บลจ.กสิกรฯ มองหุ้นเวียดนามยังน่าสนใจ

HoonSmart.com>> “บลจ.กสิกรไทย” มองระยะสั้นตลาดหุ้นเวียดนามยังมีผันผวนสูง หลายปัจจัยกดดัน คาดมาตรรัฐบาลเริ่มทยอยออกมาช่วยคลี่คลายสถานการณ์ในตลาดอสังหาฯ และผ่อนคลายความกังวลนักลงทุนรายย่อย ด้านกำไรบจ.ปี 66 ตลาดคาดเติบโต 12% มองระยะกลางยังน่าสนใจ แนะกองทุน K-VIETNAM-SSF และ K-VIETNAM-RMF

นางสาวธิดาศิริ ศรีสมิต รองกรรมการผู้จัดการ สายงานจัดการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) กสิกรไทย จำกัด เปิดเผยถึงมุมมองตลาดหุ้นเวียดนามว่า ดัชนี VNI ปรับตัวลงกว่า 32% แต่ต้นปี 2565 ที่ทำ All time high ที่ 1500 จุด จากความกังวลเรื่องการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ Fed และอัตราเงินเฟ้อซึ่งส่งกระทบต่อการลงทุนทั่วโลกแล้ว การปรับตัวลงของตลาดหุ้นเวียดนามในปีนี้มีสาเหตุหลักเริ่มมาจากมาตรการของทางการที่ออกมาปราบปรามเรื่องการปั่นหุ้นและ Anti-corruption ตั้งแต่ช่วงเดือนมีนาคมและเมษายนทำให้มีผลกระทบเป็นผลกว้างต่อตลาดหุ้นในหลายอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอสังหาและธนาคารพาณิชย์ รวมถึงช่วงต้นเดือนตุลาคมที่มีข่าวการจับกุมประธานบริษัทอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ Van Thinh Phat Group ข้อหาทุจริตหุ้นกู้ (เหตุการณ์เกิดขึ้นปี 2018-2019) ตลอดจนมีข่าวลือว่ามีธนาคารพาณิชย์เอกชนรายใหญ่มีส่วนเกี่ยวข้อง ทำให้เกิดแรงขายจากนักลงทุนรายย่อย ซึ่งมีการใช้ Margin Loan ถูก Force Sell อย่างต่อเนื่อง (นักลงทุนรายย่อยที่ใช้บัญชี Margin ซึ่งเป็นบัญชีการกู้ยืมเพื่อซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหุ้นเวียดนาม ถูกบังคับขายจากราคาหุ้นที่ปรับตัวลงแรง) โดยตลาดหุ้นได้ปรับลดลงมาอย่างต่อเนื่อง และมีแรงขายอย่างหนักอีกครั้งในเดือนกันยายน จากความกังวลเรื่องสภาพคล่องในระบบเริ่มจาก

1. การปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 200bp ภายในเวลาไม่ถึง 1 เดือน (ครั้งแรก 23 กย และครั้งที่สอง 25 ตค) เพื่อควบคุมเงินเฟ้อและเสถียรภาพของค่าเงินดอง ภายหลังจากเงินเฟ้อของเวียดนามปรับขึ้นทะลุ 4% ในเดือนตุลาคมและค่าเงินดองของเวียดนามก็อ่อนลงอย่างรวดเร็วเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ โดยเฉพาะในเดือนกันยายน อย่างไรก็ตามเรามองว่าระดับเงินเฟ้อในเวียดนามน่าจะอยู่ในระดับที่ควบคุมได้ ถึงแม้ระดับเงินเฟ้อเดือนกันยายนปรับขึ้นมาแตะขอบบนของกรอบเป้าหมายของรัฐบาลที่ 4% เราคาดว่าอัตราเงินเฟ้อน่าจะสามารถปรับลดลงได้ตามราคาพลังงานที่เริ่มมีการปรับลง และที่ผ่านมาในอดีตเวียดนามก็เคยผ่านช่วงเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูงถึง 5-6% มาแล้ว ซึ่งทางรัฐบาลก็สามารถบริหารจัดการได้ในระดับหนึ่ง  ประกอบกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางอย่างรวดเร็วถึง 2% ใน 2 เดือนที่ผ่านมาน่าจะสะท้อนถึงการคาดการณ์การขึ้นอัตราดอกเบี้ย Fed Fund Rate ไปส่วนใหญ่แล้ว

2. ความกังวลต่อปัญหาความตึงตัวของสภาพคล่องทางการเงินในภาคอสังหาริมทรัพย์ สืบเนื่องมาจากนโยบายของรัฐบาลเวียดนามที่ควบคุมการออกหุ้นกู้ของภาคเอกชนอย่างเข้มงวดมากขึ้นตั้งแต่ไตรมาส 2 ภายหลังจากมีการทุจริตและนำเงินไปใช้ผิดวัตถุประสงค์  โดยภาคอสังหาและธนาคารมีสัดส่วนรวมกันมากกว่า 70% ของหุ้นกู้ภาคเอกชนทั้งหมด (กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ 40% และกลุ่มธนาคารที่ 30%) ทั้งนี้หุ้นกู้ภาคเอกชนที่จะครบกำหนดไถ่ถอนในเดือนธันวาคม 2565 มีมูลค่าเกือบ 50trn ดอง ทำให้ตลาดมีความกังวลเรื่องการขาดสภาพคล่องของบริษัทเอกชน สำหรับดัชนี VN index กลุ่มสถาบันการเงินมีน้ำหนักคิดเป็น 37% ในดัชนี ตามมาด้วย กลุ่มอสังหาที่ 20%

3. แรงเทขายของนักลงทุนรายย่อย  ซึ่งในตลาดเวียดนามรายย่อยมีสัดส่วนที่สูงกว่า 80% ของตลาดและมีการใช้ Margin loan อยู่ในระดับสูง ซึ่ง 7ปีที่ผ่านมามีมาการใช้ Margin loan เพิ่มเกือบ 5 เท่า ทำให้มีแรงเทขายจำนวนมากเมื่อตลาดหุ้นมีการปรับตัวลง ประกอบตั้งแต่มีเหตุการณ์เรื่องปราบปรามการทุจริตตั้งแต่ช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ในขณะที่มูลค่าซื้อขายหลักทรัพย์ต่อวันก็ได้มีการปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยลดลงจากจุดสูงสุดที่ในเดือนมีนาคมที่เกือบ 5 หมื่นล้านบาทเหลือในปัจจุบันแค่หมื่นไม่ถึง 2 หมื่นล้าน นอกเหนือจากนั้นการที่ผู้ถือหุ้นใหญ่เอาหุ้นไปเป็นหลักประกันกับ Broker เพื่อกู้ยืมเงินทำให้เมื่อราคาหุ้นมีการปรับลดลงมามากทำให้เกิดการบังคับขายหุ้นที่เป็นหลักประกัน

4. ความกังวลจากการที่ตลาดหุ้น Ho Chi Minh Stock Exchange (HOSE) ไม่ได้หลุดจากรายชื่อเป็นสมาชิกของ สหพันธ์ตลาดหลักทรัพย์นานาชาติ (The World Federation of Exchanges – WFE) เนื่องจากกำลังอยู่ในระหว่างควบรวมเข้ากับตลาดหุ้น Hanoi Stock Exchange ทำให้นักลงทุนสถาบันในบางประเทศเช่น ไทย ไม่สามารถลงทุนใน ETF ของตลาดเวียดนาม ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง แต่ในปัจจุบันตลาดหุ้นเวียดนามได้กลับเข้ามาเป็นสมาชิกของ WFE เรียบร้อยแล้ว

5. ความกังวลเรื่องเศรษฐกิจโลกถดถอยอาจส่งกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศเวียดนาม เนื่องจากเวียดนามจะมีสัดส่วนการส่งออกที่ค่อนข้างสูง (เกือบ 100% ของ GDP) ทำให้หลีกเลี่ยงใม่ได้ที่จะได้รับผลกระทบหากโลกเกิดเศรษฐกิจถดถอย

อย่างไรก็ตามเราคาดว่าเวียดนามมีความได้เปรียบเรื่องความสามารถในการแข่งขัน โดยเฉพาะเรื่องต้นทุน ประกอบกับสงครามการค้าระหว่างจีนกับอเมริกา ทำให้เวียดนามได้อานิสงค์จากการย้ายฐานการผลิตมาเพิ่มขึ้น และการฟื้นตัวของการบริโภคในประเทศ ทำให้ผลกระทบอาจจากเศรษฐกิจถดถอยไม่รุนแรงมากอย่างคาด ถึงแม้หน้าตลาดมองว่า GDP ของเวียดนามปี 2566 จะมีการเติบโตต่ำกว่าปี 2565 เนื่องจากปี 2565 ได้อานิสงส์จากการเปิดประเทศและการฟื้นตัวจากการส่งออกจากฐานที่ต่ำ แต่ก็คาดว่าสามารถอยู่ในระดับสูงกว่า 6%  แต่ก็ยังอยู่ในระดับที่สูงกว่าในหลายประเทศ อนึ่งจากการที่กระทรวงการคลังสหรัฐฯได้ถอดประเทศเวียดนามออกจากบัญชีเฝ้าระวังการบิดเบือนค่าเงิน (currency manipulation watchlist) ตามรายงานถึงรัฐสภาเมื่อวันที่ 10 พฤษศจิกายน 2022 ช่วยลดความเสี่ยงที่จะถูกสหรัฐฯใช้มาตรการตอบโต้ทางการค้าลดลงอย่างมีนัยยะ

เรามองว่าประเด็นใหญ่ที่เราต้องจับตามองของประเทศเวียดนามในขณะนี้เป็นเรื่องปัญหาสภาพคล่อง ซึ่งอาจต้องได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลร่วมด้วยในการแกปัญหา โดยในปัจจุบันรัฐบาลได้ทยอยออกมาตรการมาช่วยเหลือในหลายรูปแบบ อาทิเช่น

1) การออกตราสารหนี้ผ่านการปรับปรุงฎีกาฉบับที่ 65 (Decree 65) ซึ่งจะช่วยลดความกังวลและแก้ไขปัญหาสภาพคล่องในระบบ โดยรายละเอียดที่สำคัญของข้อบังคับใช้ฉบับใหม่ คือการเลื่อนวันที่จะมีผลบังคับใช้ฎีกาฉบับที่ 65 ไปเป็นวันที่ 1 ม.ค. 2567 เพื่อที่จะผู้ที่จะเสนอขายหุ้นกู้และตลาดมีเวลาปรับตัวตามข้อบังคับใหม่ นอกจากนี้ยังอนุญาตให้ผู้ออกหุ้นกู้ขยายระยะเวลาไถ่ถอนไปได้มากที่สุด 2 ปี ในกรณีที่ผู้ถือหุ้นกู้ให้เห็นชอบไม่น้อยกว่าร้อยละ 65 เพื่อให้ผู้ถือหุ้นกู้และผู้ออกหุ้นกู้มีเวลาเจรจาปรับเปลี่ยนโครงสร้างหนี้ และท้ายสุดคือการอนุญาตให้มีการแปลงสภาพเงินต้นและดอกเบี้ยเป็นสินทรัพย์ประเภทอื่นเพื่อลดความเสี่ยงในการผิดนัดชำระ ซึ่งยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาให้เข้ากับข้อกฎหมายปัจจุบัน โดยสรุปแล้วฎีกาฉบับปรับปรุงนี้มีจุดประสงค์ที่จะเพิ่มความโปร่งใสให้กับตลาดหุ้นกู้และเพื่อที่จะปกป้องนักลงทุนในหลาย ๆ ด้าน และเพื่อที่จะให้เวลาสำหรับทุก ๆ ฝ่ายที่เกี่ยวข้องในการเตรียมตัวก่อนที่ข้อกฎหมายฉบับนี้จะถูกบังคับใช้ โดยในปัจจุบันการปรับปรุงฎีกาฉบับดังกล่าวอยู่ระหว่างการทำประชาพิจารณ์โดยคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ในต้นปี 2566

2) ธนาคารกลางเวียดนามได้ออกมาประกาศเพิ่มอัตราขยายตัวของสินเชื่ออีก 1.5-2% เป็น 15.5-16% โดยทั้งนี้จะขึ้นอยู่กับแต่ละธนาคารว่าอัตราดอกเบี้ยจะเป็นเท่าใดโดยธนาคารที่มีสภาพคล่องที่สูงและมีอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำจะสามารถเพิ่มอัตราขยายตัวของสินเชื่อได้มากกว่าเพื่อที่จะช่วยจัดการปัญหาเรื่องสภาพคล่องสำหรับบริษัทต่าง ๆ ในระยะสั้นได้ โดยเฉพาะสภาพคล่องในตลาดหุ้นกู้

3) ธนาคารกลางเวียดนามได้ส่งสัญญาณการเพิ่มสภาพคล่องเข้าไปในระบบหลังจากการเพิ่มอัตราขยายตัวของสินเชื่อโดยมีการใช้สัญญาการซื้อคืน (repo) เป็นระยะเวลา 3 เดือน เมื่อวันที่ 7 ธ.ค. ที่ผ่านมา นอกจากการที่ธนาคารกลางได้อัดฉีดเงินจำนวน 4 ล้านล้านด่องเข้าสู่สถาบันจำนวน 7 แห่ง ผ่านการดำเนินการผ่านตลาดการเงิน ธนาคารกลางยังอนุมัติให้สถาบัน 4 แห่งกู้ยืมเงินจำนวน 3 ล้านล้านด่องเป็นระยะเวลา 91 วัน ซึ่งแสดงถึงความพยายามของธนาคารกลางที่จะกระตุ้นสภาพคล่องในระยะยาว

นอกเหนือจากมาตรการที่กล่าวมาข้างต้น การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศเข้ามาในเวียดนามเป็นจำนวนมากจะเป็นตัวกระตุ้นที่จะส่งเสริมค่าเงินและสภาพคล่องของเงินด่องและพัฒนาภาพเศรษฐกิจของเวียดนาม

ปัจจุบัน ดัชนี VN Index ซื้อขายอยู่ที่ discount อย่างมาก โดย 2566 P/E 12 เดือนอยู่ที่ 9.5 เท่า (-2SD จาก P/E เฉลี่ย 5 ปี) ประมาณการ Bloomberg consensus โดยปัจจุบันตลาดมีการคาดการณ์ Earnings growth ในปี 2566 ที่ 12% ราเป้าหมายดัชนีปลายปีที่ระดับ 1200 จุด

ในระยะสั้น เราคาดว่าตลาดยังมีความผันผวนอยู่สูง และปัจจัยที่กล่าวมาข้างต้นน่าจะยังคงกดดันผลตอบแทนจากตลาดหุ้นเวียดนามต่อไป เราคาดว่าจากมาตรทการความช่วยเหลือของรัฐบาลที่เริ่มทยอยออกมาซึ่งจะช่วยคลี่คลายสถานการณ์ในตลาดอสังหาฯ และผ่อนคลายความกังวลของนักลงทุนรายย่อย

แต่ในระยะกลางถึงระยะยาวเรายังมีมุมมองเชิงบวก จากปัจจัยพื้นฐานของประเทศที่แข็งแกร่ง ทั้งการเติบโตของเศรษฐกิจ การลงทุนโดยตรงของนักลงทุนต่างประเทศ การส่งออก และการบริโภคในประเทศที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง ทำให้อัตราการเติบโตของกำไรบริษัทจดทะเบียนยังอยู่ในระดับสูง และระดับ Valuation อยู่ในระดับที่น่าสนใจ เรามองว่าการเข้ามาปราบปรามเรื่องการปั่นหุ้นและการทุจริตคอร์รัปชั่นอย่างจริงจังจะทำให้ตลาดหุ้นเวียดนามมีเสถียรภาพและความโปร่งใสมากขึ้น ซึ่งหากสถานการณ์เริ่มคลี่คลายลง ตลาดเวียดนามจะสามารถฟื้นตัวได้ดีจากเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวเป็นไปอย่างต่อเนื่อง โดยการฟื้นตัวของ GDP เวียดนามคาดว่าจะยังอยู่ในระดับสูงกว่าประเทศอื่นด้วยแรงสนับสนุนจากการส่งออกและการบริโภคในประเทศ นอกจากนี้ ในอนาคตตลาดหุ้นเวียดนามยังมีโอกาสในการถูกปรับสถานะจากตลาดหุ้นชายขอบ (Frontier Market) สู่ ตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market)  ก็จะดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติได้อีกมาก

สำหรับกองทุนแนะนำ ได้แก่
K-VIETNAM-SSF และ K-VIETNAM-RMF ที่มีนโยบายลงทุนในหุ้นเวียดนามกลุ่มเติบโตสูง ตามการเป็นประเทศฐานการผลิตแห่งใหม่ของโลก