โดย..สุรเดช เกียรติธนากร
กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.)กสิกรไทย จำกัด
ภาพรวม
– การเติบโตเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัวลงในปี 2023 ผลกระทบจากการที่ธนาคารกลางต่างๆปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อรับมือกับเงินเฟ้อ
– ผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนมีแนวโน้มชะลอตัว จากต้นทุนทางการเงินที่เพิ่มขึ้น และอุปสงค์ที่ชะลอลง ทำให้ตลาดหุ้นจะยังมีความผันผวน
– เงินเฟ้อเริ่มมีสัญญาณชะลอตัว Cycle อัตราดอกเบี้ยเข้าใกล้จุดสูงสุด ทำให้ราคาตราสารหนี้เริ่มมีเสถียรภาพมากขึ้น
– ปัจจัยที่ต้องจับตา ได้แก่ การชะลอตัวลงของเศรษฐกิจโลก ทิศทางตัวเลขเงินเฟ้อ ทิศทางนโยบายทางการเงินของธนาคารกลาง ความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ ความคืบหน้าการเปิดประเทศอย่างสมบูรณ์ของจีน รวมทั้งการเลือกตั้งของไทย
ตลาดหุ้น
1. ปักธงรอจีนเปิดประเทศ
– จีนเริ่มผ่อนคลายนโยบายการควบคุมโควิด-19 มากขึ้น ซึ่งอาจเปิดทางไปสู่การเปิดประเทศในปีหน้า ซึ่งจากมาตรการที่ผ่อนคลายล่าสุด อาจนำไปสู่การเปิดประเทศเร็วกว่าที่นักวิเคราะห์ในตลาดคาดไว้ได้
– ปัญหาในภาคอสังหาฯจะอยู่ในวงจำกัด และรัฐบาลจะมีการเข้าไปแก้ปัญหาเป็นจุดๆ แต่การฟื้นตัวยังต้องใช้เวลา
– ปัญหาห่วงโซ่อุปทานเริ่มคลี่คลาย ความเข้มงวดด้านกฏระเบียบเริ่มผ่อนคลาย
– อัตราเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำ ทำให้จีนสามารถใช้นโยบายทางการเงินที่ผ่อนคลายต่อไปได้ สวนทางกับประเทศอื่นๆ ที่เป็นแบบตึงตัวมากขึ้น
– ระดับราคาหุ้นต่ำกว่าตลาดอื่นมาก การปรับตัวลดลงมามากทำให้โอกาสการสร้างผลตอบแทนในระยะยาวโดดเด่น
– ดังนั้น ใครยังไม่มีหุ้นจีนในพอร์ต อาจใช้จังหวะนี้ทยอยสะสมกองทุนหุ้นจีนเพื่อโอกาสรับผลตอบแทนในระยะยาวที่โดดเด่น รวมถึงหุ้นเอเชียที่ได้ประโยชน์จากการที่จีนเปิดประเทศ
2. พร้อมรับมือภาวะถดถอยสหรัฐฯ-ยุโรป
– คาดเศรษฐกิจสหรัฐฯ และยุโรปมีโอกาสเข้าสู่ภาวะถดถอยในปี 2023
– ในช่วงครึ่งแรกของปี คาดว่าความผันผวนของตลาดยังมี จากความกังวลเศรษฐกิจถดถอย ซึ่งเห็นสัญญาณตัวเลขเศรษฐกิจชะลอลงต่อเนื่อง และคาดการณ์ปรับกำไรบริษัทจดทะเบียนในอนาคตลง ในขณะที่ Fed ยังเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อ
– ยังต้องติดตามพัฒนาการของเงินเฟ้อเป็นสำคัญ ซึ่งจะทำให้ path ของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยยังคงมีความไม่แน่นอนสูง ว่าจะไปจบที่ระดับสูงสุดเท่าไหร่ (terminal rate) แต่คาดว่า Fed จะคงไว้ที่ระดับสูงยาวนานกว่าที่ตลาดคาด
– ตลาดหุ้นสหรัฐฯปัจจุบันสะท้อนความคาดหวังต่อสัญญาณเงินเฟ้อที่ชะลอตัวลงไปแล้ว จึงแนะนำรอสัญญาณการหยุดขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ Fed รวมถึงแนวโน้มการชะลอเศรษฐกิจและการปรับประมาณการกำไรบริษัทลงต่อเนื่องว่ามากน้อยเพียงใด
– ฝั่งยุโรปยังคงมีความไม่แน่นอนสูง โอกาสจะเกิดเศรษฐกิจถดถอยก่อนประเทศอื่น ขณะที่ประมาณกำไรบริษัทเริ่มเห็นการถูกปรับลงต่อเนื่อง
– แนะนำ รอจังหวะกลับเข้าลงทุนในกองทุนหุ้นสหรัฐฯและยุโรป โดยผ่านความผันผวนช่วงไตรมาส 1-2 เมื่อเริ่มมีสัญญาณดอกเบี้ยใกล้หยุดปรับขึ้นต่อ และความกังวลเศรษฐกิจถดถอยสะท้อนในการปรับคาดการณ์กำไรลงไประดับหนึ่งแล้ว โดยปัจจุบันนักวิเคราะห์ใน Bloomberg consensus คาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯจะหดตัวในช่วงไตรมาส 2/2023
3. ประเด็นใหญ่ที่ต้องจับตามองของประเทศเวียดนามมี 2 ประเด็น
– ปัญหาเรื่องสภาพคล่องของบริษัทเอกชน ซึ่งอาจต้องได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลร่วมด้วยในการแก้ปัญหา โดยในปัจจุบันรัฐบาลได้ทยอยออกมาตรการมาช่วยเหลือในหลายรูปแบบ อาทิเช่น
– การออกตราสารหนี้ผ่านการปรับปรุงฎีกาฉบับที่ 65 (Decree 65) ซึ่งจะช่วยลดความกังวลและแก้ไขปัญหาสภาพคล่องในระบบ โดยรายละเอียดที่สำคัญของข้อบังคับใช้ฉบับใหม่ คือการเลื่อนวันที่จะมีผลบังคับใช้ฎีกาฉบับที่ 65 ไปเป็นวันที่ 1 ม.ค. 2567 เพื่อที่จะผู้ที่จะเสนอขายหุ้นกู้และตลาดมีเวลาปรับตัวตามข้อบังคับใหม่ นอกจากนี้ยังอนุญาตให้ผู้ออกหุ้นกู้ขยายระยะเวลาไถ่ถอนไปได้มากที่สุด 2 ปี ในกรณีที่ผู้ถือหุ้นกู้ให้เห็นชอบไม่น้อยกว่าร้อยละ 65 เพื่อให้ผู้ถือหุ้นกู้และผู้ออกหุ้นกู้มีเวลาเจรจาปรับเปลี่ยนโครงสร้างหนี้ และท้ายสุดคือการอนุญาตให้มีการแปลงสภาพเงินต้นและดอกเบี้ยเป็นสินทรัพย์ประเภทอื่นเพื่อลดความเสี่ยงในการผิดนัดชำระ ซึ่งยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาให้เข้ากับข้อกฎหมายปัจจุบัน โดยสรุปแล้วฎีกาฉบับปรับปรุงนี้มีจุดประสงค์ที่จะเพิ่มความโปร่งใสให้กับตลาดหุ้นกู้และเพื่อที่จะปกป้องนักลงทุนในหลาย ๆ ด้าน และเพื่อที่จะให้เวลาสำหรับทุก ๆ ฝ่ายที่เกี่ยวข้องในการเตรียมตัวก่อนที่ข้อกฎหมายฉบับนี้จะถูกบังคับใช้ โดยในปัจจุบันการปรับปรุงฎีกาฉบับดังกล่าวอยู่ระหว่างการทำประชาพิจารณ์โดยคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ในต้นปี 2566
– ธนาคารกลางเวียดนามได้ออกมาประกาศเพิ่มอัตราขยายตัวของสินเชื่ออีก 1.5-2% เป็น 15.5-16% โดยทั้งนี้จะขึ้นอยู่กับแต่ละธนาคารว่าอัตราดอกเบี้ยจะเป็นเท่าใดโดยธนาคารที่มีสภาพคล่องที่สูงและมีอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำจะสามารถเพิ่มอัตราขยายตัวของสินเชื่อได้มากกว่าเพื่อที่จะช่วยจัดการปัญหาเรื่องสภาพคล่องสำหรับบริษัทต่าง ๆ ในระยะสั้นได้ โดยเฉพาะสภาพคล่องในตลาดหุ้นกู้
– ธนาคารกลางเวียดนามได้ส่งสัญญาณการเพิ่มสภาพคล่องเข้าไปในระบบหลังจากการเพิ่มอัตราขยายตัวของสินเชื่อโดยมีการใช้สัญญาการซื้อคืน (repo) เป็นระยะเวลา 3 เดือน เมื่อวันที่ 7 ธ.ค. ที่ผ่านมา นอกจากการที่ธนาคารกลางได้อัดฉีดเงินจำนวน 4 ล้านล้านด่องเข้าสู่สถาบันจำนวน 7 แห่ง ผ่านการดำเนินการผ่านตลาดการเงิน ธนาคารกลางยังอนุมัติให้สถาบัน 4 แห่งกู้ยืมเงินจำนวน 3 ล้านล้านด่องเป็นระยะเวลา 91 วัน ซึ่งแสดงถึงความพยายามของธนาคารกลางที่จะกระตุ้นสภาพคล่องในระยะยาว
– นอกเหนือจากมาตรการที่กล่าวมาข้างต้น การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศเข้ามาในเวียดนามเป็นจำนวนมากจะเป็นตัวกระตุ้นที่จะส่งเสริมค่าเงินและสภาพคล่องของเงินด่องและพัฒนาภาพเศรษฐกิจของเวียดนาม
– ความกังวลเรื่องเศรษฐกิจโลกถดถอยอาจส่งกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศเวียดนาม เนื่องจากเวียดนามจะมีสัดส่วนการส่งออกที่ค่อนข้างสูง (เกือบ 100% ของ GDP) ทำให้หลีกเลี่ยงใม่ได้ที่จะได้รับผลกระทบหากโลกเกิดเศรษฐกิจถดถอย อย่างไรก็ตามเราคาดว่าเวียดนามมีความได้เปรียบเรื่องความสามารถในการแข่งขัน โดยเฉพาะเรื่องต้นทุน ประกอบกับสงครามการค้าระหว่างจีนกับอเมริกา ทำให้เวียดนามได้อานิสงค์จากการย้ายฐานการผลิตมาเพิ่มขึ้น และการฟื้นตัวของการบริโภคในประเทศ ทำให้ผลกระทบอาจจากเศรษฐกิจถดถอยไม่รุนแรงมากอย่างคาด ถึงแม้หน้าตลาดมองว่า GDP ของเวียดนามปี 2566 จะมีการเติบโตต่ำกว่าปี 2565 เนื่องจากปี 2565 ได้อานิสงส์จากการเปิดประเทศและการฟื้นตัวจากการส่งออกจากฐานที่ต่ำ แต่ก็คาดว่าสามารถอยู่ในระดับสูงกว่า 6% แต่ก็ยังอยู่ในระดับที่สูงกว่าในหลายประเทศ อนึ่งจากการที่กระทรวงการคลังสหรัฐฯได้ถอดประเทศเวียดนามออกจากบัญชีเฝ้าระวังการบิดเบือนค่าเงิน (currency manipulation watchlist) ตามรายงานถึงรัฐสภาเมื่อวันที่ 10 พฤษศจิกายน 2022 ช่วยลดความเสี่ยงที่จะถูกสหรัฐฯใช้มาตรการตอบโต้ทางการค้าลดลงอย่างมีนัยยะ
– ปัจจุบัน ดัชนี VN Index ซื้อขายอยู่ที่ discount อย่างมาก โดย 2566 P/E 12 เดือนอยู่ที่ 9.5 เท่า (-2SD จาก P/E เฉลี่ย 5 ปี) ประมาณการ Bloomberg consensus โดยปัจจุบันตลาดมีการคาดการณ์ Earnings growth ในปี 2566 ที่ 12% ราเป้าหมายดัชนีปลายปีที่ระดับ 1200 จุด ในระยะสั้น เราคาดว่าตลาดยังมีความผันผวนอยู่สูง และปัจจัยที่กล่าวมาข้างต้นน่าจะยังคงกดดันผลตอบแทนจากตลาดหุ้นเวียดนามต่อไป
เราคาดว่าจากมาตรการความช่วยเหลือของรัฐบาลที่เริ่มทยอยออกมาซึ่งจะช่วยคลี่คลายสถานการณ์ในตลาดอสังหาฯ และผ่อนคลายความกังวลของนักลงทุนรายย่อย แต่ในระยะกลางถึงระยะยาวเรายังมีมุมมองเชิงบวก จากปัจจัยพื้นฐานของประเทศที่แข็งแกร่ง ทั้งการเติบโตของเศรษฐกิจ การลงทุนโดยตรงของนักลงทุนต่างประเทศ การส่งออก และการบริโภคในประเทศที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง ทำให้อัตราการเติบโตของกำไรบริษัทจดทะเบียนยังอยู่ในระดับสูง และระดับ Valuation อยู่ในระดับที่น่าสนใจ
เรามองว่าการเข้ามาปราบปรามเรื่องการปั่นหุ้นและการทุจริตคอร์รัปชั่นอย่างจริงจังจะทำให้ตลาดหุ้นเวียดนามมีเสถียรภาพและความโปร่งใสมากขึ้น ซึ่งหากสถานการณ์เริ่มคลี่คลายลง ตลาดเวียดนามจะสามารถฟื้นตัวได้ดีจากเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวเป็นไปอย่างต่อเนื่อง โดยการฟื้นตัวของ GDP เวียดนามคาดว่าจะยังอยู่ในระดับสูงกว่าประเทศอื่นด้วยแรงสนับสนุนจากการส่งออกและการบริโภคในประเทศ นอกจากนี้ ในอนาคตตลาดหุ้นเวียดนามยังมีโอกาสในการถูกปรับสถานะจากตลาดหุ้นชายขอบ (Frontier Market) สู่ ตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market) ก็จะดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติได้อีกมาก
4. ท่องเที่ยวไทยหนุนหุ้นไทยไปต่อ
– ภาคการท่องเที่ยวที่เติบโตขึ้นต่อเนื่อง โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ตั้งเป้าในการดึงนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเข้ามาเที่ยวในประเทศไทยให้ได้จำนวน 20 ล้านคน ในปี 2566 ซึ่งจะช่วยสร้างรายได้ให้ประเทศกว่า 2.38 ล้านล้านบาท หลังจากในปี 2565 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามากว่า 10 ล้านคน และมีค่าเฉลี่ยจำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามาเพิ่มสูงถึง 70,000 คนต่อวัน และคาดว่าสิ้นปี 2565 คงปิดปีได้ไม่น้อยกว่า 11 ล้านคน
– จีนทยอยเปิดประเทศ หนุน GDP ไทยขยายตัว การทยอยเปิดประเทศจีนนี้จะช่วยลดผลกระทบจากการส่งออกที่ชะลอตัว และการเพิ่มขึ้นของรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติซึ่งคิดเป็นสัดส่วนที่สูงกว่า 10% ของจีดีพี หรือ 61% ของรายได้ทั้งหมดก่อนสถานการณ์การระบาดของ Covid-19
– การเลือกตั้งของไทยที่จะเกิดขึ้นในปี 2566 การเลือกตั้งแต่ละครั้งจะทำให้เกิดเม็ดเงินเข้าสู่เศรษฐกิจเป็นจำนวนมาก รวมถึงนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจใหม่ ๆ ที่จะเกิดขึ้นของรัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามา ซึ่งนี่จะเป็นแรงหนุนที่ช่วยให้เศรษฐกิจไทยในปีหน้าฟื้นตัวได้เป็นอย่างดี
– สถานการณ์เงินเฟ้อพ้นจุดวิกฤติแล้ว โดยปีที่ผ่านมาภาวะเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย แต่เงินเฟ้อน่าจะพ้นจุดสูงสุดไปแล้ว จึงช่วยลดแรงกดดันการปรับขึ้นดอกเบี้ยของ กนง. ได้ และไม่ต้องเร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วและแรงแบบประเทศอื่น
– มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจปี 2566 จากภาครัฐที่ออกมาอย่างต่อเนื่อง จากประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ดำเนินโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อมอบเป็นของขวัญปีใหม่ 2566 ให้ประชาชนอย่างต่อเนื่อง อย่างมาตรการช้อปดีมีคืน ปี 2566 ตั้งแต่ 1 มกราคม – 15 กุมภาพันธ์ 2566 ด้วยวงเงินสูงถึง 40,000 บาท, มาตรการลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ปี 2566 ในอัตรา 15%, ลดค่าธรรมเนียมจดสิทธิบัตรที่อยู่อาศัย, มาตรการช่วยเหลือผู้กู้ยืมเงิน ไปจนถึงการส่งเสริมให้ประชาชนและผู้ลงทุนมีศักยภาพในการสร้างสุขภาพการเงินที่ดี ซึ่งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทยปี 2566 ให้คึกคักมากยิ่งขึ้นกว่าเดิมอีกด้วย
บลจ. กสิกรไทย มองเป้าดัชนีหุ้นไทยปลายปี 2566 ที่ 1,800 จุด มีปัจจัยสนับสนุนหลักภายในประเทศมาจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจากการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติและการทยอยกลับมาเปิดดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจตามปกติ ด้านค่าเงินบาทคาดว่าจะมีเสถียรภาพมากขึ้นจากเงินเฟ้อที่พ้นจุดสูงสุดไปแล้ว และดุลบัญชีเดินสะพัดกลับมาเกินดุล และหากค่าเงินดอลลาร์เริ่มอ่อนค่า จะหนุนให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทยมากยิ่งขึ้น
แต่ก็ยังมีปัจจัยอื่นที่ต้องเฝ้าดูอย่างต่อเนื่องทั้งการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ทิศทางตัวเลขเงินเฟ้อ ทิศทางนโยบายทางการเงินของธนาคารกลาง ความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ ความคืบหน้าการเปิดประเทศอย่างสมบูรณ์ของจีน รวมทั้งการเลือกตั้งของไทย
5. Sustainable and Defensive
– หุ้นที่เกี่ยวข้องกับธีมการเติบโตอย่างยั่งยืน มีโอกาสฟื้นตัวได้เร็ว เนื่องจากผสมผสานระหว่างการเป็นหุ้นที่มี Beta และการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างในระยะยาว ไม่ว่าจะเป็นกระแสรักษ์โลก หรือ เมกะเทรนด์ต่างๆ
– หุ้นที่มีความ Defensive หรือมีความทนทานในทุกสภาพตลาด อย่างธีมการลงทุนด้าน Healthcare กลับมาน่าสนใจ จาก Valuation ที่ไม่สูง เป็นบริการที่มีความจำเป็นและมีรายได้สม่ำเสมอ
ตราสารหนี้
– การปรับนโยบายดอกเบี้ยของธนาคารกลางทั่วโลกเริ่มใกล้ถึงจุดสูงสุดของวัฎจักร โดยส่งสัญญาณการปรับดอกเบี้ยในระยะถัดไปที่ลดอัตราลง ประกอบกับ Flight to quality จากโอกาสการเกิด Recession ที่อยู่ระดับสูง ส่งผลดีต่อตราสารหนี้ภาครัฐ
– อัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้เอกชนคุณภาพดี Investment Grade ที่ปรับสูงขึ้นตามดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาล ประกอบกับแนวโน้ม Flight to quality หากเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย ทำให้น่าสนใจกว่าโดยเปรียบเทียบกับ High Yield
– ทั้งนี้ ตลาดตราสารหนี้ปัจจุบัน สะท้อนถึงการปรับขึ้นดอกเบี้ยในอนาคตไปมากแล้ว การลงทุนในตราสารหนี้จึงมีความน่าสนใจมากขึ้นในภาวะที่เศรษฐกิจมีความไม่แน่นอนสููง และราคาอัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ที่ทยอยปรับขึ้นมา แต่อาจมีความผันผวนในบางขณะได้
–
การลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้นจึงสามารถสร้างผลตอบแทนที่น่าสนใจได้บนระดับความผันผวนที่ไม่สูง แต่หากรับความเสี่ยงได้มากขึ้นแนะนำให้รอดูจังหวะเข้าสะสมกองทุนตราสารหนี้กลาง-ยาว ซึ่งอาจมีความผันผวนอยู่แต่มีโอกาสสร้างผลตอบแทนที่โดดเด่นกว่าตราสารหนี้ระยะสั้น