ตลท.ถกโบรกหวั่นภาษีขายหุ้นซ้ำซ้อน ขาใหญ่ต้นทุนเพิ่ม รัฐเป๋าตุง 1.6 หมื่นลบ./ปี

HoonSmart.com>>ตลาดหลักทรัพย์เร่งหารือโบรกเกอร์รับมือเก็บภาษีขายหุ้น สภาธุรกิจตลาดทุนไทยออกโรงค้าน หลังครม.มุบมิบไฟเขียวเก็บภาษีขายหุ้นในอัตรา 0.11 % ใจดีปีแรกเก็บเพียง 0.055% ดันต้นทุนซื้อขายหุ้นเพิ่มขึ้นจาก 0.17% เป็น 0.22% ปีแรก 0.195% เผยตลาดทุนไทยแข่งขันได้ อ้างต้นทุนต่ำกว่ามาเลเซียและฮ่องกง ใกล้เคียงสิงคโปร์ คาดสภาพคล่องในตลาดจะลดลงในระยะสั้นเท่านั้น ยกตัวอย่างฝรั่งเศสและอิตาลี แต่รัฐเก็บภาษีเพิ่มประมาณ 8,000 ล้านบาทในปีแรกและปีต่อๆไป 16,000 ล้านบาท/ปี ลดความเหลื่อมล้ำได้ ให้เวลาปรับตัว 3 เดือนก่อนประกาศใช้

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 29 พ.ย. 2565 รับหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการลดอัตราภาษีธุรกิจเฉพาะ และกำหนดกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะ (ฉบับที่…) พ.ศ. … (การจัดเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะจากการขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์) ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ทั้งนี้จะยังไม่มีผลบังคับใช้ในทันที เนื่องจากต้องผ่านขั้นตอนจากคณะกรรมการกฤษฎีกา คาดว่าจะใช้เวลาอีกสักระยะหนึ่ง

ด้านกระทรวงการคลังเสนอให้กลับไปเก็บภาษีขายหุ้นในอัตรา 0.11% ตามกฎหมายเดิม โดยในปีแรกจะจัดเก็บในอัตรา 0.055% เมื่อรวมภาษีท้องถิ่น โดยจะให้เวลาเตรียมตัว 3 เดือนนับจากเดือนที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา การจัดเก็บภาษีครั้งนี้ ทำให้รายได้ภาษีธุรกิจเฉพาะเพิ่มขึ้นในปีแรกประมาณ 8,000 ล้านบาท และในปีต่อ ๆ ไป ประมาณปีละ 16,000 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังลดความเหลื่อมล้ำในการกระจายรายได้ โดยไม่ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ในตลาดหลักmรัพย์แห่งประเทศไทยและการออมเพื่อการเกษียณอายุ

อย่างไรก็ตาม อาจส่งผลให้ต้นทุนซื้อขายหุ้นสูงขึ้นจาก 0.17% เป็น 0.22% (ต้นทุนรวมซื้อขาย) และปีแรกอยู่ที่ 0.195% แต่ยังอยู่ในระดับที่แข่งขันได้ โดยต่ำกว่าของมาเลเซียและฮ่องกง ขณะที่สูงกว่าของสิงคโปร์ ซึ่งอาจส่งผลต่อสภาพคล่องลดลงในระยะสั้นเท่านั้น  จากการศึกษากรณีตัวอย่างของต่างประเทศ ในฝรั่งเศสและอิตาลี

ด้านนาย ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯ กำลังทำงานร่วมกับสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย ในการเตรียมการสำหรับกระบวนการจัดเก็บภาษีขายหุ้นในอัตรา 0.055% ในปีแรก และ 0.11% ในปีต่อๆไป เพื่อให้มีภาระต้นทุนที่ต่ำ และมีประสิทธิภาพในการทำงานของทั้งอุตสาหกรรม

นอกจากนี้ จะมีการเตรียมข้อเสนอในรายละเอียดการจัดเก็บภาษีให้กับกระทรวงการคลัง เพื่อไม่ให้เกิดการจัดเก็บภาษีซ้ำซ้อนจากผู้ลงทุนในบางประเภทธุรกรรมหากมีการจัดเก็บ

เพจสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) ขอยืนยันความคิดเห็นและข้อเสนอต่อแนวทางการจัดเก็บภาษีที่เหมาะสมสำหรับตลาดทุน ตามที่ได้เสนอถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เมื่อวันที่ 5 พ.ค. 2565  อาทิ  ไม่เห็นด้วยที่จะมีการเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะจากการขายหลักทรัพย์ เนื่องจากจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสภาพคล่องของตลาด เป็นภาระและส่งผลกระทบต่อการซื้อขาย รวมถึงด้อยค่าหลักทรัพย์ที่ผู้ถือหุ้นถือครองอยู่ โดยเฉพาะสำหรับนักลงทุนรายย่อยกว่า 2 ล้านคนที่ลงทุนทางตรงในตลาดหลักทรัพย์ และอีก 17 ล้านคนที่ลงทุนทางอ้อมผ่านกองทุนรวมและกองทุนสวัสดิการต่างๆ รวมถึงนักลงทุนสถาบันและนักลงทุนต่างประเทศ

ทั้งนี้ จากการศึกษาในต่างประเทศ พบว่าการจัดเก็บภาษีดังกล่าวจะส่งผลให้ประชาชนต้องออมเพิ่มขึ้นอีก 2-3 ปี เพื่อให้มีเงินเพียงพอในยามเกษียณ

นอกจากนี้อัตราภาษีธุรกิจเฉพาะ 0.1% ถูกกำหนดขึ้นตั้งแต่ปี 2534 เมื่ออัตราค่าคอมมิชชั่นอยู่ที่ระดับ 0.5% แต่จากสภาวะการแข่งขันทั้งในและต่างประเทศที่มีมากขึ้น อัตราค่าคอมมิชชั่นจึงลดลงเหลือเพียง 0.08% ในปัจจุบัน ดังนั้น มูลค่าภาษีที่จัดเก็บ 0.11% จะสูงถึง 0.7 เท่าของมูลค่าค่าธรรมเนียมการซื้อขายที่จัดเก็บในปัจจุบัน จึงจะส่งผลต่อการตัดสินใจซื้อขายอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะในภาวะที่ตลาดทุนทั่วโลกมีความผันผวนสูง

ขณะเดียวกันต้นทุนการระดมทุนที่สูงขึ้น เมื่อสภาพคล่องในตลาดลดลง จะทำให้บริษัทจดทะเบียนชะลอหรือลดการลงทุนขยายธุรกิจ มีกำไรลดลง ท้ายที่สุด GDP ของประเทศ รวมตลอดถึงภาษีนิติบุคคลที่บริษัทจ่ายได้ จะลดลงตามไปด้วย ทั้งนี้ ผลเสียจะกระทบแรงกับกลุ่มบริษัทขนาดกลางและเล็กที่มีทางเลือกของแหล่งเงินทุนที่จำกัดมากอยู่แล้วในปัจจุบัน