โบรกเพิ่มเป้า BGRIM 42.50-63.50 บ. รุกไฟฟ้าพลังลมเกาหลี 1,030 MW

HoonSmart.com>> โบรกเกอร์ปรับมูลค่าเหมาะสมหุ้น BGRIM หลังขยายการลงทุนโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานลมในเกาหลี 4 โครงการ เริ่มรับรู้รายได้อีก 3-4 ปีข้างหน้า  KS เพิ่มเป้าราคาจาก 61.25 บาท เป็น 63.50 บาท  YUANTA ชี้เป็น Upside ให้กับราคาหุ้น 5-6 บาท/หุ้น แนะนำ “ซื้อ” ส่วน KGI มองผลงานฟื้นตัวไตรมาส 4/65 และก้าวกระโดดในปี 66 ปรับราคาเป้าหมาย DCF ปี 66 ใหม่ 42.50 บาท จากเดิม 40 บาท

บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ หรือ BGRIM ได้ขยายการลงทุนมูลค่า 4.072 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯใน 4 โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม ในประเทศเกาหลี กำลังการผลิตไฟฟ้ารวม 1,030.6 เมกะวัตต์ (รวม KOPOS ก่อนหน้านี้ 75.6 เมกะวัตต์) โบรกเกอร์มีมุมมองเป็นบวก และปรับเพิ่มมูลค่าเหมาะสมของหุ้น BGRIM โดย บล.หยวนต้า ระบุว่า โรงไฟฟ้าทั้ง 4 โครงการ มีกำหนดเริ่มก่อสร้างในปี 66 โดยจะใช้เวลาราว 2.0-2.5 ปี (ขึ้นอยู่กับขนาดของโครงการ) และจะเริ่มทยอย COD ในปี 68-69

นอกจากนี้ บริษัทยังประกาศว่า KOPOS (บริษัทร่วมทุนที่ BGRIM ถือหุ้น 50%) ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจผลิตไฟฟ้าสำหรับโรงไฟฟ้าพลังงานลม กำลังผลิต 75.6 เมกะวัตต์ (อยู่ระหว่างก่อสร้าง 20 เมกะวัตต์) คาดกำลังผลิตที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง 20 เมกะวัตต์ จะสามารถ COD ได้ในช่วงไตรมาส 4/66 ธุรกรรมดังกล่าวส่งผลให้ BGRIM มีกำลังผลิตตามสัดส่วนการถือหุ้นเพิ่มขึ้นรวม 597 เมกะวัตต์ (จากกำลังผลิตติดตั้ง 1,030 เมกะวัตต์)

การผลิตและขายไฟฟ้าในเกาหลีจะมีโครงสร้างตลาดแตกต่างจากไทย เนื่องจากเป็นการขายไฟฟ้าผ่านตลาด Merchant Market (ราคาขายขึ้นอยู่กับอุปสงค์ และต้นทุนการผลิตไฟฟ้าโดยรวมของตลาดในช่วงเวลานั้นๆ) โดยราคาขายไฟฟ้าในตลาดดังกล่าวอยู่ที่ราว 100-200 วอนเกาหลี/กิโลวัตต์-ชั่วโมง (ราว 2.70-5.40 บาท/กิโลวัตต์-ชั่วโมง)

สำหรับการลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังงานลมในเกาหลี BGRIM มีแผนใช้เงินลงทุนราว 3.5-4.0 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ/เมกะวัตต์ (เทียบเท่า 100-140 ล้านบาท/เมกะวัตต์) หรือราว 6.0 – 8.0 หมื่นล้านบาท โดยใช้สัดส่วน D/E ที่ราว 70:30 – 80:20 (อัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ราว 4-5%)

หากอิงค่าไฟฟ้าในเกาหลีที่ 100-200 วอนเกาหลี/กิโลวัตต์-ชั่วโมง และ Capacity Factor ที่ระดับ 25% โรงไฟฟ้าพลังงานลมในเกาหลีจะมีกำไรราว 1.5 ล้านบาท/เมกะวัตต์/ปี ดังนั้นกำลังผลิตที่เพิ่มขึ้นทั้งหมด จะทำให้กำไรของ BGRIM เพิ่มขึ้นราว 900 ล้านบาท/ปี ซึ่งอาจมี Upside เพิ่มเติมจากการขาย Carbon Credit และ REC ในเกาหลี (ความต้องการอยู่ในระดับสูงจากความพยายามมุ่งสู่ Net Zero Economy ภายในปี 93 ของสาธารณรัฐเกาหลี) คิดเป็นสัดส่วนราว 31% ของประมาณการปี 67

บล.หยวนต้า คงราคาเหมาะสม ณ สิ้นปี 66 ที่ 50.00 บาท/หุ้น โดยการเข้าลงทุนดังกล่าวจะเป็น Upside ให้กับราคาเหมาะสมได้ราว 5-6 บาท/หุ้น แนะนำ “ซื้อ”

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 20 ธ.ค.ที่ผ่านมา BGRIM แจ้งว่า B.Grimm Power Korea (BGRIM ถือหุ้น 100%) ประกาศเข้าลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมในสาธารณรัฐเกาหลีจำนวน 4 โครงการ โดยแบ่งออกเป็น 1) โครงการ Jodo กำลังผลิต 517 เมกะวัตต์ 2) โครงการ Shinan-Eoui กำลังผลิต 99 เมกะวัตต์ 3) โครงการ Cheonsa-Eoui กำลังผลิต 99 เมกะวัตต์ และ 4) โครงการ Gunghung Offshore กำลังผลิต 240 เมกะวัตต์ โดยหลังเสร็จสิ้นธุรกรรม BGRIM จะถือหุ้นในโครงการ Jodo และ Gunghung Offshore ในสัดส่วน 70% และถือหุ้นโครงการ Shinan-Eoui และ Cheonsa-Eoui ในสัดส่วน 15%

บล.กสิกรไทย ระบุว่าการลงทุนใน 4 โครงการ กำลังการผลิตรวม 955 เมกะวัตต์ ประเมินมูลค่าส่วนเพิ่มของโครงการที่ 2.25 บาท/หุ้น โดยให้ส่วนลด 50% จากความไม่แน่นอนต่างๆ (ความเสี่ยงของการขอใบอนุญาตและการก่อสร้าง) แนะนำ “ซื้อ” BGRIM ปรับราคาเป้าหมายขึ้น 3.7% จาก 61.25 บาท เป็น 63.50 บาท

การลงทุนใน 4 โครงการอยู่ในขั้นตอนการพัฒนา ซึ่ง BGRIM จะต้องเพิ่มงบลงทุนเพิ่มเติมสำหรับโครงการทั้งหมดหลังจากที่ดีลเสร็จสมบูรณ์แล้ว  โดยโครงการ Jodo ได้รับใบอนุญาตประกอบการโรงไฟฟ้าและกำลังอยู่ในขั้นตอนขอใบอนุญาตเชื่อมต่อสายส่ง (Grid Connection) ขณะที่โครงการที่เหลือ ได้รับทั้งใบอนุญาตประกอบการโรงไฟฟ้า และ Grid Connection แล้วและอยู่ระหว่างรอใบอนุญาตในการพัฒนาโครงการ (Development Permission)

โครงการ Shinan และ Cheonsa คาดว่าจะเริ่มต้นจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) ได้ในไตรมาส 3/68 ขณะที่โครงการ Gunghung และ Jodo คาดว่าจะ COD ได้ในไตรมาส 1/69 และปี 70 ตามลำดับ

บล.กสิกรไทย ระบุว่าได้คำนวณมูลค่ายุติธรรม 25 ปีของทั้ง 4 โครงการ โดยใช้วิธี DCF สมมติฐานหลัก คือ 1) อัตราส่วน D/E ที่ 4 เท่า  2) ปัจจัยกำลังการผลิตที่ 25%  3) ค่าใช้จ่ายลงทุนต่อเมกะวัตต์ที่ 100 ล้านบาท  4) ค่าไฟฟ้า 180 วอนเกาหลี/กิโลวัตต์-ชั่วโมง  5) ต้นทุนของส่วนของผู้ถือหุ้นที่ 5.28% และต้นทุนของหนี้สินที่ 4.50% และ 6) ความน่าจะเป็นที่จะประสบความสำเร็จอยู่ที่ 50% เพื่อสะท้อนความเสี่ยงของการขอใบอนุญาตและการก่อสร้าง คาดว่าโครงการดังกล่าวจะทำให้มูลค่าของ BGRIM เพิ่มขึ้น 2.25 บาท/หุ้น ทั้งนี้ 4 โครงการดังกล่าวคาดว่าจะ COD ในช่วงปี 68-70

บล.เคจีไอ แนะนํา “ซื้อ” ด้วยราคาเป้าหมาย DCF ปี 66 ใหม่ 42.50 บาท จากเดิม 40 บาท มองว่าผลการดําเนินงานที่มีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้นในไตรมาส 4/65 และฟื้นตัวก้าวกระโดดในปี 66 จะทําให้โมเมนตัมของราคาหุ้นเร่งตัวขึ้นได้ต่อในปีหน้า

จากการที่คณะกรรมการกํากับกิจการพลังงาน (กกพ.) กําหนดค่า Ft อัตราใหม่ (ม.ค. – เม.ย. 66) ที่ 1.9044 บาท/kWh (+97.01) ทําให้ค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเป็น 5.69 บาท/kWh (จาก 4.72 บาท/kWh) สําหรับผู้ใช้ไฟฟ้าในภาคอุตสาหกรรม (IU) ไม่รวมผู้ใช้ไฟฟ้ารายย่อย โดยค่า Ft ที่ปรับใหม่สะท้อนราคา pool gas ที่สูงขึ้นจากการนําเข้า LNG จํานวนมาก และปริมาณก๊าซจากเมียนมาร์ และแหล่งก๊าซเอราวัณที่ตํ่ากว่าเป้า

บล.เคจีไอ คาดว่าจะมีการขึ้นค่า Ft อีกสองรอบในปี 66 (พ.ค.-ส.ค. และ ก.ย.-ธ.ค.) โดยมองว่าผู้เล่น SPP (ขายไฟฟ้าให้ IU) และพลังงาน RE ที่มีโครงการ adder จะได้ประโยชน์จากเรื่องนี้

ฝ่ายวิเคราะห์ได้ ปรับเพิ่มกําไรเพื่อสะท้อนสมมติฐานค่า Ft ใหม่ โดยปรับเพิ่มกําไรหลักในปี 66-67 ขึ้นอีก 13-35% เพื่อสะท้อนถึงการขึ้นค่า Ft  คาดว่าราคาก๊าซเฉลี่ยในปี 66 จะลดลงมาอยู่ที่ 470 บาท/mmbtu (จาก 500 บาท/mmbtu ในปี 65) ก่อนที่จะลดลงไปอยู่ที่ 320 บาท/mmbtu ในปี 67

ในขณะเดียวกัน คาดว่าจะมีการทยอยปรับขึ้นค่า Ft อีกในปี 66 ก่อนที่จะทรงตัวในปี 67 ดังนั้น คาดว่ากําไรหลักของ BGRIM จะโตถึง 600% YoY ในปี 66 (จากผลของฐานที่ตํ่า) และโต 60% YoY ในปี 67 เนื่องจากราคาก๊าซของ SPP ลดลง, มีการขึ้นค่า Ft, มีกําลังการผลิตใหม่เพิ่มเข้ามา และ ประสิทธิภาพ SPP replacement ห้าโครงการดีขึ้น

บล.เคจีไอ มองว่า BGRIM มีแนวโน้มจะใช้กลยุทธ์เชิงรุกในปี 66 โดยในปัจจุบันบริษัทกําลังอยู่ระหว่างการเจรจา หรือ รอการประกาศรับซื้อไฟฟ้า โดยเฉพาะในอย่างยิ่งตาม PDP8 (LNG-to-power) ของเวียดนาม คาดว่ากําลังการผลิตจะเพิ่มขึ้นจากการลงทุนทั้งในโครงการแบบ greenfield และโครงการที่เปิดดําเนินการแล้วในตลาด ASEAN ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นโครงการ RE และก๊าซ

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาโครงการ RE ขนาด 5.2GWh ในประเทศไทย บริษัทผ่านเกณฑ์ทั้งหมด >500MW ในโครงการพลังงานลมและ solar  คาดว่ากําไรในไตรมาส 4/65 น่าจะดีดตัวขึ้น QoQ เนื่องจากต้นทุนก๊าซของ SPP ลดลง 16-18% QoQ ในขณะที่ค่า Ft เฉลี่ยเพิ่มขึ้น 0.9343 บาท/kWh (+0.46) ในขณะเดียวกัน คาดว่าผลประกอบการอาจจะพลิกเป็นกําไรสุทธิ หรือขาดทุนสุทธิลดลงก็ได้ขึ้นอยู่กับอัตราแลกเปลี่ยน USD/THB ส่วนปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ อยู่ที่การปิดซ่อมบํารุงนอกแผน, ปัญหา cost overruns, และอัตราดอกเบี้ย

 

#BGRIM #KS #YUANTA #KGI