บล.กสิกรฯชี้ปี 66 จีน-สปส.หนุน รพ.โต แนะ BDMS-EKH หุ้นเด่น

HoonSmart.com>>บล.กสิกรไทยคาดปี 66 อุปสงค์โรคที่ไม่ใช่โควิดจะกลับมาสู่ระดับปกติ, จีนเปิดประเทศ, ท่องเที่ยวฟื้นตัวหนุนการเติบโต รพ. ชี้ สปส. ทำ MoU กับ 10 รพ.สร้างโอกาสดีให้ BCH และ CHG แนะนำหุ้นเด่น BDMS (ราคาเหมาะสม 32.30 บาท) และ EKH (ราคาเหมาะสม 9.60 บาท)

บล.กสิกรไทย มีมุมมองบวกต่อกลุ่มโรงพยาบาล ระบุว่าในปี 66 คาดว่าอุปสงค์โรคที่ไม่ใช่โควิดจะกลับมาสู่ระดับปกติ ซึ่งจะหนุนการเติบโตภายใน และมีรายได้ตามฤดูกาลจากโควิด-19 รวมทั้งมี upside ที่อาจเกิดขึ้นจากการเปิดประเทศของจีน การฟื้นตัวของจำนวนนักท่องเที่ยว การปรับขึ้นอัตราค่าบริการทางการแพทย์ของ สปส. และการควบรวมกิจการ ประเมินมูลค่าหุ้นกลุ่มการแพทย์ด้วยวิธี DCF และ WACC ที่กรอบ 6-10% ยกเว้นของ RJH, THG และ VIBHA ที่ใช้วิธี NAV ราคาเป้าหมายสะท้อน PER ปี 67 ที่ 24-48 เท่า หุ้นเด่นแนะนำ คือ BDMS(ราคาเหมาะสม 32.30 บาท) และ EKH (ราคาเหมาะสม 9.60 บาท)

สำหรับหุ้น EKH มีมุมมองจาก บล.หยวนต้าระบุว่า มีมุมมองเป็นบวกต่อประเด็นข่าวที่ประเทศจีนประกาศจะยกเลิกมาตรการกักตัวผู้ที่เดินทางจากต่างประเทศ โดยมีผลตังแต่วันที่ 8. ม.ค.66 หลังจากที่มีการบังคับใช้มาตรการดังกล่าวมานาน 3 ปี ส่งผลบวกต่อการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ที่จะเดินทางกลับมารักษาในประเทศไทยมากขึ้น และเป็นบวกโดยตรงต่อธุรกิจรักษาผู้มีบุตรยาก หรือ IVF ของ EKH ซึ่งลูกค้าหลักเป็นคนจีน

ช่วงก่อนการระบาดของ COVID-19 ย้อนไปปี 62  EKH มีรายได้จากธุรกิจ IVF สูงถึง 20% ของรายได้ และลูกค้าเป็นชาวจีนราว 95% ซึ่งหมายถึงลูกค้าจีนมีสัดส่วนถึง 19% ของรายได้รวม ขณะที่ ปี 63-65 ซึ่งเป็นช่วงการระบาดของ COVID-19 สัดส่วนรายได้ IVF ลดลงมาเหลือเพียง 6%, 3% และ 7% ของรายได้รวมตามลำดับ

บล.หยวนต้า ประมาณการในปี 66 คาดสัดส่วนรายได้จาก IVF จะเพิ่มเป็น 13% ของรายได้รวม นอกจากนี้ คาดว่าคนไข้ปกติในประเทศจะกลับมาจาก Pent Up Demand ภาพรวมปี 66 ประมาณการกำไรจะพลิกกลับมาเติบโต 8% YoY เป็น 270 ล้านบาท

เมื่อวันที่ 26 ธ.ค. สำนักงานประกันสังคม (สปส.) ทำ MoU กับโรงพยาบาล 10 แห่ง เพื่อให้ผู้ประกันตนเข้าถึงบริการผ่าตัดของผู้ประกันตน ในกลุ่ม 5 โรค ผู้ประกันตนใน รพ.ประกันสังคมระดับทุติยภูมิอื่นๆ สามารถไปใช้บริการ รพ.ที่ลงนามบันทึกข้อดูกลงได้โดยตรง (วอล์กอิน) โดยไม่ต้องทำเรื่องส่งตัวจาก รพ.ที่ตนได้ลงทะเบียนไว้ โดยทาง สปส.จะจ่ายค่าบริการทางการแพทย์โดยตรงให้กับสถานพยาบาลที่ลงนามบันทึกข้อตกลง ซึ่งจะประเมินผลหลังจากระยะเวลาทดลองบริการ 6 เดือน ระหว่างวันที่ 1 ม.ค.-30 มิ.ย. 66 โดยคาดว่าจะมีผู้ใช้บริการประมาณ 7,500 ราย

บล.กสิกรไทย ระบุว่า MoU ดังกล่าวจะส่งผลดีต่อโรงพยาบาล 2 แห่งของ BCH (รพ.เกษมราษฎร์ บางแค และ รพ.เวิลด์เมดิคอล) และอีก 1 แห่งของ CHG (รพ.จุฬารัตน์ 3 อินเตอร์) โดยมีโอกาสดึงดูดผู้ประกันตนนอกเครือของตัวเองเข้ามา รวมถึงอุปสงค์ใหม่จะช่วยปรับการประหยัดต่อขนาดของศูนย์หัวใจและหลอดเลือดให้ดีขึ้น จากบันทึกข้อตกลงนี้โรงพยาบาลประกันสังคมระดับทุติยภูมิอื่นๆ จะแนะนำผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือดให้เข้ารับการรักษาที่ รพ.เกษมราษฎร์ บางแค, รพ.เวิลด์เมดิคอล และ รพ.จุฬารัตน์ 3 อินเตอร์โดยตรง นอกจากนี้ แม้ว่า RJH จะไม่ได้อยู่ในลิสต์ของ MoU แต่เชื่อว่า RJH จะเข้าร่วมโครงการดังกล่าวในภายหลัง

ทั้งนี้ มีแนวโน้มที่ MoU จะต่อเนื่องและสร้างรายได้ประจำ ไม่ใช่รายได้ที่เกิดเพียงครั้งเดียว โดยช่วยเพิ่ม upside ต่อรายได้จาก สปส. และการดำเนินการตาม MoU ฉบับนี้มีแนวโน้มที่จะประสบความสำเร็จในอีก 6 เดือนข้างหน้า และสัญญาน่าจะได้รับการต่ออายุ ซึ่งจะสร้างรายได้ประจำให้กับ BCH และ CHG แทนที่จะเป็นรายได้ที่เกิดครั้งเดียว และมองว่ามีโอกาสที่ สปส.จะเพิ่มจำนวนโรคขึ้นอีกในอนาคต และส่งสัญญาณที่ดีต่อโอกาสการปรับขึ้นค่าบริการ

MoU ดังกล่าวจะทำให้เกิด upside risk ต่อประมาณการรายได้จาก สปส.ของ BCH , CHG และ RJH ซึ่งฝ่ายวิจัยยังไม่ได้รวมปัจจัยดังกล่าวไว้ในสมมติฐาน  โดยปัจจัยดังกล่าวจะเป็นปัจจัยเสริมนอกเหนือจากโอกาสการปรับขึ้นอัตราค่าบริการทางการแพทย์ของ สปส.ในปี 66 ทั้งนี้ การปรับขึ้นอัตราค่าบริการทางการแพทย์ทุกๆ 1% จะทำให้มูลค่าหุ้น BCH เพิ่มขึ้น 0.30 บาท/หุ้น, CHG 0.04 บาท/หุ้น, RJH 0.70 บาท/หุ้น และ VIBHA 0.02 บาท/หุ้น ซึ่งคิดเป็น 1.3%, 1%, 2% และ 1% ของราคาเป้าหมายปี 66 ของ BCH, CHG, RJH และ VIBHA ตามลำดับ  สำหรับ downside risk ของหุ้นกลุ่มโรงพยาบาล คือ การระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ที่จะทำให้มีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น และการแข่งขันที่สูงกว่าคาด

การทำบันทึกข้อตกลงระหว่างสำนักงานประกันสังคม กับสถานพยาบาลตามมาตรฐานที่ สปส.กำหนด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพผู้ประกันตนเข้าถึงการรักษาด้วยการผ่าตัดหรือทำหัตถการนำร่องในกลุ่ม 5 โรค มีสถานพยาบาล 10 แห่ง ดังนี้
1. สถานพยาบาลให้บริการรักษาด้านหัตถการโรคหัวใจและหลอดเลือด จำนวน 6 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลเกษมราษฎร์บางแค กรุงเทพฯ, โรงพยาบาลเทพธารินทร์ กรุงเทพฯ, โรงพยาบาลวิชัยเวช อินเตอร์เนชั่นแนล หนองแขม กรุงเทพฯ, โรงพยาบาลศิครินทร์ กรุงเทพฯ, โรงพยาบาลเวิลด์เมดิคอล จังหวัดนนทบุรี, โรงพยาบาลจุฬารัตน์ 3 อินเตอร์ จังหวัดสมุทรปราการ
2. สถานพยาบาลให้บริการรักษาโรคหลอดเลือดสมอง จำนวน 1 แห่ง ได้แก่ สถาบันประสาทวิทยา กรุงเทพฯ
3. สถานพยาบาลให้บริการผ่าตัดนิ่วในไตและถุงน้ำดี จำนวน 1 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย
4. สถานพยาบาลให้บริการผ่าตัดมะเร็งเต้านม จำนวน 1 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลบางปะกอก 8 กรุงเทพฯ
5. สถานพยาบาลให้บริการผ่าตัดก้อนเนื้อที่มดลูก จำนวน 2 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลบางปะกอก 8 กรุงเทพฯ และโรงพยาบาลราชวิถี กรุงเทพฯ

#BCH #CHG #BDMS #EKH