ดาวโจนส์ปิดลบ 142 จุด เฟดส่งสัญญาณคงจุดยืนนโยบายการเงินแข็งกร้าว

HoonSmart.com>>ดาวโจนส์ปิดลบ 142 จุด เฟดส่งสัญญาณจะยังคงปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไปในปี 2566 และจะไม่มีการปรับลดจนกว่าจะถึงปี 2567  มองอัตราดอกเบี้ยสูงสุด (Terminal rate) จะอยู่ที่ระดับ 5.1% สูงกว่า 4.6% ในการประเมินครั้งก่อน    ด้านหุ้นยุโรปปรับตัวลง ส่วนราคาน้ำมันดิบเพิ่มขึ้น 

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ (Dow Jones Industrial Average:DJIA) วันที่ 14 ธ.ค. 2565 ปิดที่ 33,966.35 จุด ลดลง 142.29 จุด หรือ 0.42% ท่ามกลางการซื้อขายที่ผันผวน หลังจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีมติปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.50% ตามคาดในการประชุมครั้งสุดท้ายของปีนี้ รวมทั้งยังส่งสัญญาณการเดินหน้าขึ้นอัตราดอกเบี้ย

ดัชนี S&P500 ปิดที่ 3,995.32 จุด ลดลง 24.33 จุด, -0.61%
ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 11,170.89 จุด ลดลง 85.93 จุด, -0.76%

ที่ประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของเฟดมีมติปรับอัตราดอกเบี้ย fed fund rate ขึ้น 0.50% มาที่ 4.25-4.50% สูงสุดนับตั้งแต่เดือนธ.ค.ปี 2007

เจ้าหน้าที่เฟดคาดว่าจะยังคงปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไปในปี 2566 และจะไม่มีการลดอัตราดอกเบี้ยจนกว่าจะถึงปี 2567 โดยเฟดมองว่าอัตราดอกเบี้ยสูงสุด (Terminal rate) จะอยู่ที่ ระดับ 5.1% ก่อนที่จะยุติการขึ้นดอกเบี้ย ซึ่งเป็นระดับที่สูงกว่า 4.6% ในการประเมินครั้งก่อน

จิม คารอน จาก Morgan Stanley Investment Management กล่าวว่า ประเด็นหลักที่สะท้อนการดำเนินนโยบายการเงินที่แข็งกร้าวคือ การประเมินว่าอัตราดอกเบี้ยสูงสุดจะอยู่ที่ 5.1% จากเดิมที่ประเมินไว้ที่ 4.6% ในการประชุมเดือนกันยายน

ไมค โลเวนการ์ต จากมอร์แกนสแตนเลย์ กล่าวว่า การขึ้นดอกเบี้ยของเฟดส่วนใหญ่รับรู้กันแล้ว แต่นักลงทุนบางส่วนประหลาดใจกับการคาดการณ์ดอกเบี้ยของเฟดที่แสดงให้เห็นแนวโน้มที่สูงกว่าที่คาดไว้ ซึ่งเป็นการเตือนว่าแม้อาจเข้าใกล้เป้าหมายแล้ว แต่ก็ยังไม่ถึงจุดนั้น

ตลาดอ่อนตัวลงหลังนายเจอโรม พาวเวลล์แถลงหลังการประชุมย้ำการดำเนินนโยบายการเงินในเชิงแข็งกร้าวว่าจะยังเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องในปีหน้า “การทำให้ระดับราคากลับมามีเสถียรภาพ จำเป็นต้องคงนโยบายเข้มงวดอีกระยะหนึ่ง”

นอกจากนี้ยังต้องมีข้อมูลมากกว่าเดิมก่อนที่จะปรับมุมมองต่อเงินเฟ้ออย่างมีนัยะ “ข้อมูลเงินเฟ้อในเดือนตุลาคมและพฤศจิกายน ลดลงเมื่อเทียบรายเดือน เป็นการลดลงที่น่าพอใจ แต่ก็ต้องมีหลักฐานชัดเจนมากกว่าก่อนที่จะมั่นใจว่าเงินเฟ้อลดลงอย่างต่อเนื่อง”

Yung-Yu Ma จาก BMO Wealth Management กล่าวว่า เฟดยังคงให้ความสนใจกับตลาดแรงงานที่ยังไม่สมดุล ดังนั้นจะยังไม่เห็นการผ่อนคลายนโยบายการเงิน
นักลงทุนจับตาข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐในสัปดาห์นี้ ซึ่งเป็นสัปดาห์สุดท้ายของปีที่จะมีการเผยแพร่ข้อมูล รวมไปถึงจับตาการประชุมของธนาคารกลางหลายประเทศ ทั้งธนาคารกลางอังกฤษ นอร์เวย์ เม็กซิโก ฟิลิปปินส์ สวิตเซอร์แลนด์ และไต้หวัน

หุ้นเทสลา ลดลง 2.6% หลังจากนักวิเคราะห์ของโกลด์แมน แซคส์ ปรับลดราคาเป้าหมายลง และจากแรงขายด้วยความกังวลต่อวิธีการบริหาร Twitter ของเอลอน มัสก์

ตลาดหุ้นยุโรปส่วนใหญ่ปิดลบ นำโดยกลุ่มทรัพยากรพื้นฐานที่ลดลง 1.7% ขณะที่นักลงทุนรอผลการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่จะออกมาหลังจากตลาดหุ้นลอนดอนปิดทำการไป รวมทั้งจับตาการประชุมของธนาคารกลางสหภาพยุโรป อังกฤษ สวิสเซอร์แลนด์ในวันพฤหัสบดีนี้

ตลาดคาดว่าธนาคารกลางสหภาพยุโรป อังกฤษ จะชะลอการปรับขึ้นดอกเบี้ย โดยจะขึ้นเพียง 0.50%

สถาบันวิจัยเศรษฐกิจ Ifo แห่งเยอรมนี คาดว่า การถดถอยทางเศรษฐกิจจะไม่รุนแรงอย่างที่เคยประเมินไว้ โดยเศรษฐกิจจะหดตัวเพียง 0.1% ในปี 2023 ส่วนปีนี้จะขยายตัว 1.8% สูงกว่า 1.6% ที่คาดไว้

ดัชนี Stoxx Europe 600 ปิดที่ 442.51 ลดลง 0.09 จุด, -0.02%
ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,495.93 จุด ลดลง 6.96 จุด, -0.09%
ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 6,730.79 จุด ลดลง 14.19 จุด, -0.21%,
ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมนีปิดที่ 14,460.20 จุด ลดลง 37.69 จุด, -0.26%

ราคาน้ำมันดิบ WTI งวดส่งมอบเดือนมกราคมเพิ่มขึ้น 1.89 ดอลลาร์ หรือ 2.5% ปิดที่ 77.28 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบ Brent ทะเลเหนือ งวดส่งมอบเดือนกุมภาพันธ์เพิ่มขึ้น 2.02 ดอลลาร์ หรือ 2.5% ปิดที่ 82.70 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล