ความจริงความคิด : My first marathon

โดย…สาธิต บวรสันติสุทธิ์, CFP นักวางแผนการเงิน

 

 

เมื่อวันที่ 20 พ.ย. ที่ผ่านมา ผมได้ประสบความสำเร็จในการเอาชนะใจตนเอง เอาชนะขีดจำกัดด้านร่างกายของตนเอง ด้วยวัยกว่า 60 ปีที่เดินขึ้นกะไดยังเหนื่อยหอบ ด้วยการสมัคร Bangkok Marathon ครั้งที่ 33 ในระยะทาง full marathon 42.195 กม. ตามคำชวนของลูกสาวที่สมัครวิ่งเป็นเพื่อนพ่อที่ระยะทาง Half marathon 21 กม.

ตอนที่สมัครก็ไม่คิดอะไรมาก แค่อยากทำอะไรที่ท้าทายชีวิตตัวเองบ้าง แล้วก็คิดว่าไม่น่าจะยากอะไร แต่เมื่อสมัครไปแล้ว ไปบอกใคร ก็มีแต่คนหวังดีเตือนด้วยความรัก ความห่วงใยมากมาย เช่น

• “อย่าดีกว่า เราก็แก่แล้ว แถมวิ่งตอนกลางคืน ไม่ได้พักผ่อน เดี๋ยวล้มเอาง่าย”
• “ที่หาดใหญ่ ขนาดยังหนุ่ม แข็งแรง เห็นเส้นชัยอยู่ข้างหน้า ยังล้มลงเสียชีวิต”
• ฯลฯ

ฟังไปฟังมา ใจชักแกว่ง สองจิตสองใจ วิ่งดี หรือ ไม่วิ่งดี ต้องเลือก

• เสียใจที่ไม่ได้ทำ (Regretful action)

• เสียใจที่ทำไม่ได้ (Regretful Inaction)

โดยปกติแล้ว ในระยะสั้นนั้น ความเจ็บปวดที่เราได้มาจากเสียใจที่ทำไม่ได้ มักจะมากกว่าความเจ็บปวดจากเสียใจที่ไม่ได้ทำ แต่ในระยะยาวแล้ว ความรู้สึกเสียใจและเสียดายในสิ่งที่อยากทำในชีวิต แต่กลับไม่ได้ทำมากกว่า กลัวว่าถ้าปีนี้ไม่ตัดสินใจลงวิ่ง อายุก็เยอะขึ้นทุกปี ปีหน้าความเสี่ยงในการวิ่งจะยิ่งมากขึ้นอีก ไม่อยากมานั่งเสียใจที่ไม่ได้วิ่งในปีนี้ แต่กลัวก็กลัวเลยสัญญากับภรรยาที่คอยห่วงใยว่า จะไม่ฝืน เอาความปลอดภัยเป็นหลัก

เมื่อตัดสินใจว่าจะวิ่ง ก็ต้องเตรียมพร้อม โชคดีได้ฟังหนังสือเสียง Homofinisher ของคุณนิ้วกลมที่เขียนเกี่ยวกับการเตรียมพร้อมทั้งร่างกาย และจิตใจในการวิ่ง ข้อคิดที่ได้ ไม่เพียงใช้ในการเตรียมพร้อม ยังใช้ในการดำเนินชีวิตได้ด้วยเช่นกัน อย่างเช่น อยากวิ่ง full marathon ได้ เราต้อง

• รู้ว่าเป้าหมายคืออะไร ครั้งนี้เป้าหมายชัดเจนมาก คือ วิ่ง full marathon ภายใน cutoff time 6.30 ชั่วโมง ไม่มีเผื่อใจว่าจะทำไม่ได้
• รู้ว่าต้องทำอะไร เช่น รู้ว่าต้องซ้อมวิ่งให้ได้วันละกี่กิโล ต้องวิ่งระยะไกลมากกว่า 30 กิโล หรือ 3 ชั่วโมงให้ได้อย่างน้อยกี่ครั้ง ฯลฯ
• รู้ว่าต้องไม่ทำอะไร เช่น ขี้เกียจ ไม่วิ่ง ฯลฯ
• รักษาสัญญา คือ ต้องไม่มีข้ออ้างให้กับตนเองที่จะทำตามตารางซ้อม ฝนจะตก นอนน้อย ฯลฯ ก็ต้องวิ่ง

ในการวิ่งมาราธอน คือ การเอาชนะใจตนเอง ใจกับขาจะเริ่มทะเลาะกันตั้งแต่กิโลเมตรที่ 30 ใจยังไหวแต่ขาลากไม่ไปแล้ว ตอนนั้นใจหนึ่งจะย้ำบ่อยๆว่า “หยุดเหอะ ปลอดภัยไว้ก่อน สุขภาพยังต้องใช้อีกเยอะ เดี๋ยวเป็นไรขึ้นมาจะลำบาก ฯลฯ” แต่อีกใจหนึ่งก็จะย้ำว่า ต้องสำเร็จสิ คือ เป็นการต่อสู้ระหว่าง Finisher กับ DNF (did not finish)

ถ้าเป็นสมัยก่อน DNF คงชนะ ผมคงยอมแพ้วิ่งไม่ถึงฝัน แต่ก็ขอขอบคุณหนังสือ Homofinisher ของคุณนิ้วกลมจริงๆที่บอกว่า “จริงๆแล้วสมองจะห่วงใยร่างกายเสมอ โดยให้สัญญาณเตือนเมื่อร่างกายเริ่มอ่อนล้า แต่จริงๆแล้วร่างกายมีศักยภาพมากกว่าที่สมองคิด ดังนั้นเราจึงต้องก้าวข้ามขีดจำกัดที่สมองบอก เพื่อสมองจะได้สร้างสัญญาณเตือนในระดับที่สูงขึ้น อย่างเช่น เดิมวิ่งวันละ 10 กิโล ก็ขยับขึ้นเป็นวันละ 15 กิโล บางวันก็อาจปรับลดเป็น 12 กิโล แล้วสุดท้ายก็ปรับเป็น 30 กิโล เพื่อทำลายกำแพง 10 กิโลในสมอง และทุกครั้งที่วิ่งขยับระยะทางเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ การต่อสู้ระหว่าง Finisher กับ DNF ก็เกิดขึ้นทุกครั้ง เพราะฉะนั้นการเอาชนะใจตนเองมันไม่ได้เกิดขึ้นตอนวิ่งมาราธอน แต่มันเกิดขึ้นตั้งแต่ตอนซ้อมแล้ว

สุดท้าย เราก็วิ่งได้ หลายครั้งเราสร้างความกลัวจนเกินจริง จนทำลายความฝัน ความตั้งใจของเราไป ยอมรับว่าดีใจมากๆกับเสื้อ finisher 42.195 km. แต่ที่ดีใจมากกว่า คือ การชนะ DNF ในใจตัวเอง

การวิ่งครั้งนี้ ทำให้รู้ซึ้งถึงประโยคที่ว่า การวางแผนการเงิน ก็คือ การวิ่งมาราธอนเหมือนกัน ไม่เพียง

    1. o ต้องรู้เป้าหมาย เช่น ต้องมีเงินเท่าไหร่ ในกี่ปี ถึงจะบรรลุเป้าหมายชีวิต

 

    1. o ต้องรู้ว่าต้องทำอะไร เช่น ต้องใช้จ่ายอย่างประหยัด ต้องรู้จักการลงทุน ต้องบริหารความเสี่ยง ฯลฯ

 

    1. o ต้องรู้ว่าต้องไม่ทำอะไรแล้ว เช่น ต้องไม่ใช้จ่ายฟุ่มเฟือย ต้องไม่ลงทุนโดยไม่มีความรู้ ฯ

 

    o รักษาสัญญา ทำตามแผนการเงิน

ส่วนใหญ่แล้วที่ล้มเหลว ก็เพราะการไม่รักษาสัญญา ยอมให้ DNF ชนะ Finisher สุดท้ายหลายคนจึงไม่สามารถบรรลุเป้าหมาย marathon ของการเงินได้

ทำยังไงที่เราจะชนะใจตนเองได้ เราก็ให้อาหารกับ finisher ในใจเราให้แข็งแรงขึ้นทุกวัน ด้วยการชนะใจตนเองในเป้าหมายง่ายๆในแต่ละวัน เช่น นั่งสมาธิวันละ 5 นาที หรือ วิ่งวันละ 5 กิโล ฯลฯ แล้วงดให้อาหารกับ DNF อย่ายอมแพ้ใจตนเองในเรื่องง่ายๆก่อน แล้วค่อยๆขยับเป้าหมายให้ยากขึ้น เพื่อสอนสมองให้ขยายศักยภาพเรามากขึ้น