เอกชนเฮ !! ศาล รธน.ชี้ “กพช.-กกพ.” ให้เอกชนร่วมผลิตไฟฟ้าได้ 

HoonSmart.com>> “ศาลรัฐธรรมนูญ” มีมติเอกฉันท์ปม “สัดส่วนการผลิตไฟฟ้า” ของภาครัฐต่ำกว่า 51% ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ แนะ “กพช.-กกพ.” กําหนดกรอบ-เพดาน สัดส่วนการผลิตไฟฟ้าของเอกชน ปริมาณไฟฟ้าสํารองให้ใกล้เคียงความจริง ไม่กระทบค่าไฟฟ้าที่เรียกเก็บประชาชน ด้าน “บล.หยวนต้า” มองปลดล็อค Overhang ของกลุ่มโรงไฟฟ้า แนะซื้อ GULF-BGRIM-GPSC-RATCH-SSP

เมื่อวันที่ 9 ม.ค.2566 ศาลรัฐธรรมนูญนัดอ่านคำวินิจฉัยในคดีที่ 16/2565 ที่นายสุทธิพร ปทุมเทวาภิบาล (ผู้ร้อง) ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 51 ว่า กระทรวงพลังงานกำหนดยุทธศาสตร์ กระทรวงพลังงาน (พ.ศ.2559-2563) และแผนพัฒนากําลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ.2561-2580 ทำให้สัดส่วนกําลังการผลิตไฟฟ้าของรัฐลดลงต่ำกว่าร้อยละ 51 เป็นการกระทำที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 56 ประกอบ มาตรา 3 วรรคสอง หรือไม่

ศาลรัฐธรรมนูญมีมติโดยเสียงข้างมาก (7 ต่อ 2) วินิจฉัยว่า การกระทำของ กพช. ผู้ถูกร้องที่ 1 และ กกพ. ผู้ถูกร้องที่ 2 ที่ให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการผลิตไฟฟ้า เป็นการปฏิบัติหน้าที่ถูกต้องครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 56 วรรคสอง ประกอบมาตรา 3 วรรคสอง

และศาลรัฐธรรมนูญมีมติโดยเสียงข้างมาก (6 ต่อ 3) วินิจฉัยว่าการกระทำของผู้ถูกร้องที่ 1 และผู้ถูกร้องที่ 2 ที่ให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการผลิตไฟฟ้า เป็นการปฏิบัติหน้าที่ถูกต้องครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 56 วรรคสามและวรรคสี่ ประกอบมาตรา 3 วรรคสอง

ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์ให้มีข้อแนะนำว่า รัฐโดยคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติและคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานต้องดำเนินการกำหนดกรอบหรือเพดานของสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าของเอกชนในระบบผลิตไฟฟ้าของประเทศ และกำหนดปริมาณไฟฟ้าสำรองอันเกี่ยวกับสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าของเอกชนอันส่งผลต่ออัตราค่าไฟฟ้าที่เรียกเก็บจากประชาชนให้สอดคล้องและใกล้เคียงกับความเป็นจริงตามความต้องการใช้ไฟฟ้าของทั้งประเทศในแต่ละช่วงเวลา หากกำหนดกำลังไฟฟ้าสำรองสูงเกินสมควรและก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประโยชน์สาธารณะอาจถูกดำเนินการโดยองค์กรอื่นหรือศาลอื่นได้” คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ระบุ