสิทธิ, การเพิ่มทุน, การเรียกเงินจากโฮลดิ้ง คืน แต่โฮลดิ้ง กลับเพิกเฉย จนเป็นเหตุที่มาของการถูกเพิกถอนใบอนุญาตในที่สุด
อ่านประกอบ
ปปง.เปิดให้ผู้เสียหายหุ้น MORE ยื่นคำร้องขอคุ้มครองสิทธิถึง17เม.ย.66