สภาธุรกิจตลาดทุนไทย ไม่ขอต่ออายุ LTF ปรับโฉมใหม่ ดึงดูดผู้มีรายได้น้อย

สภาธุรกิจตลาดทุนไทยยันไม่ขอคลังต่อสิทธิพิเศษ LTF หมดสิ้นปี 2562 รับมือเงินเฉียด 4 แสนล้านไหลออก ศึกษากองทุนรูปแบบใหม่เจาะผู้มีรายได้ปานกลางและรายได้น้อยลงทุน เดินหน้า 8 แผนงานหลัก พัฒนาตลาดทุนไทยให้ยั่งยืน

นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) เปิดเผยถึงแผนการดำเนินงานปี 2561-2562 ว่า เตรียมศึกษาความเป็นไปได้ออกกองทุนประเภทใหม่เพื่อทดแทนกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) ที่โครงการจะสิ้นสุดในสิ้นปี 2562 ซึ่งผู้ลงทุนจะไม่ได้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับการลงทุนในกองทุน LTF และจะไม่ขอขยายต่อ โดยควรเปลี่ยนรูปแบบใหม่ เน้นดึงฐานผู้มีรายได้ปานกลางและรายได้น้อย เข้าสู่ตลาดทุน ซึ่งเป็นหนึ่งในยุทธ์ศาสตร์การผลักดันให้ประชาชนทุกระดับใส่ใจการลงทุนระยะยาว เพราะ LTF เอื้อประโยนช์กระจุกตัวแก่ผู้มีรายได้ปานกลางและรายได้สูงมากกว่า

สำหรับการศึกษาเพื่อที่จะจัดตั้งกองทุนใหม่นั้น สภาธุรกิจตลาดทุนไทย จะร่วมมือกับ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) และ สมาคมบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในปีนี้

ขณะเดียวกันเตรียมศึกษาหาแนวทางรองรับเม็ดเงินที่จะไหลออกจากกองทุน LTF ทั้งนี้ ณ สิ้นเดือนก.ย.2561 มียอดรวมประมาณ 3.9 แสนล้านบาท ป้องกันแรงตื่นตระหนกต่อภาพตลาดหุ้นไทย เหมือนกรณีสหรัฐยกเลิกมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE)

นอกจากนั้น เตรียมยื่นเรื่องต่อหน่วยงานภาครัฐ เพื่อขอแก้ไขกฎหมายเปิดทางให้ สมาคม, มูลนิธิ และสหกรณ์ ให้สามารถลงทุนในตลาดทุนได้ เพิ่มฐานนักลงทุนสถาบันระยะยาว ที่ปัจจุบันมีสัดส่วนการลงทุนในตลาดทุนไทยไม่ถึง 10% ของมาร์เก็ตแคป

“สมาคม มูลนิธิ สหกรณ์ เป็นองค์กรที่มีเงินเย็นจำนวนมาก แต่ไม่สามารถลงทุนในตลาดทุนได้ เพราะติดข้อกฎหมาย ซึ่งเรามองว่าเงินเหล่านั้นน่าจะมีประโยชน์และให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าหากเข้ามาอยู่ในตลาดทุน อย่างน้อยสามารถลงทุนในกองทุนรวมได้ก็ยังดี ซึ่งปัจจุบันองค์กรเหล่านี้ลงทุนไม่ได้เลย” นายไพบูลย์ กล่าว

สำหรับนโยบายการดำเนินงานในปี 2561-2562 FETCO มีแผนงาน 8 แผนงานหลัก ประกอบด้วย 1.เสนอความคิดเห็นและให้คำปรึกษาต่อภาครัฐอย่างต่อเนื่องเพื่อพัฒนาตลาดทุนไทย 2.จัดทำแผนยุทธศาสตร์ตลาดทุนไทย 3.ติดตามและปรับปรุงแผนพัฒนาตลาดทุนไทย ให้สอดคล้องกับสภาวะการณ์ 4.ขยายฐานนักลงทุน โดยเฉพาะนักลงทุนระยะยาว เพื่อสร้างเสถียรภาพให้กับตลาดทุนไทย 5.เพิ่มความหลากหลายของตราสารและผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนให้มากยิ่งขึ้น 6.สร้างนักวิเคราะห์การลงทุนเพิ่มขึ้น เพื่อเพิ่มคุณภาพของตลาดทุน 7.สนับสนุนสมาชิกให้ความรู้ด้านการลงทุนขั้นพื้นฐาน (Investment Literacy) แก่ประชาชนทั่วไป และ 8.สนับสนุนสมาชิกในการพัฒนากลไกการทำงานและการนำนวัตกรรมมาใช้ในตลาดทุน

“ตลาดทุนไทยมีความจำเป็นที่จะต้องพัฒนาให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีและทิศทางนโยบายและการแข่งขันทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาคและระดับโลก โดยเฉพาะการขยายฐานนักลงทุนระยะยาว การเพิ่มความหลากหลายของตราสารและผลิตภัณฑ์ให้มากยิ่งขึ้น การสร้างนักวิเคราะห์การลงทุนเพิ่มขึ้นเพื่อเพิ่มคุณภาพของตลาดทุน รวมทั้งการส่งเสริมให้ความรู้ด้านการลงทุนขั้นพื้นฐานให้กับประชาชนทั่วไป และการพัฒนากลไกการทำงานและการนำนวัตกรรมมาใช้ในตลาดทุน นอกจากนี้ FETCO จะร่วมทำหน้าที่เป็นองค์กรหลักในการติดตามและปรับปรุงแผนพัฒนาตลาดทุนไทยให้สอดคล้องกับสภาวะการณ์อย่างใกล้ชิดมากขึ้นอีกด้วย”นายไพบูลย์ กล่าว

ขณะเดียวกันเตรียมจะสนับสนุนการแก้ไขกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อบริษัทจดทะเบียน (บจ.) เพื่อลดภาระและให้ทันสมัยยิ่งขึ้น เช่น การแก้ไข พ.ร.บ.มหาชน เกี่ยวกับการเพิ่มช่องทางโฆษณาอื่นนอกจากหนังสือพิมพ์, การส่งเอกสารผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์, การเรียกประชุมกรรมการผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์, การมอบฉันทะให้บุคคลอื่นเข้าประชุมผู้ถือหุ้นผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น

นอกจากนี้เตรียมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในตลาดทุนเพื่อจัดตั้ง Analyst Academy เพื่อเพิ่มบุคลากรนักวิเคราะห์ในอุตสาหกรรม เพราะปัจจุบันจำนวนนักวิเคราะห์ลดลงต่อเนื่องสวนทางกับจำนวนบริษัทจดทะเบียน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อคุณภาพของบทวิเคราะห์ในระยะยาว

ทั้งนี้ในปี 2551 มีนักวิเคราะห์จำนวน 340 ราย มี บจ.629 บริษัท ปัจจุบันเหลือนักวิเคราะห์ 280 ราย แต่มีบจ.ถึง 757 บริษัท และมีหลักทรัพย์สำหรับการลงทุนอีกหลายประเภทที่เกิดขึ้นมาใหม่ แต่ยังไม่มีนักวิเคราะห์เพียงพอ โดยเรื่อง Analyst Academy มีการพูดคุยกันมาหลายปี และทุก ๆ ฝ่ายเห็นด้วย แต่มีประเด็นเรื่องเงินทุน ซึ่งควรให้ความสำคัญ เพราะเกี่ยวกับความน่าเชื่อถือและคุณภาพของการวิเคราะห์การลงทุนในตลาดทุนไทย